จีนกางปีกป้อง 'หัวเว่ย' เดินหน้ารุก 5G โลก!!

01 ม.ค. 2562 | 04:47 น.
ในปีที่ผ่านมา มีข่าวครึกโครมเกี่ยวกับกระแสการต่อต้านการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีในระบบ 5G ของ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีฯ ยักษ์ใหญ่ด้านอุปกรณ์โทรคมนาคมของจีน ในโครงการภาครัฐของหลายประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่น โดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงและป้องกันการจารกรรมข้อมูลในโลกไซเบอร์ ทำให้เกิดข้อสงสัยในวงกว้าง ว่า จริง ๆ แล้ว หัวเว่ยเป็นภัยคุกคามความมั่นคงอย่างที่ถูกกล่าวหา หรือนี่เป็นเพียงประเด็นเบี่ยงเบนข้อพิพาททางการค้าและสร้างความได้เปรียบในการช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด ข้อกล่าวหาของสหรัฐฯ ยังไม่มีการแสดงหลักฐานพิสูจน์ที่ชัดเจน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดในเวลานี้ ก็คือ การขยายธุรกิจของหัวเว่ยกำลังถูกตีกรอบจำกัดด้วยแรงกดดันของสหรัฐฯ และแน่นอนว่า จีนจะไม่ยอมปล่อยให้หัวเว่ยถูกมัดมือชกอย่างแน่นอน

'หัวเว่ย' คือ บริษัทแชมเปี้ยนของจีน เป็นบริษัทเอกชนที่มีผลิตภัณฑ์และบริการเป็นที่ยอมรับในระดับโลก เป็นแบรนด์จีนที่สามารถรุกตลาดได้อย่างไม่น้อยหน้าแบรนด์ดังจากประเทศใดในโลก ไม่ว่าจะสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ ปี 2561 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ได้จารึกเอาไว้ว่า ยอดขายสมาร์ทโฟนของหัวเว่ยสามารถครองส่วนแบ่งกว่า 15% ของตลาดสมาร์ทโฟนโลก แซงหน้าแชมป์เก่าอย่างแอปเปิลขึ้นมาเป็นที่ 2 และเป็นรองก็แต่เพียงซัมซุง และนั่นก็เป็นบทบาทของหัวเว่ยที่เห็นได้ชัดในส่วนของผู้บริโภคทั่วไป แต่หลายคนไม่รู้ว่า ในฐานะผู้ผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนสำหรับโครงข่ายโทรคมนาคมไร้สาย ซึ่งเป็นเรื่องของลูกค้าองค์กรและการวางระบบนั้น ชื่อของหัวเว่ยไม่เป็นสองรองใคร บริษัทคือผู้ผลิตอุปกรณ์โทรคมนาคมรายใหญ่อันดับ 1 ของโลก


TP9-3432-A

ความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิดของหัวเว่ยกับรัฐบาลจีน เป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรเป็นกังวล นั่นไม่ใช่เพียงเพราะ นายเหริน เจิ้งเฟย ผู้ก่อตั้ง บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีฯ อดีตเคยเป็นวิศวกรประจำกองทัพปลดแอกประชาชนจีน แต่ยังเป็นเพราะเครือข่ายบริษัทในเครือของหัวเว่ยที่เข้าไปบุกขยายธุรกิจทั่วโลก มีพฤติกรรมทางธุรกิจทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผย ชวนให้เกิดความระแวงสงสัย เช่น กรณีบริษัท สกายคอม เทค จำกัด ที่ตั้งอยู่ในฮ่องกง และมีผู้บริหารระดับผู้อำนวยการทั้งในอดีตและปัจจุบันเชื่อมโยงใกล้ชิดกับหัวเว่ย ก็คือ บริษัทที่ตกเป็นข่าวว่า ถูกทางการสหรัฐฯ ขึ้นบัญชีดำโทษฐานที่ละเมิดมติควํ่าบาตรอิหร่านของสหรัฐฯ ด้วยการส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ผลิตในสหรัฐฯ ส่งมอบให้กับผู้ประกอบการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดในอิหร่าน ผ่านทางสำนักงานสาขาของสกายคอมในกรุงเตหะราน ทางการสหรัฐฯ ได้ติดตามความเชื่อมโยงระหว่างสกายคอมกับหัวเว่ยมาโดยตลอด กระทั่งมาถึงการออกหมายจับและควบคุมตัว นางเมิ่ง หวันโจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของหัวเว่ย บุตรสาวของผู้ก่อตั้งบริษัท ขณะเดินทางเพื่อต่อเครื่องบินในประเทศแคนาดา เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. ที่ผ่านมา จนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

สหรัฐฯ อ้างว่า ด้วยพื้นเพทางทหารของผู้ก่อตั้งบริษัท ความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างหัวเว่ยกับรัฐบาลจีน และบทบาทของหัวเว่ยที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ในตลาดโลก ทำให้หัวเว่ยเป็นภัยต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ทั้งนี้ เนื่องจากการเป็นผู้ควบคุมเทคโนโลยีที่ใช้ในเครือข่ายโทรคมนาคม ก็หมายถึงโอกาสที่บริษัทจะสามารถกระทำการจารกรรมข้อมูล หรือขัดขวางการติดต่อเชื่อมโยงภายในระบบ หากมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นในอนาคต และยิ่งเมื่อโลกต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ตเชื่อมโยงการทำงานและการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์อื่น ๆ มากมายในระบบ IoT ก็จำเป็นต้องมีการป้องกันภัยในเรื่องนี้มากขึ้น ยิ่งรัฐบาลจีนมีเครื่องมือที่เรียกว่า "กฎหมายข่าวกรองแห่งชาติ ปี 2560" ที่ระบุว่า องค์กรต่าง ๆ ต้องให้ความร่วมมือแก่ภาครัฐในงานด้านข่าวกรองของชาติ ก็ยิ่งทำให้สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจำเป็นต้องระแวดระวังบริษัทเอกชนของจีนมากตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น หัวเว่ย แซดทีอี หรือบริษัทอื่น ๆ ดังที่ นายเบ็น แซสซี วุฒิสมาชิกคนหนึ่งของสหรัฐฯ เคยออกมาแสดงความเห็นว่า บางครั้งพฤติกรรมเชิงรุกของจีนก็ได้รับการหนุนหลังจากรัฐบาล และบ่อยครั้งมันก็ถูกอำพรางมาในรูปของสิ่งที่จีนเรียกว่า "ภาคเอกชน"




Meng_court

นั่นทำให้สหรัฐฯ และประเทศพันธมิตรในนามกลุ่ม "Five Eyes" ที่ประกอบด้วยสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อร่วมแชร์ข้อมูลข่าวกรองและสกัดกั้นการแอบสืบข้อมูลลับในโลกไซเบอร์ ผนึกกำลังกันควํ่าบาตรอุปกรณ์สื่อสารเครือข่าย 5G และอุปกรณ์โทรคมนาคมอื่น ๆ จากหัวเว่ยและแซดทีอี ซึ่งความหนัก-เบาของมาตรการควํ่าบาตรดังกล่าวก็แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ รวมทั้งญี่ปุ่นที่เป็นพันธมิตรกับสหรัฐฯ แม้ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Five Eyes แต่ก็เข้าเป็นแนวร่วมด้วย การสั่งระงับการซื้อผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมจากทั้ง 2 บริษัท โดยให้เหตุผลว่า เพื่อป้องกันการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและภัยคุกคามทางอินเตอร์เน็ต


meng_wanzhou

ท่าทีตอบกลับของหัวเว่ยเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีทั้งที่บริษัทออกหน้าเองและที่เป็นการชี้แจงผ่านรัฐบาลจีน เห็นได้ชัดว่า จีนให้ความสำคัญกับประเด็นที่บริษัทแชมเปี้ยนระดับชาติอย่างหัวเว่ยถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของหลายประเทศ แน่นอนว่า การดำเนินธุรกิจของหัวเว่ยในตลาดต่างประเทศจะยากลำบากมากขึ้น และการสร้างอิทธิพลในด้านเทคโนโลยี 5G ที่บริษัทจีนมีความเชี่ยวชาญและต้องการขยายอิทธิพลไปทั่วโลกก็จะถูกสกัดกั้น กระทรวงการต่างประเทศของจีนออกมาแถลงว่า กระแสต่อต้านสินค้าและบริการของยักษ์ใหญ่โทรคมนาคมจีนนั้น เป็นการอำพรางประเด็นทางการค้า หวังสกัดกั้นการขยายส่วนแบ่งตลาดของจีน โดยประเทศที่มีศักยภาพทางการแข่งขันสู้จีนไม่ได้ ขณะเดียวกัน ยังประกาศว่า จีนจะเดินหน้าสร้างพันธมิตรนานาประเทศในการร่วมกันพัฒนาเครือข่าย 5G ต่อไป และปัจจุบันหัวเว่ยเองก็มีการลงนามทำสัญญาวางระบบ 5G เชิงพาณิชย์กับกว่า 20 ประเทศทั่วโลก เป็นการยํ้ากันชัด ๆ อีกทีว่า ถึงจะกดดันแค่ไหน อะไรก็สกัดกั้นจีนไม่ได้จริง ๆ

รายงาน | หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,432 ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว