พาณิชย์เตรียมขึ้นบัญชีค่าบริการโรงพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม

26 ธ.ค. 2561 | 08:10 น.
พาณิชย์เตรียมขึ้นบัญชี ยาและเวชภัณฑ์และค่าบริการโรงพยาบาลเป็นสินค้าและบริการควบคุม พร้อมเสนอตั้งคณะอนุกรรมการแก้ปัญหาค่ารักษาพยาบาลระยะยาว เตรียมเสนอ กกร.พิจารณาวันที่ 9 ม.ค.62

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวภายหลัง การประชุมเพื่อหาแนวกำกับดูแลค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนที่มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์เป็นประธานว่า ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันใน 2 ประเด็น คือ เสนอให้ยา เวชภัณฑ์ รวมทั้งค่าบริการโรงพยาบาล เป็นสินค้าและบริการควบคุม เนื่องจากปัจจุบัน ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์มีสัดส่วนสูงในการรักษาพยาบาล และแต่ละโรงพยาบาลมีความแตกต่างกัน จึงกำหนดให้โรงพยาบาลเอกชนไปดูต้นทุนยาและกำไรที่เหมาะสมเพื่อลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยซึ่งปัจจุบันคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ หรือ กกร.ได้กำหนดให้ยาเป็นสินค้าควบคุมอยู่แล้วแต่ไม่ได้รวมเวชภัณฑ์ ค่าห้อง ค่าอาหาร ค่าเอ็กซเรย์ จึงต้องเสนอให้เป็นสินค้าควบคุม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเสนอตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องการดูแลค่ารักษาพยาบาลระยะยาวร่วมกัน เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงสาธารณาสุข มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภค สมาคมประกันชีวิตไทย โดยเตรียมเสนอให้กกร.พิจารณาวันที่ 9 มกราคม2562 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณา กรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน รักษาพยาบาลฟรีภายใน 72 ชั่วโมงแต่หลังจาก 72 ชั่วโมงไปแล้วควรกำหนดค่ารักษาพยบาลที่เหมาะสมอย่างไร ซึ่งมูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคเสนอว่าควรเป็นอัตราเดียวกัน

ด้านนางสาวสารี อ่องสมหวัง เลขานุการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า พอใจกับผลการแก้ปัญหาระยะสั้นที่มีการกำหนดเพดานราคายาควรบวกกำไรที่เหมาะสม เนื่องจากประเด็นนี้มีการร้องเรียนเป็นอับสองของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด นอกจากนี้มีการเสนอให้มีการกำกับค่ารักษาพยาบาลของบริการฉุกเฉินให้เป็นราคาเดียวภายหลังการรักษา 72 ชั่วโมง และควรกำหนดหลักเกณฑ์ว่าบริการใดฟรีหรือไม่ฟรี ส่วนค่าผ่าตัด ค่าหัตถการ ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งจะต้องไปพิจารณาในคณะอนุกรรมการชุดใหม่ที่จะตั้งขึ้น 9 มกราคมนี้

ขณะที่นายแพทย์พร้อมพงษ์ พีระบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวิภาวดี ระบุว่า การออกมาตรการบังคับทางกฎหมายจะทำให้ โรงพยบาลเอกชนไม่มีความหลากหลายในการบริการ และเห็นว่าการกำหนดเพดานควบคุมต้องให้มีความเหมาะสม รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนทำประกันเพิ่มขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาหากกำหนดไม่เหมาะสม จะทำให้โรงพยบาลรัฐและเอกชนได้รับผลกระทบเพราะค่าบริหารจัดการของแต่ละโรงพยบาลแตกต่างกัน เช่น โรงพยบาลวิภาวดี ค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น แบ่งเป็นค่าแพทย์ 20-23 % ค่ายา 30% ค่าแลป-เอ็กซเรย์ 10% ที่เหลือเป็นค่าบริการอื่นๆเช่น ค่าห้อง ค่าอาหาร ซึ่งค่าบริการโรงพยาบาลเอกชน จะแตกต่างกันตามคุณภาพ เช่น โรงพยบาลระดับกลาง ค่าห้อง 2,000 บาทต่อคืน ระดับสูงคืนละกว่า10,000 บาท ซึ่งทั้งหมดเป็นต้นทุนของเอกชน โปรโมทแทรกอีบุ๊ก