รัฐโหมดึงทุนนอก600รายเร่ง9คลัสเตอร์

11 มี.ค. 2559 | 03:00 น.
รัฐโหมดึงทุนต่างชาติ 600 ราย กว่า 17 ประเทศ เร่งลงทุนใน 9 คลัสเตอร์ "ประวิทย์" จี้บีโอไอร่วมกับภาคเอกชน 4 คณะ เร่งจัดทำแผนเจาะรายบริษัท เดินสายกว่า 100 ทริป ภายใน 3 เดือน หวังให้นักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมลงทุนภายในมิ.ย.นี้ ขณะที่คลัสเตอร์ปิโตรเคมี บีโอไอไฟเขียวประเดิมนำร่อง 34 โครงการแล้ว เงินลงทุน 1.7 แสนล้าน ให้นักลงทุนไปจัดทำรายละเอียดยื่นขอส่งเสริมภายใน มิ.ย.นี้พร้อมลุ้นจ่อลงทุนอีก 13 โครงการ เงินลงทุน 2.02 แสนล้านบาท

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กบพ.) ที่มีพล.อ.ประวิทย์ วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 มีนาคม ที่ผ่านมา คณะกรรมการได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้ที่ประชุมรับทราบ พร้อมข้อเสนอและปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนให้พิจารณา

โดยที่ประชุมได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 9 คณะ ประกอบด้วย คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน, คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม, คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, คลัสเตอร์ดิจิตอล, คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป, คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม, คลัสเตอร์หุ่นยนต์, คลัสเตอร์อากาศยานและชิ้นส่วน และคลัสเตอร์การแพทย์ครบวงจร ที่มีการกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายที่มีศักยภาพที่จะส่งเสริม พร้อมด้วยกลุ่มนักลงทุนและประเทศเป้าหมายที่จะไปชักจูงมาลงทุน และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ไปพิจารณาเงื่อนไข มาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม รวมทั้งการเร่งรัดแก้ไขข้อปัญหาที่เป็นอุปสรรค

 บีโอไอร่วมเอกชนทำโรดโชว์

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ ไปจัดทำแผนชักชวนนักลงทุนหรือโรดโชว์ ร่วมกับภาคเอกชนที่มีการตั้งขึ้นมา 4 คณะได้แก่ กลุ่มอาหาร การเกษตรขั้นสูง เทคโนโลยีชีวภาพ มีนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทย เป็นผู้ดูแล กลุ่มดิจิตอล อีโคโนมี มีนายสุชชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นผู้ดูแล กลุ่มอุตสาหกรรมไฮเทค ปิโตรเคมี เครื่องมือแพทย์ มีนายกานต์ ตระกูลฮุน อดีตซีอีโอ เอสซีจี กับนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการบริษัท บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมีคอล จำกัด (มหาชน) หรือพีทีทีจีซี เป็นผู้ดูแล และกลุ่มครีเอทีฟ แอนิเมชัน ภาพยนตร์ ที่มีนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และนายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นผู้ดูแล

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ประชุมต้องการให้เกิดการเร่งรัดลงทุนโดยเร็ว และเน้นไปที่นักลงทุนเป้าหมาย 600 ราย ครอบคลุมกว่า 17 ประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เยอรมัน สวิสเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง เนเธอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อังกฤษ เบลเยี่ยม สวีเดน อินเดีย และในสหภาพยุโรป เป็นต้น ซึ่งทางบีโอไอและทั้ง 4 คณะทำงานจะมาร่วมทำแผนโรดโชว์และทำแพ็กเก็จสนับสนุนการส่งเสริมในลักษณะที่ตรงกับความต้องการของนักลงทุน โดยเจาะเป็นรายๆ หรือ Door Knocking

 เดินสายไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง

โดยเฉพาะในส่วนของคลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทางคณะทำงานร่วมรัฐ-เอกชน-ประชาชน (ประชารัฐ) ด้านพัฒนาคลัสเตอร์ภาคอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่มีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการ บริษัท พีทีทีจีซี เป็นหัวหน้าทีมภาคเอกชน จะเข้าไปช่วยในการหารือกับนักลงทุนในกลุ่มนี้มาลงทุนให้แล้วเสร็จภายในเวลา 2 เดือน เนื่องจากภาคเอกชนได้มีการเสนอแผนการลงทุนมาแล้วร่วม 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะต้องมีการเข้าไปเจรจาเป็นรายโครงการไป

"ขณะนี้ทางบีโอไอกำลังอยู่ระหว่างจัดทำแผนโรดโชว์ ตามประเทศเป้าหมายต่างๆ ซึ่งต้องมาดูว่า จะจัดกลุ่มคลัสเตอร์ และประเทศที่จะไปอย่างไร เพราะแต่ละคลัสเตอร์ที่เสนอแผนชักชวนการลงทุนมา ก็มีเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 100 ครั้งที่จะต้องเดินทางไปเชิญชวนมาลงทุน และคงต้องพิจารณาอีกว่า เมื่อบีโอไอไปหารือร่วมกับ 4 คณะดังกล่าวแล้ว จะมีมาตรการหรือสิทธิประโยชน์อะไรเพิ่มเติมออกมา และจัดทำเป็นแพ็กเกจไปเสนอนักลงทุนได้อีก"

ดร.อรรชกา กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการชักจูงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนครั้งนี้ มีกรอบระยะเวลาที่จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 2-3 เดือนนับจากนี้ไป หรือให้นักลงทุนมีเวลายื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอให้ได้ภายในช่วงเดือนมิถุนายน 2559 นี้ หรือภายในสิ้นปีนี้เป็นอย่างช้า เพื่อที่จะได้เปิดดำเนินการผลิตได้ภายในปี 2560 ตามที่รัฐบาลกำหนดเงื่อนไขส่งเสริมการลงทุนไว้ก่อนหน้านี้

โดยในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ตนเองและดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี จะนำทีมไปโรดโชว์ที่ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งถือเป็นประเทศเป้าหมายในการที่จะเชิญชวนนักลงทุนในกลุ่มคลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม และคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน เข้ามาลงทุน เนื่องจากเป็นประเทศผู้นำทางด้านอุตสาหกรรมดังกล่าว ที่มีความเชี่ยวชาญและให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เป็นต้น

 เป้านักลงทุนยานยนต์70ราย

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการเร่งรัดนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เปิดเผยว่า สำหรับแผนการชักจูงนักลงทุนในกลุ่มของคลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์นั้น มีผลิตภัณฑ์เป้าหมายในการส่งเสริมการลงทุนไว้ประมาณ 17 ประเภทกิจการ มีนักลงทุนเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 70 ราย ในประเทศเป้าหมาย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ยุโรป เกาหลีใต้ เยอรมนี แคนาดา และไต้หวัน เป็นต้น ซึ่งได้มีการวางแผนโรดโชว์ที่จะไปร่วมกับรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในช่วงเดือนมีนาคมถึงมิถุนายนปีนี้ จำนวน 5 ครั้ง ซึ่งรูปแบบโรดโชว์มีทั้งการจัดสัมมนาทั่วไป การพบบริษัทเป้าหมาย การพบหน่วยงานหรือองค์กรพันธมิตรเพื่อสร้างเครือข่ายการลงทุนในประเทศเกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อินเดีย เยอรมัน และจีน เป็นต้น

ขณะที่การเดินสายในส่วนของบีโอไอในช่วงเดือนมีนาคมนี้จัดไว้ 4 ครั้ง ที่จะเดินทางไป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และไต้หวัน ส่วนใหญ่ที่ไปจะเป็นลักษณะการไปเจรจากับบริษัทเป้าหมายโตรงตรงเป็นรายๆ ไป

ส่วนคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และโทรคมนาคมนั้น มีการกำหนดผลิตภัณฑ์เป้าหมายไว้ประมาณ 12 ประเภทกิจการ มีนักลงทุนเป้าหมายไม่ต่ำกว่า 50 ราย ในประเทศเป้าหมาย เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ไทย ไต้หวัน ฝรั่งเศส จีน สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ เกาหลีใต้ เยอรมัน เป็นต้น ซึ่งแผนการชักจูงการลงทุนในต่างประเทศนั้น ในปีนี้ช่วงเดือนมีนาคมจะร่วมกับคณะ ดร.สมคิด ที่ประเทศเกาหลีใต้ และพฤษภาคม ที่ประเทศเยอรมัน และมิถุนายนที่ประเทศจีน

ส่วนคณะของบีโอไอในการโรดโชว์ตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงกันยายน 2559 ในจำนวน 8 ประเทศ ประกอบด้วย จีนและฮ่องกง รวม 7 คณะ ไต้หวัน 3 คณะ ญี่ปุ่น 7 คณะ เกาหลีใต้ 2 คณะ สหรัฐอเมริกาและแคนาดา 5 คณะ ยุโรป 8 คณะ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ 2 คณะ และ อินเดีย 4 คณะ รวมทั้งสิ้น 38 คณะ เป็นต้น

 ปิโตรฯนำร่องลงทุน1.7แสนล.

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับคลัสเตอร์ที่มีความเป็นไปได้ ที่จะยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอภายในเดือนมิถุนายนปีนี้ ตามนโยบายการเร่งรัดการลงทุนนั้น จะเป็นคลัสเตอร์ในกลุ่มปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากทราบว่าขณะนี้ทางบีโอไอ ได้เคาะโครงการที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ ตามการส่งเสริมในรูปแบบคลัสเตอร์ออกมาแล้ว จำนวน 34 โครงการ เงินลงทุนรวมประมาณ 1.7 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 24 โครงการ เงินลงทุน 1.329 แสนล้านบาท อุตสาหกรรมชีวภาพ 7 โครงการ เงินลงทุน 3.245 หมื่นล้านบาท และอื่นๆ 3 โครงการ เงินลงทุน 5.59 พันล้านบาท ซึ่งทางบีโอไอได้แจ้งให้นักลงทุนที่เสนอโครงการลงทุนเข้ามาไปจัดทำรายละเอียดเพื่อยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในเดือนมิถุนายนนี้แล้ว

ส่วนโครงการลงทุนเพื่อลดภาระทางสิ่งแวดล้อมและโครงการลงทุนเพื่อปรับโครงสร้างหน่วยผลิตนั้น ทางบีโอไอ จะไม่พิจารณาให้สิทธิประโยชน์ในรูปแบบคลัสเตอร์ แต่จะพิจารณาในส่วนของสิทธิประโยชน์อื่นๆ แทน เช่น มาตรการส่งเสริมการลงทุน เพื่อการประหยัดพลังงาน การใช้พลังงานทดแทนหรือการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิทธิประโยชน์ที่ได้รับอาจจะได้ไม่เท่ากับรูปแบบคลัสเตอร์ ทางบีโอไอจะมีการหารือกับผู้ประกอบการว่าจะสนใจลงทุนอยู่หรือไม่ หากผู้ประกอบการสนใจ ก็จะมีโครงการลงทุนอีก 13 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนประมาณ 2.024 แสนล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559