ท็อปไฟว์ ข่าวเด่นท่องเที่ยวส่งท้ายปี61

30 ธ.ค. 2561 | 06:06 น.
ปิดท้ายปีจอกันที่เหตุการณ์เด่นในแวดวงท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นในรอบปีนี้ ซึ่ง “ฐานเศรษฐกิจ” ฉบับส่งท้ายปีได้หยิบไฮไลต์มานำเสนอ

1. อ่วมวิกฤติเรือล่มภูเก็ต

S__13688854-3
ระสํ่ากันถ้วนหน้าสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวที่มีฐานลูกค้าใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจีน หลังเหตุการณ์เรือฟีนิกซ์ล่ม ที่จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 43 ราย ตามมาด้วยอีกสารพัดข่าวลบที่เกิดขึ้นกับนักท่องเที่ยวจีนหลายระลอก ทำเอานักท่องเที่ยวจีนเดินทางมาเที่ยวไทยติดลบนานกว่า 5 เดือนที่ผ่านมา  หลายธุรกิจต้องปิดการให้บริการ เซฟต้นทุน เพื่อประคองให้ธุรกิจพออยู่รอดในช่วงนี้

จนสถานการณ์เริ่มกระเตื้องขึ้นบ้างเมื่อสามารถกู้ซากเรือฟีนิกซ์ได้สำเร็จเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2561 แม้ต้องใช้เวลานานหลายเดือน ทั้งรัฐบาลยังโหมกระตุ้นตลาดอย่างหนักในช่วงปลายปี โดยเฉพาะมาตรการ วีซ่ากระตุ้นท่องเที่ยว อาทิ การยกเว้นค่าธรรมเนียมVisa on Arrival (VOA) ระหว่างวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561-13 มกราคม 2562 กิจกรรมต่างๆ ที่ออกมาเพื่อฟื้นตลาดจีน ประกอบกับการเติบโตของนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มสูงมากในช่วงครึ่งปีแรก จึงยังทำให้ภาพรวมของนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทยตลอดทั้งปี 2561 คาดว่าจะอยู่ที่ 10.5 ล้านคน เพิ่มจากปีที่ผ่านมา ที่อยู่ที่ 9.8 ล้านคน

2. ค้านเทอร์มินัล 2 สุวรรณภูมิ

01-ENTRANCE-with-PEOPLE
เรื่องที่จัดว่าอลหม่านและดราม่าสุดๆ ในปี 2561 ของแวดวงสถาปนิก แต่มีอิมแพ็กต์ขยายผลเป็นวง กว้าง คือ การออกแบบอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีวงเงินจ้างออกแบบอยู่ที่ 329.5 ล้านบาท ของบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท. ที่สมาคมวิชาชีพต่างออกมาเดินหน้าคัดค้านโครงการนี้ จากชนวนที่กลุ่มบริษัทที่ปรึกษาเอสเอ กรุ๊ป ซึ่งเป็นผู้ชนะในการประกวดแบบดังกล่าวแพ้ฟาวล์ไป เพราะไม่ได้ยื่นต้น ฉบับใบเสนอราคาซึ่งเป็นไปตามทีโออาร์ที่กำหนดไว้

ส้มหล่นเลยมาตกอยู่ที่กลุ่ม ดวงฤทธิ์ ซึ่งได้คะแนนเป็นที่ 2 แทน นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงการก๊อบปี้แบบมาจากศาลเจ้าของญี่ปุ่นบ้างและอีกสารพัดที่ก็ว่ากันไป ลามไปถึงการคัดค้านว่าจุดที่ทอท.จะก่อสร้างเทอร์มินัล 2 ไม่ตรงตามผลการศึกษาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ  (ICAO) และไม่เป็นไปตามแผนแม่บทสนามบินสุวรรณภูมิ

ทำเอาก่อนหน้านี้บอร์ดทอท.ต้องชะลอแผนการก่อสร้าง เพื่อสอบถามข้อข้องใจของผู้คัดค้านไปยัง ICAO จนล่าสุดตัดสินใจเดินหน้าโครงการต่อ พร้อมดึงคณะกรรมการ Airport Consultative Committee (ACC) ซึ่งประกอบด้วยสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบินมาร่วมเป็นกรรมการ พิจารณาความเหมาะสมของขนาดโครงการก่อสร้าง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดแนวทางในการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ให้สอดคล้องกับความต้องการของสายการบินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. เปิดประมูลสนามบินอู่ตะเภา

New-MRO-1

ในที่สุดโครงการพัฒนาเมืองการบินภาคตะวันออกและท่าอากาศยานอู่ตะเภา ก็เห็นภาพความชัดเจนในปี 2561 ถึงการเปิดพื้นที่กว่า 6,500 ไร่ ในสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเป็นพื้นที่ในเขตทหารเรือ (ทร.) ให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนกับภาครัฐ ตามสัญญา PPP Net Cost ในการพัฒนาสนามบิน เพื่อขยายศักยภาพการรองรับผู้โดยสารจาก 3 ล้านคนต่อปี ให้เพิ่มสูงสุดถึง 60 ล้านคนต่อปี มูลค่าการลงทุนกว่า 2.9 แสนล้านบาท ที่จะประ กอบไปด้วย อาคารผู้โดย สารหลังใหม่ ศูนย์ธุรกิจการค้า (คอมเมอร์เชียล เกตเวย์) พื้นที่เขตประกอบการค้าเสรี (คาร์โก วิลเลจหรือพื้นที่ฟรีเทรดโซน) และกลุ่มอาคารคลังสินค้าอายุสัญญา 50 ปี

เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา หลังจากการออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนที่สนใจมาซื้อซองประกวดราคา ก็มีเอกชนกว่า 42 บริษัท ซึ่งเป็นบิ๊กธุรกิจในไทยและต่างชาติ รวมกว่า 8 ประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน ที่เป็นทั้งผู้บริหารสนามบิน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง บริษัทอสังหาริมทรัพย์และบริษัทผู้ลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เข้ามาร่วมซื้อซองกันมากกว่าตอนเปิดขายซองประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินเสียอีก

ขณะนี้เอกชนอยู่ระหว่างรวมกลุ่มเป็นคอนซอร์เตียม ซึ่งที่แว่วออกมาแล้ว ก็มีทั้งการบินไทยจะร่วมมือกับปตท., บีทีเอส กลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์, เครือซีพีก็ร่วมกับจีนเช่นกัน  ตามไทม์ไลน์ต่อไปจะเปิดให้เอกชนมายื่นซองประมูลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562 และภายในเดือนมีนาคม 2562 ก็จะได้ตัวผู้ชนะการประมูล เริ่มก่อสร้างในปี 2563 แล้วเสร็จปลายปี 2566 และเปิดให้บริการได้ในต้นปี 2567

PowerPoint Presentation

อีกหนึ่งโครงการลงทุนในสนามบินอู่ตะเภา คือ การเปิดให้เอกชนเข้ามาลงทุนศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน(MRO) โดยในเฟสที่ 1 ภายในพื้นที่กว่า 200 ไร่ ซึ่งปีนี้ การบินไทย ได้เซ็นเอ็มโอยูกับแอร์บัส เพื่อร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว ซึ่งจะเป็นโรงซ่อมเครื่องบินอัจฉริยะ คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2565 รองรับการซ่อมเครื่องบินลำตัวกว้างได้พร้อมกัน 3 ลำรองรับการซ่อมบำรุงระดับลานจอดได้สูงสุด 70 เที่ยวบินต่อวัน รองรับการพ่นสีอากาศยานทุกประเภทได้สูงสุด 22 ลำต่อปี

การลงทุน MRO เงินลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท กว่า 6 พันล้านบาทเป็นการลงทุนของภาครัฐโดยกองทัพเรือ ส่วนอีกราว 4 พันล้านบาท เป็นการร่วมลงทุนของการบินไทยและแอร์บัส ในเรื่องของอุปกรณ์เครื่องมือ โครงการนี้จะคุ้มทุนภายในเวลา 10 ปี โดยจะมีรายได้ราว 3 พันล้านบาทต่อปีภายในปีที่ 10 ของการให้บริการและจะเพิ่มเป็น 2.2 หมื่นล้านบาทในปีสุดท้ายของสัญญาเช่า คือ ปีที่ 50

