เส้นทางกลับคืนสู่ประชาธิปไตย โอกาสพิสูจน์ตัวของนักการเมือง

02 ธ.ค. 2561 | 13:34 น.
ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมามีหลายเหตุการณ์ตอกย้ำให้คนไทยและสังคมโลกเชื่อมั่นได้ว่า การเลือกตั้งของไทยจะเกิดขึ้นอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อนำประเทศหวนกลับสู่เส้นทางประชาธิปไตย

ไม่เพียงจากคำยืนยันอีกครั้งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระหว่างเดินทางเยือนประเทศสหพันธสาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ที่กล่าวตอบนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ผู้นำอาวุโสแถวหน้าของประชาคมยุโรป ว่าประเทศไทยกำลังมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้าโดยตั้งใจจะจัดการเลือกตั้งให้ยุติธรรมและโปร่งใส

นอกจากนี้การเตรียมการสู่การเลือกตั้งของไทยก็เดินหน้าทั้งกระบวน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดรับสมัครผู้สมัครเข้ารับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระหว่างวันที่ 26-30 พฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป็นองค์ประกอบหนึ่งของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ วันที่ 29 พฤศจิกายน ราชกิจจานุเบกษาประกาศพระราชกฤษฎีกาแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั่วประเทศ มีผลให้ การเตรียมการเลือกตั้งขั้นตอนต่างๆ เดินต่อ อาทิ พรรค การเมืองจะสามารถจัดวางผู้สมัครรับเลือกตั้งของตนลงเขตเลือกตั้งได้ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด แบ่งสรรการทำงานตามเขตเลือกตั้งในพื้นที่ เป็นต้น

[caption id="attachment_366651" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ควบคู่กับการนับถอยหลังสู่วันที่ 10 ธันวาคม 2561 ที่จะครบ 90 วันการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 ทำให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับเป็นกฎหมายในวันรุ่งขึ้น เมื่อมีกฎหมายลูกเพื่อจัดเลือกตั้งครบทั้ง 4 ฉบับแล้ว รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ถ้ารัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกยังอยู่ การเลือกตั้งต้องเกิดภายในกรอบเวลาดังกล่าวใครก็บิดพลิ้วไม่ได้

ประเทศไทยเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง พรรคการเมืองและนักการเมืองกลับมาแสดงบทบาทกันอีกครั้ง ท่ามกลางความคาดหวังว่าเราจะได้กลับสู่สังคมประชาธิปไตยที่แท้จริงและยั่งยืนเสียที หลังจากที่บ้านเมืองจมปลักความขัดแย้งทางการเมืองยาวนานและต่างได้รับบทเรียนกันทุกฝ่าย

เวทีประชาธิปไตยที่เปิดครั้งใหม่นี้เป็นโอกาสอีกครั้งของนักการเมืองไทยที่จะพิสูจน์ตัวว่า ยึดมั่นในประโยชน์สุขของประชาชนยิ่งกว่าส่วนตัวและพวกพ้องตามที่ประกาศอาสาเข้ามาหรือไม่ เรียนรู้และยอมรับในหลักการที่อีกฝ่ายยึดถือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการฟังเสียงของทุกฝ่าย ความซื่อตรงโปร่งใส เรื่องของสิทธิ เสรีภาพ หน้าที่และความรับผิดชอบ ที่ต้องมีพร้อม

การเมืองยุคใหม่ต้องแข่งขันเสนอหลักการและแนวทางของตนเอง แต่ต้องพร้อมคล้องแขนรักษาระบบเพื่อให้เวทีประชาธิปไตยเปิดได้ต่อเนื่องยืนยาว จะได้ไม่ต้องปิดซ่อมเวทีประชาธิปไตยกันไม่รู้จบ

บทบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3423 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 2- 5 ธ.ค.2561
595959859