ดิจิตอลไล่ล่า วิกฤติ-โอกาสภาคเกษตรไทย

04 ม.ค. 2562 | 07:38 น.
สัมภาษณ์

คลื่นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่กำลังรุกคืบเข้ามาแทนที่เทคโนโลยียุคเก่า ส่งผลให้ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปรับตัวก่อนตกขบวนและตั้งอยู่บนความเสี่ยง ขณะที่ผู้ที่ปรับตัวได้ก่อน หรือปรับรับกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงทีย่อมนำมาซึ่งความได้เปรียบและโอกาสอีกมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ในภาคเกษตรของไทยที่มีคนส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในวงจรหลายสิบล้านคน

เกษตรไทยสู่ยุคดิจิตอล

นายปัญญา เหล่าอนันต์ธนา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เทคโนโลยีการเกษตรยุคใหม่ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทในภาคเกษตรของไทยมากขึ้นในเวลานี้ ได้แก่ 1.โดรน(Drone) พ่นสารต่าง ๆ รวมถึงการนำโดรนมาใช้ในการประเมินสภาพแปลงหรือประเมินผลผลิตที่เริ่มมีการใช้มากขึ้นสำหรับนาแปลงใหญ่ แต่ยังมีข้อจำกัดหลายด้าน โดยเฉพาะด้านกฎหมายการขอใบอนุญาต ด้านราคา ด้านการฝึกอบรมการใช้งานที่ต้องควบคุมให้ได้มาตรฐาน เป็นต้น 2.การปลูกผักในโรงเรือนมีระบบ IoT (Internet of Things) ตรวจวัดอุณหภูมิภายใน ภายนอกโรงเรือน เพื่อควบคุมภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับพืชไม่ว่าจะเป็นการให้นํ้า ใส่ปุ๋ย

[caption id="attachment_367474" align="aligncenter" width="385"] ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา ปัญญา เหล่าอนันต์ธนา[/caption]

3. มีแอพพลิ เคชัน (apps) พยากรณ์อากาศ แนะนำปุ๋ย(แบบสั่งตัด) แบบตามค่าวิเคราะห์ดิน, apps การซื้อขายสินค้าเกษตร, apps กรอกข้อความการประเมินไร่นาหรือฟาร์ม เช่นนาแปลงใหญ่ หรือมาตรฐานการเกษตรแบบต่างๆ เช่น GAP เป็นต้น

ขณะที่ปลายนํ้าคือการตลาด มีเรื่องการซื้อขายสินค้าผ่านออนไลน์ หรืออี-คอมเมิร์ซ และแอพพลิเคชันต่างๆ มากขึ้น แต่ในอนาคตจะมีมากกว่านี้อีกคือการตรวจสอบย้อนกลับห่วงโซ่ของผลผลิตการเกษตรจากปลายนํ้า (ตลาดหรือจุดซื้อขาย) กลางนํ้า (โรงงานแปรรูป) ไปที่ต้นนํ้า(จากแปลงเกษตรของเกษตรกร) โดยจะเริ่มมีการให้ข้อมูลการให้ปัจจัยการผลิตไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยาและอื่นๆ ต้องมีรายงานผ่าน apps หรือ QR CODE เหล่านี้ด้วย

“ไม่ว่าฝ่ายต้นนํ้าหรือกลางนํ้าจะได้ใบรับรองมาตรฐานแล้วก็ตาม แต่เวลาปฏิบัติจริงจะถูกตรวจสอบเข้มงวดทั้งจากผู้ตรวจสอบที่รับรองมาตรฐาน จนถึงผู้บริโภคปลายทางก็มีสิทธิจะตรวจสอบได้เช่นกัน ซึ่งสินค้าลักษณะแบบนี้จะเข้าสู่เกรดพรีเมียม หรือมีราคาที่สูงขึ้นทันที และเป็นที่ต้องการของตลาดระดับที่มีกำลังซื้อสูงกว่า”

แม่นยำสูง-AI แทนคน

นอกจากนี้เทคโนโลยีการเกษตรแบบแม่นยำสูง(Precision Agriculture) จะเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยระบบนี้จะมี IoT เก็บข้อมูลเท่าที่จำเป็นหรือเท่าที่ต้องการแทนคน (BIG DATA) ช่วยลดภาระงานเอกสารจดบันทึกไปได้มาก และออกรายงานได้ตามเวลาจริง(realtime) ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันระบบยังสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อหาจุดเหมาะสมในการควบคุมได้แบบอัตโนมัติ โดยจุดที่เหมาะสมนั้นจะถูกจัดการด้วย AI (Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์) ในลักษณะที่เป็น Machine Learning คือมีผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรมาสอน หรือ Train AI ให้ฉลาด หลังจากนั้น AI จะทำหน้าที่แทนมนุษย์ในการตัดสินใจในการควบคุมจัดการฟาร์มได้แบบอัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ และการเก็บข้อมูลนี้ (Big Data) ยังส่งต่อไปยังกลางนํ้าและปลายนํ้าในการช่วยติดตามเส้นทางการผลิต และยังช่วยในการพยากรณ์ผลผลิตได้อีกด้วย ซึ่งหากเชื่อมกับปลายนํ้าคือ apps การตลาดได้ ก็จะทำให้พยากรณ์ราคาได้ล่วงหน้า เพราะทำนายอุปสงค์-อุปทานได้ และถ้าเสริมกับโลจิส ติกส์ การขนส่งหรือการลดต้นทุนการขนส่ง การถนอม ผลผลิตการเกษตร (การยืดอายุ) ก็จะครบห่วงโซ่ทั้งหมด TP8-3432-B

“เทคโนโลยีการเกษตรแบบแม่นยำสูงจุดสำคัญจะอยู่ที่ Robotic คือหุ่นยนต์ที่เหมาะสมที่จะมาใช้ในการเกษตรเพราะระบบนี้จะทำงานได้อัตโนมัติหรือกึ่งอัตโนมัติ อาจปรับแต่งเข้ากับเครื่องจักรกลการเกษตรแบบเดิมก็ได้เพื่อให้มีศักยภาพที่สูงขึ้น ถามว่าทำไมต้องหุ่นยนต์ เหตุผลเพราะแรงงานภาคเกษตรเข้าสู่จุดวิกฤติคือ ขาดแคลนแรงงาน ต้องพึ่งแรงงานต่างด้าว ดังนั้นหุ่นยนต์ หรือจักรกลการ เกษตรแบบอัตโนมัติจะตอบโจทย์เรื่องนี้ได้”

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

นายปัญญา กล่าวอีกว่า เทคโนโลยีด้านเกษตรที่กล่าวมาจะช่วยสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ปรับตัวทั้งเกษตรกร ชุมชน ทั้งช่วยเพิ่มผลผลิต ลดความเสี่ยง ลดความเสียหาย และช่วยสร้างโอกาสทางการตลาดได้อย่างมหาศาลแบบไร้พรมแดนเฉพาะอย่างยิ่งการค้าอี-คอมเมิร์ซหรือออนไลน์ที่มาในรูปแบบดิจิตอล จะช่วยลดการถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลาง แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าจะใช้เทคโนโลยีดิจิตอลให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจการเกษตรได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับเกษตรกร หรือกลุ่มเกษตรกรที่ยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ควรรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหรือสหกรณ์ เพื่อแบ่งงานกันทำเป็นแผนกๆ เหมือนกับโรงงานอุตสาหกรรม โดยแต่ละแผนกจะได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะ และเรียนรู้ให้เชี่ยวชาญ เช่นถ้าเป็นเรื่องข้าว ก็รวบรวมเกษตรกรที่ปลูกข้าวในชุมชนมาตกลงแบ่งเป็นแผนกงาน เช่น แผนกเพาะกล้า แผนกเตรียมดิน แผนกปลูกข้าว แผนกผสมปุ๋ย แผนกอารักขาพืช แผนกโรคพืชและแมลง แผนกชลประทาน แผนกเก็บเกี่ยว แผนกสีข้าว แผนกจัดส่ง แผนกการตลาด แผนกบัญชี เป็นต้น

คือเป็นรูปแบบคล้ายธุรกิจการเกษตร เป็นวิสาหกิจชุมชนด้านข้าว ซึ่งจะทำให้มีอำนาจต่อรองสูงในการจัดซื้อปัจจัยการผลิต หรือการลงทุนเทคโนโลยีด้านเครื่องจักรจะคุ้มค่ามากกว่า

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,432 วันที่ 3-5 มกราคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว