'ศุภชัย' เข้ารอบเลือก ส.ว. 200 คน ชี้! ต้องการทดสอบการบังคับใช้กฎหมาย

27 ธ.ค. 2561 | 08:41 น.
'ศุภชัย' อดีตประธาน กกต. เข้ารอบคัดเลือก ส.ว. 200 คน เผย เข้ามาเพราะอยากทดสอบการบังคับใช้กฎหมาย ระบุ หากเป็น ส.ว. พร้อมใช้ประสบการณ์ทำงาน ด้าน 'ธนา' เชื่อมีคุณสมบัติพอ พร้อมทำเพื่อบ้านเมือง ยัน! ไม่ได้เป็นคนของใคร พบผู้สมัครโวยหนังสือแนะนำตัวรูปไม่ชัด

ฮอลล์ 2 อิมแพค เมืองทองธานี วันนี้ (27 ธ.ค. 61) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการเปิดการลงคะแนนเจ้าหน้าที่แต่ละจุด ได้จัดให้ผู้สมัครเข้าคูหาลงคะแนนของแต่ละกลุ่ม โดยการลงคะแนนแต่ละกลุ่มใช้เวลา 30-60 นาที แล้วแต่จำนวนของผู้สมัคร ซึ่งหลังจากปิดการลงคะแนน เจ้าหน้าที่ได้เริ่มนับคะแนน โดยกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เป็นกลุ่มแรกที่ลงคะแนนเสร็จ ปรากฏว่า มีผู้ได้รับเลือกในลำดับที่ 10 ซึ่งเป็นลำดับสุดท้าย ได้คะแนนเท่ากัน จึงต้องมีการจับฉลาก โดยเป็นการจับฉลากกันเองของผู้สมัครที่ได้คะแนนเท่ากัน ซึ่งการจับฉลาก พบว่า เกิดขึ้นเกือบทุกกลุ่ม ซึ่งบางกลุ่มต้องจับฉลากผู้ที่จะได้คัดเลือกเป็น ส.ว. ถึง 5 ลำดับ โดยกลุ่มใดที่เจ้าหน้าที่ประกาศผู้ได้รับเลือกทั้ง 10 อันดับแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะอนุญาตให้ผู้สมัครกลับบ้านได้


ศุ

นายศุภชัย สมเจริญ อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งได้รับเลือกมาเป็นอันดับที่ 2 ในกลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวขอบคุณผู้สมัครกลุ่มที่ 2 ที่เลือกตนเอง ทั้งนี้ การลงสมัครไม่ได้คาดหวังอะไร เพียงต้องการมาทดสอบระบบการบังคับใช้กฎหมาย และเห็นว่า การให้ลงคะแนนเลือกกันเอง 2 คน ถ้าไม่ใช่เป็นบทเฉพาะกาลคงต้องแก้ไข แต่ในอนาคตที่กฎหมายกำหนดให้เป็นการเลือกไขว้น่าจะดีกว่า ที่ผ่านมา ตนไม่เคยได้รับโทรศัพท์ขอคะแนน มีแต่โทรมาแนะนำตัว หลังจากนี้ยังต้องไปลุ้นกันอีกว่า คสช. จะเลือกหรือไม่ และเห็นว่า คสช. ไม่จำเป็นต้องเลือกคนที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มแต่ละสายไปอยู่ในบัญชี 50 คน

"ทั้งหมดเป็นดุลยพินิจที่ไม่ขอก้าวก่าย เพราะเป็นอำนาจของ คสช. โดยตรง ซึ่งหากได้รับเลือก ผมก็จะใช้ประสบการณ์ในฐานะอดีตประธาน กกต. ในการทำงาน ส่วนการจะเลือกนายกฯ ยังไม่ได้มองไปขนาดนั้น เพราะยังไม่รู้ว่า คสช. จะเลือกผมเข้าไปเป็นหนึ่งในนั้นหรือไม่" นายศุภชัย กล่าว


ธนา

ขณะที่ นายธนา เบญจาทิกุล อดีตทนายความส่วนตัว นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. สายสมัครด้วยตนเอง กลุ่มที่ 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยวิธีการจับฉลากเลือกกันเอง เนื่องจากเป็นผู้ได้รับคะแนนลำดับท้ายที่มีผู้สมัครอื่นได้คะแนนเท่ากัน กล่าวว่า การที่กฎหมายให้ผู้สมัคร ส.ว. เลือกกันเอง ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยทางหนึ่งอยู่แล้ว แต่เมื่อได้รับเลือกแล้วก็ยังต้องไปลุ้นว่าจะได้รับเลือกจาก คสช. หรือไม่ ตนมองว่า คสช. ไม่จำเป็นต้องเลือกผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละกลุ่มของแต่ละสายไปอยู่ในบัญชี 50 คน แต่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ คสช.

"คะแนนที่ผู้สมัครแต่ละรายได้มากหรือน้อย เป็นเพียงกระบวนการคัดเลือกให้ได้มาเท่านั้น มันไม่ได้บอกว่า ใครเหนือกว่าใคร และเมื่อได้รับเลือกแล้ว ถือว่าทุกคนมีสิทธิ์เท่าเทียมกันและมีคุณสมบัติพร้อมที่จะทำหน้าที่เพื่อบ้านเมือง ซึ่งส่วนตัวก็คิดว่า ตัวเองมีคุณสมบัติพอที่จะทำงานเพื่อบ้านเมืองได้ และเราไม่ได้เป็นคนของใคร แม้ในอดีตจะเป็นทนายความให้กับนักการเมือง ก็เป็นการประกอบอาชีพ แต่ปัจจุบันก็พยายามไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง ซึ่งก็แล้วแต่ว่าพอที่เขาจะเห็นว่าเรามีความสามารถหรือไม่" นายธนา

ด้าน พ.ต.ท.อัศวิน ณรงค์พันธ์ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 (ผบช.ภาค 4) และอดีตที่ปรึกษา นายอภิชาต สุขัคคานนท์ อดีตประธาน กกต. กล่าวว่า สาเหตุที่ได้คะแนนสูงสุดในกลุ่มที่ 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อาจเป็นเพราะเคยดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 จึงทำให้เป็นที่รู้จักของหลายคน อย่างไรก็ตาม การมาสมัครครั้งนี้ มาสมัครด้วยตนเอง ไม่มีใครทาบทามมาเป็นการส่วนตัว ขณะเดียวกันก็ไม่ได้รู้จักกับบุคคลใน คสช.


เลิศรัตน์

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า ได้รับเลือกให้เป็น ส.ว. ประเภทองค์กรแนะนำชื่อในกลุ่มอื่น ๆ ที่ผ่านมาเคยทำหน้าที่เป็นทั้ง ส.ว. และเป็น สปท. เมื่อเห็นว่ากฎหมายเปิดโอกาสให้มีการเลือก ส.ว. จึงมาสมัคร เผื่อมีโอกาสได้ทำงานที่เราได้เคยทำมาก่อนแล้ว โดยมีองค์กรสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์เสนอชื่อ และไม่ได้คาดหวังเรื่องที่ คสช. จะเลือกให้เป็น 1 ใน 50 คนหรือไม่ การเลือกของ คสช. คงตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณา ว่า ใครทำหน้าที่ได้อย่างไรบ้าง เราคงไปตอบไม่ได้ว่าใครดีกว่าใคร รวมทั้งไม่มองว่าการเลือก 50 คน ของ คสช. จะเลือกเฉพาะคนที่จะเลือกท่านเป็นนายกฯ เพราะการเลือกนายกฯ ต้องอาศัยเสียงทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ซึ่งเมื่อรวมกันแล้วเสียงเกินครึ่งของสภาอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่พอดิบพอดี ฉะนั้นการเลือก 50 คน ของ คสช. คงไม่ได้พิจารณาเฉพาะปัจจัยดังกล่าวเพียงปัจจัยเดียว แต่น่าจะดูเรื่องของคนที่จะเข้าไปทำงานด้วยมากกว่า

พล.อ.เลิศรัตน์ ยังมองเรื่องของการเลือก ส.ว. ในครั้งนี้ ว่า การเลือกกันเองทำให้มีการพึ่งพากันได้ แต่ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะเป็นการเลือกไขว้กลุ่ม การพึ่งพากันจะทำได้ลำบาก อีกทั้งจะไม่มีองค์กรเสนอชื่อ และคิดว่าการเลือกในอนาคตจะมีคนสมัครเป็นหมื่น ๆ คน

ด้าน นายกำธร เหล่าสะพาน ผู้สมัคร ส.ว. กลุ่ม 2 กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า ในการเลือกของกลุ่ม ตน ได้เพียงแค่ 1 คะแนนเท่านั้น และตนเตรียมร้องศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะเอกสารข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (ส.ว. 18) ที่ กกต. จัดทำและแจกให้ผู้สมัครเพื่อใช้ในการดูรายละเอียดของผู้สมัคร กลับพบว่า รูปถ่ายไม่ชัดเจน ขณะที่ รูปถ่ายคนอื่น ๆ ชัดกว่า จึงอาจจะเป็นไปได้ว่า ทำให้ตนเองไม่ได้รับคะแนนในการเลือกครั้งนี้ เบื้องต้น ได้ยื่นเรื่องดังกล่าวต่อ กกต.มหาสารคาม แล้ว เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อขอให้เลื่อนการเลือก ส.ว. ครั้งนี้ไปก่อน แต่ก็ไม่ได้รับความสนใจจาก กกต.

"ผมเสียเงินสมัครมา 2,500 บาท ได้หรือไม่ได้ไม่สำคัญ แต่ต้องยุติธรรม รูปควรจะชัดเจน" นายกำธร กล่าวพร้อมชูเอกสารหนังสือแนะนำตัวที่มีรูปถ่าย พร้อมคำร้องเรียนกับ กกต.มหาสารคาม เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.

บาร์ไลน์ฐาน