กองทุนอ้อยดี๊ด๊าราคานํ้าตาลจ่อพุ่ง คาดเงินไหลเข้ากว่า2.5พันล้านบาท

11 มี.ค. 2559 | 04:00 น.
กองทุนอ้อยและน้ำตาลรับข่าวดีน้ำตาลในตลาดโลกพุ่ง ปีนี้มีเงินไหลเข้ากว่า 2.5 พันล้านบาท ไม่ต้องชดเชยราคาอ้อยขั้นสุดท้ายฤดู 2558/2559 ในขณะที่ฤดูที่ผ่านมา เตรียมชงครม.ขออนุมัติ 7.6 พันล้านบาท จ่ายให้ชาวไร่และโรงงาน พร้อมกู้ธ.ก.ส.อีก 3 พันล้านบาท ช่วยชาวไร่รับมือภัยแล้ง หลังสร้างความเสียหายให้ผลิตอ้อยลดลง 8.23 ล้านตัน

นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง เลขาธิการคณะกรรมการก้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า จากปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศที่ปลูกอ้อย ได้ส่งผลให้ปริมาณการผลิตน้ำตาลของโลกในขณะนี้ปรับตัวลดลงจากปีก่อน แต่ผลดีที่เกิดขึ้นทำให้ราคาน้ำตาลในตลาดโลกขยับตัวสูงขึ้นมากในรอบหลายปี มาอยู่ที่ระดับ 15 เซ็นต์ต่อปอนด์และคาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอีกจากปัญหาการขาดแคลนน้ำตาลในตลาดโลก

ทั้งนี้ สถานการณดังกล่าวจะส่งผลให้การประมาณการณ์ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดู 2558-2559 ที่อยู่ระหว่างหารหีบอ้อย และจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนนี้ ที่คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นมาประมาณ 25 บาทต่อตันอ้อย จากที่ได้ประกาศราคาอ้อยขั้นต้นทั่วประเทศไปแล้วที่ 808 บาทต่อตัน ยกเว้นจังหวัดสุพรรณบุรี อยู่ที่ 773 บาทต่อตัน เนื่องจากเห็นแนวโน้มของราคาน้ำตาลที่ได้ซื้อขายล่วงหน้าไปแล้วกว่า 60% อยู่ในราคาค่อนข้างดี ซึ่งจะทำให้สำนักงานกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย (กท.) สามารถเรียกเงินในส่วนเกินนี้ส่งเข้ากองทุนได้กว่า 2.5 พันล้านบาท จากที่หลายปีที่ผ่านมา กองทุนจะต้องไปกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาจ่ายให้ชาวไร่และโรงงานน้ำตาล เนื่องจากราคาอ้อยขั้นต้นจะสูงกว่าราคาอ้อยขั้นสุดท้าย

โดยจะเห็นได้จากราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดู 2557/2558 ที่ผ่านมา ราคาอ้อยขั้นสุดท้ายอยู่ที่ประมาณ 854 บาทต่อตัน ซึ่งต่ำกว่าราคาอ้อยขั้นต้นที่ประกาศไว้ที่ 900 บาทต่อตัน ดังนั้น ทางกองทุนจึงต้องนำเงินไปจ่ายชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลอีกประมาณ 7.6 พันล้านบาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี ขออนุมัตินำไปจ่ายให้ชาวไร่และโรงงานประมาณเดือนมิถุนายนนี้

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ส่วนการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อย เพื่อรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีนี้นั้น ทางสอน.อยู่ระหว่างการกู้เงินจากธ.ก.ส.ในวงเงิน 9 พันล้านบาท เพื่อมาปล่อยกู้ให้กับชาวไร่อ้อยภายใต้โครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจร ในระยะเวลา 3 ปี (2559-2561) โดยจัดสรรในวงเงินปีละ 3 พันล้านบาท เพื่อใช้สำหรับให้ชาวไร่อ้อยกู้ไปใช้สำหรับการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อยปีละ 500 ล้านบาท และใช้สำหรับสนับสนุนสินเชื่อเงินกู้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อยเพื่อซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรอีกปีละ 2.5 พันล้านบาท

โดยในปีที่ผ่านมาสอน.ได้ตั้งงบสำหรับการปล่อยกู้ซื้อรถตัดอ้อยไว้ที่ 1.5 พันล้านบาท แต่มีการปล่อยกู้ได้จริง 1.363 พันล้านบาท คิดเป็นรถตัดอ้อยที่จัดซื้อ 165 คัน ขณะที่ปล่อยกู้เพื่อการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย 467 ล้านบาท จากจำนวน 3.452 พันราย

ส่วนปัญหาภัยแล้งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา คาดว่าจะสร้างความเสียหายให้กับปริมาณอ้อยที่จะเข้าหีบในฤดู 2558/2559 ลดลงมาประมาณ 8.23 ล้านตันอ้อย จากที่เคยคาดการณ์ว่าจะอยู่ในระดับ 109.85 ล้านตันอ้อย เนื่องจากภัยแล้งทำให้อ้อยที่ปลูกใหม่และอ้อยตอได้รับน้ำไม่เพียงพอ เกิดภาวะชะงักการเจริญเติบโต ใบแห้งและเหลือง และมีหนอนอ้อยระบาดในบางพื้นที่ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ปริมาณผลผลิตอ้อยต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิมเหลือจำนวน 101.62 ล้านตันอ้อยเท่านั้น หรือลดลงมา 7% หรือผลิตน้ำตาลทรายได้ราว 9 ล้านตัน จากทุกปีผลิตได้กว่า 10.1 ล้านตัน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559