ล่าสุดครม.ยังผ่านร่างพ.ร.บ.อากาศยานฉบับใหม่ปลดล็อกให้สิทธิ์ต่างชาติถือหุ้นเกิน51% หรือถือหุ้นสูงสุดได้ 100% ไม่จำเป็นต้องมีคนไทยถือหุ้นใหญ่ สำหรับธุรกิจซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งลำ ซึ่งจะส่งเสริมให้มีการลงทุนในพื้นที่อีอีซีเพิ่มมากขึ้น

4. ยึดทรัพย์เครือข่ายโอเอ

530896

การดำเนินคดีกับ บริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด เมื่อปี 2559 ตามกฎหมายอาญา ในกรณีพัวพันทัวร์ศูนย์เหรียญ ซึ่งบ่อนทำลายอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ในข้อหาอั้งยี่ ซ่องโจร จนมีการยึดและอายัดไปแล้วกว่า 2 หมื่นล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินคดีของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กลับมาฮือฮาอีกครั้งเมื่อปลายปี 2561 เมื่อมีการยึดและอายัดทรัพย์เครือข่ายโอเอ ของตระกูลโรจน์รุ่งรังสีกับพวก เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 อีกรวมกว่า 129 รายการ มูลค่า 4,600 ล้านบาท ในฐานกระทำความผิดเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษี มูลฐานภาษีตามพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 ซึ่งเป็นคดีที่หนักกว่าคดีแรกมาก หลังจากกรมสรรพากรได้ตรวจสอบการชำระภาษีย้อนหลังของโอเอ ทรานสปอร์ต ตั้งแต่ปี 2554-2559 พบว่า มีการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นวงเงินกว่า 7 พันล้านบาท โดยงานนี้เป็นการกัดไม่ปล่อยและรัฐบาลต้องการทำเป็นคดีตัวอย่างเพื่อลดการผูกขาด กู้ภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวและทำให้รัฐมีรายได้ในการจัดเก็บภาษี สอดรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวได้อย่างแท้จริง
5. ประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018

COV_1155-1 CDS_1833

ในปี 2561 อีเวนตท์ระดับโลก ซึ่งจัดในเมืองไทย และมีส่วนในการโปรโมตการท่องเที่ยวของไทยไปทั่วโลก อย่าง “มิสยูนิเวิร์ส 2018” ปีนี้เป็นครั้งที่ 3 ของการจัดประกวดในไทย แต่ก็เต็มไปด้วยความวุ่นวายของการชิงลิขสิทธิ์การจัดงาน เมื่อ “ตี๋ แมทชิ่ง” คว้าลิขสิทธิ์แทน “ทีดับบลิว อินเวสเมนท์ กรุ๊ป” ในนาทีสุดท้าย งานนี้แม้จะมีค่าลิขสิทธิ์กว่า 500 ล้านบาท แต่ ตี๋ แมทชิ่ง นอกจากจะไม่ได้รับเงินสนับสนุนการจัดงานจากภาครัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยเหมือนการจัดมิสยูเวิร์สในไทยเมื่อ 13 ปีก่อนแล้ว แถมยังถูกทีดับบลิว  อินเวสเมนท์ กรุ๊ป ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายร่วม 600 ล้านบาทอีกต่างหาก แม้จะมีเรื่องวุ่นๆ ที่เอกชนต้องไปเคลียร์กันเอง แต่ในแง่ของการท่องเที่ยว สาวงามจาก 94 ประเทศ ก็ได้เข้ามาเก็บตัว ในไทย ซึ่งก็ได้มีการเผยแพร่ไปทั่วโลก และในการประกวดเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2561 ณ อิมแพ็ค อารีน่า สาวงามจากประเทศฟิลิปปินส์ “แคทรีโอนา เกรย์” ก็คว้ามงกุฎไปครอง

 

รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3431 ระหว่างวันที่ 30 ธันวาคม 2561 - 2 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว