รัฐชูไอทีหนุนนโยบาย "One Transport"

01 ม.ค. 2562 | 03:00 น.
| รายงานพิเศษ : รัฐชูไอทีหนุนนโยบาย "One Transport"

……………….


แม้ว่ากรุงเทพมหานครและอีกหลายจังหวัดจะมีรถไฟ รถไฟฟ้า สนามบิน และท่าเรือเปิดให้บริการ แต่ดูเหมือนช่วงที่ผ่านมา การเดินทางของประชาชนยังไม่ได้รับความสะดวกสบายในการเดินทางเพื่อเข้าถึงบริการระบบขนส่งมวลชน เป็นภารกิจของกระทรวงคมนาคมสร้างการเชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทางอย่างไร้รอยต่อ ด้วยการขับเคลื่อนบริการรถเมล์โดยสารสาธารณะเข้าไปยังสนามบิน ท่าเรือ สถานีรถไฟ รถไฟฟ้า ตลอดจนรถตู้ รถสองแถว รถแท็กซี่ และจักรยานยนต์รับจ้างให้บริการอย่างเข้าถึงและทั่วถึงจุดต่าง ๆ มากขึ้น

โดยนาย อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ต้องให้เกิดการเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ ทั้งภายในโหมดการเดินทางกันเอง อาทิ จากสนามบินไปยังอีกสนามบิน ที่ปัจจุบันใช้ระบบรถบัสโดยสารให้บริการ และภายในไม่กี่ปีจะใช้ระบบรถไฟความเร็วสูงให้บริการ และจากโหมดหนึ่งไปสู่อีกโหมดหนึ่ง ภายใต้โครงการเชื่อมต่อด้วยระบบล้อ-ราง-เรือนั่นเอง

ปัจจุบัน ทุกสนามบินได้จัดให้มีรถบัสโดยสารให้บริการเข้าถึงสนามบินและศูนย์เศรษฐกิจ ตลอดจนพื้นที่สำคัญ ๆ ของจังหวัด อาทิ รถบัสสาย A1-A4 เพื่อนำส่งผู้โดยสาร โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แม้จะมีรถแท็กซี่ แต่ก็เหมาะสำหรับผู้ที่มีสัมภาระ แต่หากมาตัวเปล่าสามารถใช้รถบัสโดยสารจะสะดวกสบายกว่า เป็นโหมดสาธารณะที่ทุกคนใช้บริการได้จริง โดยกรมการขนส่งทางบกเปิดเส้นทางจากสนามบินเชื่อมไปยังสถานีขนส่งและจุดสำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ จึงพบว่า มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น ขณะนี้ จ.อุดรธานี เชียงราย สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต ฯลฯ เริ่มเปิดให้บริการแล้ว โดยมีเรือภาคเอกชนร่วมให้บริการในเขตจังหวัดทางทะเลร่วมด้วย


5-ครึ่งบน

หลังจากนี้ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการเร่งปรับโฉมให้บริการเข้าถึงสถานีรถไฟอย่างสะดวกสบายและรวดเร็วขึ้น เนื่องจากมีรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงทยอยเปิดให้บริการอย่างต่อเนื่องแล้ว ได้จัดถนนและรถบริการสาธารณะเชื่อมต่อให้รถประเภทต่าง ๆ เข้าถึงได้ง่าย ประชาชนใช้บริการอย่างสะดวกสบาย


➣ เดินหน้าขับเคลื่อนระบบตั๋วร่วม

เบื้องต้นนั้น กระทรวงคมนาคมมีนโยบายการกำหนดราคาค่าโดยสารที่ชัดเจน ไม่เอาเปรียบผู้ใช้บริการ เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้ใช้บริการ โดยจะต้องมีมาตรฐานให้บริการ เนื่องจากจะดูเป็นการสร้างชื่อเสียงภาพลักษณ์ที่ดีของจังหวัดนั้น ๆ ด้วย

สำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑลจะได้เห็นเส้นทางรถไฟฟ้าให้บริการ โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อ ที่ในอนาคตอันใกล้นี้จะได้รับการพัฒนาให้เป็นฮับของการเดินทางระดับอาเซียน จะเชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ ให้ได้มากที่สุด แม้จะไม่ได้เชื่อมครบทุกสายทาง แต่ยังมีรถบัสโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถบัสร่วม บขส. รถตู้ รถแท็กซี่ให้บริการรูปแบบฟีดเดอร์

ปัจจุบัน เนื่องจากการก่อสร้างรถไฟฟ้ายังไม่แล้วเสร็จ จึงได้เห็นรถบัสโดยสารสาธารณะให้บริการไปก่อน เพื่อเตรียมป้อนให้รถไฟฟ้าในอนาคต พร้อมกับจะปรับอัตราค่าโดยสารเพื่อดึงดูดให้หันมาใช้บริการรถไฟฟ้ากันมากขึ้น ปัจจุบัน สายสีนํ้าเงินที่เชื่อมกับสายสีม่วงที่สถานีเตาปูน ได้ตัดเรื่องค่าเชื่อมต่อ (ค่าแรกเข้า) ออกไป เพื่อช่วยลดภาระค่าโดยสาร ต่อไปบีทีเอสก็จะต้องดำเนินการรูปแบบนี้ด้วยเช่นกัน ดังกรณีสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่จะต้องตัดค่าแรกเข้าออกไป

เช่นเดียวกับ "ระบบตั๋วร่วม" ที่รัฐบาลอยู่ระหว่างการเร่งจัดทำบัตรแมงมุมให้บริการได้ทุกระบบ ปัจจุบัน บัตรที่ใช้กับรถบัสโดยสารในจังหวัดต่าง ๆ ก็สามารถนำมาใช้ในกรุงเทพฯ ด้วยเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างการปรับระบบอี-ทิกเก็ตให้สามารถใช้ได้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเร็ว ๆ นี้อีกด้วย เช่นเดียวกับการใช้งานกับระบบตั๋วโดยสารรถไฟ รถไฟฟ้า และรถไฟความเร็วสูงเส้นทางต่าง ๆ

สอดคล้องกับที่ นายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้กล่าวถึงโครงการ "วันทรานสปอร์ต" ว่า เป็นสิ่งดี ทำให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกิดการบูรณาการร่วมกัน ล่าสุด มีการทำแผนที่ร่วมกันระหว่างกรมทางหลวงกับกรมทางหลวงชนบท ให้เป็นแผนฉบับเดียวกันในการนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างสอดคล้องกันมากขึ้น งานไม่ซํ้าซ้อนกัน มาตรฐานเดียวกัน โครงการรถ เรือ ราง จึงเห็นภาพการเชื่อมต่อได้ชัดเจนที่สุด

ดังนั้น นับต่อจากนี้ไปจะเห็นภาพเกิดขึ้นกับสนามบิน ท่าเรือ สถานีขนส่ง สถานีรถไฟ เชื่อมต่อการเดินทางที่เข้าถึงได้ ทั้งจาก 23 สนามบินของกรมท่าอากาศยาน หรือ 63 สนามบินของท่าอากาศยานไทย จะมีการใช้ระบบไอทีเข้าไปอำนวยความสะดวกในการเดินทางมากขึ้น

ประการสำคัญ จะกระจายออกไปสู่การเชื่อมต่อกับจุดกระจายสินค้า หรือ "ฮับการติดต่อประสานงานรูปแบบใหม่" เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจุดจอดรถบรรทุก นอกเหนือจากสถานีรถไฟ สถานีขนส่ง ท่าเรือ นอกจากนั้น โซนเศรษฐกิจในเมืองต่าง ๆ หรือ ประตูการค้าชายแดน จะต้องได้รับการยกระดับการเชื่อมต่อตามนโยบายของรัฐ เน้นการขนส่งด้วยรถบริการสาธารณะให้มากและเพียงพอ ทั้งนี้ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วส่งเสริมให้มาใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้นนั่นเอง

หน้า 5 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,432 ระหว่างวันที่ 3-5 มกราคม 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว