กสทช. คิกออฟ 5G กดปุ่มกลางปีประมูลคลื่น

03 ม.ค. 2562 | 03:17 น.
| รายงานพิเศษ : กสทช. คิกออฟ 5G กดปุ่มกลางปีประมูลคลื่น

| โดย โต๊ะข่าวไอที

……………….


พลันที่ทีมผู้บริหารของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เรียงแถวตั้งโต๊ะแถลงข่าว นำโดย นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ประกาศนโยบายการทำงานอย่างชัดเจนในปี 2562 แล้วว่าจะขับเคลื่อน 5 เป้าหมาย

โดย 1 ใน 5 เป้าหมายสำคัญ คือ การนำคลื่น 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อนำออกมาประมูลให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G ด้วยการใช้วิธีเรียกคืนคลื่นจากกลุ่มทีวีดิจิตอลและบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ จากทั้งหมดที่ถือครอง 120 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อช่วยเหลือกลุ่มทีวีดิจิตอล


● ย้อนรอยยืดค่างวด

ก่อนหน้านี้ กสทช. มีความพยายามที่จะช่วยเหลือกลุ่มมือถือและทีวีดิจิตอลมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยผู้ประกอบการทำหนังสือไปยัง คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ใช้อำนาจพิเศษมาตรา 44 พักชำระหนี้ ออกคำสั่งให้พักหนี้ค่าใบอนุญาตทีวีดิจิตอลและกลุ่มมือถือ โดยบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN บริษัทลูก 'เอไอเอส' และบริษัท ทรูมูฟเอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ TUC ในเครือ 'ทรู' ยื่นหนังสือถึง คสช. ขอผ่อนผันชำระเงินประมูลคลื่นงวดที่ 4 ออกเป็น 7 งวด โดยงวดที่ 1-6 ชำระงวดละ 8,040 ล้านบาท และงวดสุดท้ายชำระเงินส่วนที่เหลือทั้งหมด แต่สุดท้ายสิ่งที่ภาคเอกชนร้องขอก็ไม่เป็นผล


TP3-3432-A



● เร่งเครื่องเรียกคืนคลื่น

แน่นอนว่า การออกมาประกาศนโยบายของ กสทช. เพื่อที่จะเริ่มต้นนับหนึ่งคลื่นความถี่ 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ ด้วยการนำคลื่นความถี่ออกมาประมูลในกลางปี 2562 และเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 2563 ด้วยเหตุผลของ กสทช. ที่ว่า ต้องการเซตซีโร่คลื่นความถี่ใหม่ เพื่อนำเงินไปช่วยพยุงกลุ่มทีวีดิจิตอลที่กำลังถูกเทคโนโลยีดิสรัปชันอยู่ในห้วงเวลานี้ หากแต่การนำคลื่นความถี่ทั้ง 2 ล็อต ออกมาประมูล นัยมีความแอบแฝงเช่นเดียวกัน


● ยืดชำระค่างวด 10-15 ปี

ที่บอกว่ามีนัย เนื่องจาก "กสทช. จะยืดงวดการจ่ายเงินออกไปเป็น 10 ปี หรือ 15 ปี เท่ากับอายุใบอนุญาต จากเดิมที่งวดการชำระค่าใบอนุญาตอยู่ที่ 4-6 ปี เพื่อจูงใจให้เอกชนเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่" นั่นคือ คำบอกเล่าของ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์

การประกาศนโยบายของ กสทช. ในครั้งนี้ น่าจะมีไฟเขียวจากผู้มีอำนาจ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว กสทช. ไม่กล้าที่ประกาศโรดแมปที่ชัดเจนออกมา ที่สำคัญสื่อต่างประเทศได้วิเคราะห์แล้วว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ. 2562 พรรคพลังประชารัฐได้คะแนนเสียงมากสุดและกลับมาเป็นรัฐบาล โดยมีชื่อของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กลับมานั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

แม้ทางฝั่งผู้บริหาร กสทช. ออกมาเปิดเผยว่า การเรียกคืนคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์จากกลุ่มทีวีดิจิตอล ไม่ได้เป็นการเยียวยา เพียงแต่นำเงินมาทดแทนใบอนุญาตในงวดที่ 2 เท่านั้น เหตุที่ต้องเรียกคืนคลื่นนั้น วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบ 5G


● ตั้งคณะทำงานแล้ว!

