โตโยต้า เมืองสีเขียว สะท้อน 5 ด้านเพื่อสิ่งแวดล้อม

29 ธ.ค. 2561 | 02:42 น.
จากแนวคิดการดำเนินธุรกิจของโตโยต้า ที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและรักษาสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่ธุรกิจ ควบคู่กับการเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแก่สังคมไทย ผ่านกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว เพื่อธรรมชาติ เพื่อทุกชีวิต” โดยมีวัตถุประสงค์ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น เมืองสีเขียว

สื่อมวลชนและคุณกรรณ ร่วมฟังบรรยายกิจกรรมศูนย์การเรียนรู้สิ่งแวดล้อมครั้งนี้

โตโยต้าส่งต่อองค์ความรู้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้คนในชุมชนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยว ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเป็นรูปธรรม โดยร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนจำหน่ายโตโยต้าและชุมชนในการออกแบบกิจกรรมให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของแต่ละพื้นที่ โดยโครงการ “โตโยต้า เมืองสีเขียว อยุธยา” ถือเป็นจังหวัดแรกที่โตโยต้าได้นำองค์ความรู้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมของโตโยต้ามาประยุกต์ใช้ โดยร่วมกับเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยาบูรณะเรือนจำเก่า หน้าตลาดหัวรอ บนพื้นที่ขนาด 8 ไร่ให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้านสิ่งแวดล้อมแห่งแรกนอกโรงงาน” ต่อจากศูนย์การเรียนรู้ความหลากหลายทางชีวภาพและความยั่งยืน “ชีวพนาเวศ” ในโรงงานโตโยต้าบ้านโพธิ์ โดยนำองค์ความรู้ในการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมทั้ง 5 ด้านของโตโยต้า มาจัดแสดงภายในพื้นที่เมืองสีเขียว ได้แก่

นิทรรศการโซน ZERO CO2

1. การเพิ่มพื้นที่สีเขียว (Increasing Green Area ) ส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ไม้ท้องถิ่น การปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยใช้ความรู้ด้านการปลูกป่านิเวศตามหลักของศ.ดร.อากิระ มิยาวากิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปลูกป่าจากประเทศญี่ปุ่น ทำให้ต้นไม้มีอัตราการรอดตายมากกว่า 90% และร่นระยะเวลาการเจริญเติบโตตามธรรมชาติให้เร็วขึ้น 10 เท่า ตลอดจนสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าการปลูกป่าโดยทั่วไป

2. การจัดการขยะ (Waste Management) โดยจัดการขยะแบบครบวงจร ตั้งแต่การส่งเสริมการลดปริมาณขยะ ลดการใช้สินค้าที่ก่อให้เกิดขยะ การคัดแยกขยะและการนำไปใช้ประโยชน์ และการกำจัดขยะแบบถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล

3. การอนุรักษ์นํ้า (Water Management) ส่งเสริมการใชนํ้าอย่างรู้คุณค่า การประหยัดนํ้า การนำทรัพยากรนํ้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยการติดตั้งถังเก็บนํ้า ที่ออกแบบในลักษณะของไม้ยืนต้นจำลอง เพื่อรองรับนํ้าฝนที่ตกลงมาตามธรรมชาติและจากรางนํ้าฝนมากักเก็บไว้ พร้อมฐานกว้างซึ่งสร้างจากวัสดุที่มีลักษณะเป็นรูพรุนเรียกว่า อิฐกรองนํ้า นํ้าฝนที่ตกลงมาจะไหลลงสู่พื้น ผ่านการกรองของอิฐกรองนํ้าเพื่อความสะอาด ไหลซึมลงสู่บ่อเก็บนํ้า ใต้ดินขนาด 10,000 ลิตร เพื่อนำกลับไปใช้ในการรดนํ้าต้นไม้และกิจกรรมอื่นๆ ภายในศูนย์การเรียนรู้

4. การลดการใช้พลังงานและการใช้พลังงานทางเลือก(Renewable Energy) ส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานทดแทน อาทิ พลังงานแสดงอาทิตย์และการนำแบตเตอรี่ไฮบริดที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (re-use) ซึ่งเป็นศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า เมืองสีเขียว อยุธยา ใช้พลังงานไฟฟ้าที่ได้มาจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาที่จอดรถพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Power Parking Canopy) ที่มีพื้นที่แผงเซลล์แสงอาทิตย์จำนวนกว่า 500 ตารางเมตร สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 100 กิโลวัตต์ เทียบเท่ากับลดค่าไฟฟ้าของบ้าน 26 หลัง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 150 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปีและควบคุมการจ่ายพลังงานโดยอาคารควบคุมอัจฉริยะ (Smart Grid Building) โดยพลังงานไฟฟ้าที่ได้จะนำมาเก็บในแบตเตอรี่เก็บประจุที่ผลิตจากเซลล์แบตเตอรี่ของรถยนต์โตโยต้าไฮบริดที่ใช้แล้ว (re-use) แล้วทำการจ่ายไฟฟ้าไปใช้ในส่วนต่างๆ ได้แก่ ไฟส่องสว่างเครื่องใช้ไฟฟ้าระบบปรับอากาศ

เวิร์คช็อปนำขยะมาคัดแยกแล้วมารีไซเคิลเป็นสิ่งของต่างๆ

และ 5. การเดินทางอย่างยั่งยืน (Sustainable Transportation) ส่งเสริมการเดินทางที่ลดการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงด้วยการใช้พลังงานทดแทน เช่น รถยนต์ไฮบริด รถไฟฟ้าขนาดเล็ก การใช้จักรยาน และการเดิน ซึ่งในเมืองสีเขียวได้ส่งเสริมการใช้จักรยาน การใช้รถไฟฟ้าขนาดเล็ก HA :MO ในระบบ EV Car Sharing  เป็นพาหนะในการเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจุดท่องเที่ยวในอยุธยา ซึ่ง Toyota HA : MO  จะถูกนำมาวิ่งเป็นต้นแบบแห่งที่ 2 ต่อจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพลังงานไฟฟ้าที่นำมาใช้กับ Toyota HA : MO  มาจากแผงโซลาร์เซลล์เก็บประจุไฟฟ้าไว้ในเซลล์แบตเตอรี่ของรถยนต์โตโยต้าไฮบริดที่ใช้แล้ว (re-use) โดยมีสถานีชาร์จไฟฟ้า 2 แห่งตั้งอยู่ที่ ณ  ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวอยุธยา และหมู่บ้านญี่ปุ่น

โตโยต้า เมืองสีเขียว อยุธยา เปิดให้บุคคลทั่วไปได้เข้าศึกษาเรียนรู้ทุกวัน

หน้า 18-19 ฉบับที่ 3,432 วันที่ 3 - 5 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว