ทางออกนอกตำรา : ยึดทรัพย์ ‘โอเอฯ-รอยัลเจมส์ฯ’ โกงภาษีหรือตัดท่อน้ำเลี้ยง?

27 ธ.ค. 2561 | 12:12 น.
โอเอ โอเอ-8 ปรากฏการณ์ที่สร้างความฮือฮาให้กับผู้ประกอบการในเมืองไทยอย่างมากในขณะนี้คือ ปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ของรัฐที่สนธิกำลังกันเข้าอายัดทรัพย์ 4,600 ล้านบาท ของกลุ่มบริษท รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล และกลุ่มบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ตฯ ของเฮียธงชัย โรจน์รุ่งรังสี และ เจ๊นิสา โรจน์รุ่งรังสี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561

ผู้คนอาจฮือฮาในเรื่องจำนวนตัวเลขของเงินที่อายัดก้อนโต 4,600 ล้านบาท

แต่หากพิจารณา ถึงการยกกำลังไปของ พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ แสงคร้าม รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.ปรีชา เจริญ-สหายานนท์ รองเลขาธิการ และเจ้าหน้าที่ ปปง. พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ท.ธีรพล คุปตานนท์ ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และ พล.ต.ท.พงษ์วุฒิ พงษ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร เจ้าหน้าที่สรรพากรจังหวัดภูเก็ต ต้องบอกว่านี่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติทั่วไป

ใครที่ฟัง พล.ต.อ.รุ่งโรจน์ ชี้แจงว่า เป็นการดำเนินการตามนโยบาย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและดำเนินคดีกับกลุ่มบริษัทและห้างร้านที่มีพฤติการณ์เกี่ยวพันกับทัวร์ศูนย์เหรียญ และการหลีกเลี่ยงภาษีเพื่อลดการผูกขาดและการทำลายภาพลักษณ์ที่ดีด้านการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของไทย อาจเห็นเป็นเรื่องที่ข้าราชการประจำต้องทำตามนโยบาย
โอเอ-9 ยิ่งเห็นการอธิบายว่า ในการดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินในรายคดีนายธงชัย กับพวกหรือบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ในครั้งนี้ เป็นไปตามคำสั่งศาลแพ่งในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.158/2561 ลงวันที่ 2 พฤศจิกายน 2561 และคดีหมายเลขดำที่ ฟ.84/2561 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2561 ซึ่งมีคำสั่งให้เลขาธิการ ปปง.เป็นผู้ดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราว อันประกอบด้วย ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด เช่น อาคารชุด โรงแรมหรูในจังหวัดชลบุรี บริษัทจำหน่ายเครื่องประดับและอัญมณีในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 97 รายการ มูลค่า 2,964 ล้านบาท เงินฝากในบัญชีธนาคาร จำนวน 30 รายการ มูลค่า 136 ล้านบาท และสลากออมสิน จำนวน 2 รายการ มูลค่า 1,500 ล้านบาท รวมมูลค่าทรัพย์สินที่ยึดและอายัดทั้งสิ้น 4,600 ล้านบาท ก็น่าจะปกตินี่นา....
โอเอ-6 โอเอ-7 แต่อย่าลืมว่า เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้องตามคำตัดสินของศาลชั้นต้น ในคดีหมายเลขดำ ฟย.46/2559 ที่อัยการฝ่ายคดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ ยื่นฟ้องนายสมเกียรติ คงเจริญ ก.ก.ผจก.บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด, นางธวัล แจ่มโชคชัย ก.ก.ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล, บริษัทโอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด, นายวสุรัตน์ โรจน์รุ่งรังสี ก.ก.ผจก บจก.โอเอ, บริษัท รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด, บริษัท ไทยเฮิร์บ จำกัด, บริษัท บางกอก แฮนดิคราฟท์ เซ็นเตอร์ จำกัด, บริษัท รอยัลพาราไดซ์ จำกัด

นางนิสา โรจน์รุ่งรังสี กรรมการผู้จัดการทั้งสี่บริษัท นายธงชัย โรจน์-รุ่งรังสี สามีของนางนิสา, บริษัท บ้านขนมทองทิพย์ จำกัด, นางสาวสายทิพย์ โรจน์รุ่งรังสี กรรมการผู้มีอำนาจ บจก.บ้านขนมทองทิพย์ซึ่งเป็นบุตรของนายธงชัย และนายวินิจ จันทรมณี ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล เป็นจำเลยที่ 1-13 ฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 วรรคแรก ร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542

เพียงแต่ศาลอุทธรณ์ตัดสินให้ นายสมเกียรติ คงเจริญ อายุ 59 ปี ก.ก.ผจก.บริษัท ฝูอัน ทราเวล จำกัด , นางธวัล แจ่มโชคชัย อายุ 61 ปี กก.ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล ของจำเลยที่ 1,2 เเละนายวินิจ จันทรมณี อายุ 71 ปี ผจก.บจก.ฝูอัน ทราเวล ที่ 13 เป็นการกระทำผิด ตาม พ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวเเละมัคคุเทศก์ฯ มาตรา 24 จึงพิพากษาแก้เป็นว่า ปรับจำเลยที่ 1,2,13 คนละ 500,000 บาท

แล้วทำไมจึงมีการอายัดเงินบริษัทนำเที่ยวนี้อีก....นี่ต่างหากที่นักธุรกิจมึนตึ้บ...แล้วอ้าปากค้าง
โอเอ-5 โอเอ-1

ฟังคำชี้แจงของ ปปง.ว่าได้รับรายงานจากกรมสรรพากรให้ดำเนินการตรวจสอบ การชำระภาษีของบริษัท โอเอ ทรานสปอร์ต จำกัด ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2554-2559 พบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีเป็นวงเงินกว่า 7,500 ล้านบาท อันเป็นความผิดตามมาตรา 37 แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งตามมาตรา 37 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร ให้ถือว่าความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ก็พอร้องอ๋อ..ว่า เป็นการอายัดตามประมวลรัษฎากรที่มีการสอบพบว่ากลุ่มโอเอ รอยัลเจมส์ อินเตอร์เนชั่นแนล หลีกเลี่ยงการจ่ายภาษี

แต่ท่านเชื่อผมหรือไม่ครับว่าปฏิบัติการในคดีนี้ มากกว่าการอายัดทรัพย์เพราะผู้ประกอบการเลี่ยงภาษี....

คดีนี้ ปี 2559 ปปง.ได้ตรวจสอบเส้นทางการเงินแล้ว พบความผิดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และได้ดำเนินการอายัดทรัพย์ไปแล้ว 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 เงินฝากในบัญชีธนาคารผู้เกี่ยวข้อง 25 รายการ รวม 28.5 ล้านบาท ครั้งที่ 2 เงินฝากธนาคารสลากออมสิน รวม 2 รายการ รวม 3.1 ล้านบาท

[caption id="attachment_366651" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ครั้งที่ 3 เงินฝากบัญชีธนาคารผู้เกี่ยวข้องบริษัท โอเอฯ 92 บัญชี รวมเป็นเงิน 4,200 ล้านบาท และรถบัสโดยสาร 2,155 คัน มูลค่า 9,000 ล้านบาท รวมทรัพย์สินทั้งหมด 2,274 รายการ เป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 13,200 ล้านบาท

พอถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2561 เลขาธิการ ปปง.ชี้แจงว่าอายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวรวมมูลค่า 4,600 ล้านบาท

เฉพาะ 2 ห้วงเวลา ทางปปง.ได้อายัดทรัพย์ของคนในครอบครัวโรจน์รุ่งรังสี ไปทั้งสิ้น 17,800 ล้านบาท สูงที่สุดในประวัติศาสตร์การทำธุรกิจในประเทศ หากไม่นับคดีการอายัดทรัพย์จากความผิดทางการเมืองของ คุณทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี 78,000 ล้านบาท

แน่นอนในทางข้อกฎหมายเมื่อเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรร้องทุกข์และพยานหลักฐานเข้าองค์ประกอบ 4 อย่างคือ 1. เป็นผู้กระทำความผิดตามมาตรา 37 มาตรา 37 ทวิ และมาตรา 90/4 แห่งประมวลรัษฎากร

2.หลีกเลี่ยงภาษีอากร ฉ้อโกงภาษีอากร เป็นจำนวนตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป หรือขอคืนภาษีอากรโดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นทำนองเดียวกัน ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป

3.กระทำในลักษณะกระบวนการ หรือเป็นเครือข่าย โดยสร้างธุรกรรมอันเป็นเท็จหรือปกปิดรายได้เพื่อหลีกเลี่ยงหรือฉ้อโกงภาษี

4.มีพฤติกรรมปกปิดหรือซ่อนเร้นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเพื่อมิให้ติดตามทรัพย์สินนั้นได้
โอเอ-2 โอเอ-3 โอเอ-4

กฎหมายให้ถือว่า ความผิดดังกล่าวเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

แต่ข้อมูลวงลึกบอกว่า นี่คือการตัดท่อน้ำเลี้ยงทางการเมืองครั้งใหญ่....เพราะแว่วว่า มีการจ่ายเงินก้อนโตไปยังกลุ่มการเมืองที่เกื้อกูลกันมา การตัดชีพจรทางการเงินรอบนี้จึงเป็นการตัดเชื้อไฟอย่างราบคาบ เพราะถ้าผิดฐานโกงภาษีรับประกันว่าธุรกิจโอเอ หรือรอยัลเจมส์ เตรียมปิดตัวได้เลย

ถ้าพบว่าหลีกเลี่ยงภาษี 7,500 ล้านบาท กฎหมายให้มีการจ่ายเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีก 2 เท่าตัว ทรัพย์ที่อายัดไว้ยังจ่ายไม่พอ...ขอรับนายท่าน...

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3430 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 27-29 ธ.ค.2561
595959859