เพื่อให้สานต่อกับราชกิจจานุเบกษา สำนักงาน กสทช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือ ใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หรือ นำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น โดยมี พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน และมี นายพลเดช ปิ่นประทีป กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (คณะกรรมการ ดีอี) เป็นรองหัวหน้าคณะทำงาน เพื่อจะทำหน้าที่จัดทำรายงานวิเคราะห์การเรียกคืนคลื่นความถี่

หลังจากนี้ ความเคลื่อนไหวการประมูลคลื่น 700 และ 2600 เมกะเฮิรตซ์ จะปรากฏขึ้นอย่างต่อเนื่อง และต้องดูต่อไปว่า ภารกิจของ กสทช. จะเป็นผลหรือไม่ น่าจับตายิ่ง!


● 
ระบบนิเวศน์เปลี่ยน

การเข้ามาของระบบ 5G จะเกิดการเปลี่ยนแปลงภาคอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง และอุตสาหกรรมจะโดนดิสรัปชันจาก 5G เพราะด้วยเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองได้เร็วขึ้น ประมาณ 1 ใน 10 วินาที (Reduce Latency), ความเร็วจะมากกว่า 1 Gbps, เชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ เทคโนโลยีจะถูกผลักดันจากผู้ผลิต อุตสาหกรรม (การผลิต, การแพทย์ และความปลอดภัย) และผู้ใช้งานมากขึ้น เนื่องจากความต้องการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้งานเพิ่มสูงขึ้น เช่น Smart Agriculture, Smart Tracking, Smart Feed Management


5G

การใช้เทคโนโลยี 5G ใช้งานดาต้าเพิ่มมากขึ้น ดูหนัง ฟังเพลง หรือการใช้ Virtual Reality (VR) อุตสาหกรรมรถยนต์จะเชื่อม Connectivity ระหว่างคนขับรถและรถยนต์ให้สามารถตรวจสอบสภาพรถได้, เป็นระบบอัตโนมัติ Automatic หรือ สามารถควบคุมระยะไกล หรือ Driverless หรือแม้แต่ทางการแพทย์จะสามารถผ่าตัดทางไกลหรือรักษาผู้ป่วยทางไกลได้

แม้แต่ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตรองประธานคณะกรรมการ กสทช. ยังมีการคาดการณ์ว่า ไม่เกินปี 2025 โทรทัศน์ทั้งหมดจะอยู่ในรูปของอินเตอร์เน็ตและสตรีมมิง เทคโนโลยี 5G จะเป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่จะไม่เหมือนกับ 4G 3G 2G ที่ผ่านมา

เช่นเดียวกับ ดร.สิขเรศ ศิรากานต์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อดิจิตอลและสื่อใหม่ กล่าวว่า การเข้ามาของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 5G ที่กำลังจะเปิดให้บริการใน 5 ประเทศ คือ ยุโรป ในปี 2562 อยู่ระหว่างทำ Pre-Commercial (ก่อนจะทำตลาดจริง) และจะเปิดให้บริการในปี 2563, สหรัฐอเมริกาขณะนี้อยู่ระหว่างทำตลาดและจะเปิดการขายอย่างเป็นทางการในปี 2563 เช่นเดียวกับประเทศญี่ปุ่น เกาหลี และเวียดนาม เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภายใน 2 ปีนับจากนี้


แอดฐานฯ

"โดยระบบนิเวศ Digital Journalism จะเปลี่ยนจากมีนักข่าวพลเมืองเยอะขึ้น ข้อมูลข่าวสารไวขึ้น มากขึ้น การคัดกรองข้อมูลทำยากขึ้น การตรวจสอบยากขึ้น การรับสารข้อมูลของผู้บริหารก็จะน่ากลัวมากขึ้น เพราะการตรวจสอบที่อาจไม่ครอบคลุม" ดร.สิขเรศ กล่าว

หน้า 3 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,432 วันที่ 3 - 5 มกราคม พ.ศ. 2562

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว