บีโออีเตรียมรับมือ ‘Brexit’ เผยแผนการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมให้แบงก์

10 มี.ค. 2559 | 09:00 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ธนาคารกลางอังกฤษเตรียมพร้อมรับมือในกรณีที่ระบบการเงินขนาดเสถียรภาพในช่วงระหว่างการจัดทำประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของสหราชอาณาจักรในสหภาพยุโรปในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ ด้วยการเตรียมสนับสนุนสภาพคล่องเพิ่มเติมให้กับธนาคารพาณิชย์

ธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ว่า จะเปิดโอกาสให้กับธนาคารพาณิชย์ในการกู้ยืมเงินโดยไม่จำกัดเพิ่มเติมจากกำหนดการปกติที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกเดือนในช่วงก่อนหน้าและภายหลังการจัดทำประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนที่จะถึงนี้เพื่อให้ชาวอังกฤษตัดสินใจว่าต้องการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ต่อไปหรือไม่ โดยนอกเหนือจากกำหนดการปกติในวันที่ 7 มิถุนายนแล้ว บีโออีจะเปิดการปล่อยกู้เพิ่มอีก 3 ครั้งในวันที่ 14, 21 และ 28 มิถุนายน

กำหนดการที่เพิ่มขึ้นมานั้นจะช่วยให้บีโออีสามารถอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบการเงินได้เพิ่มเติม ในกรณีที่ความไม่แน่นอนของผลการทำประชามติส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ บีโออีกล่าวในแถลงการณ์ว่า ทางธนาคารติดตามสถานการณ์ของตลาดอย่างใกล้ชิดต่อเนื่องและพร้อมที่จะดำเนินมาตรการใดๆ เพิ่มเติมถ้ามีความจำเป็น

นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า ถ้าผลการลงประชามติออกมาว่าฝ่ายสนับสนุนการออกจากอียู หรือที่เรียกกันว่า Brexit ได้รับชัยชนะ จะส่งผลกระทบในระยะสั้นต่อตลาดหุ้น พันธบัตร และโดยเฉพาะอัตราแลกเปลี่ยนเงินปอนด์สเตอร์ลิง อีกทั้งยังสร้างความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจของอังกฤษจนเสี่ยงที่จะกระทบการลงทุนและการเติบโต

ขณะที่ธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ของอังกฤษ อาทิ รอยัล แบงก์ ออฟ สก็อตแลนด์ และบาร์เคลย์ส ต่างออกมากล่าวเตือนถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นจากการลงประชามติ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง จนอาจส่งผลกระทบต่อเนื่องไปถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน

"การลงประชามติเป็นการเพิ่มความไม่แน่นอนทางการเมือง และเพิ่มโอกาสของการออกจากอียูอย่างกะทันหันและไม่แน่นอน ด้วยผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการลงทุนและความเชื่อมั่น" บาร์เคลย์สกล่าวในรายงานและเสริมว่า "ในกรณีที่มีการเลือกออกจากอียูหลังจากการลงประชามติ มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการเจรจากันเป็นระยะเวลาหนึ่ง คาดกันว่าประมาณ 2 ปี ซึ่งคาดการณ์ผลที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดเงินตลาดทุนได้ยาก"

ก่อนหน้านี้ เจ้าหน้าที่ทางการของบีโออีกล่าวยอมรับว่า บีโออีกำลังประเมินความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ต่อความผันผวนของตลาดการเงินและเตรียมแผนรับมือในกรณีที่เสียงส่วนใหญ่ในการลงประชามติเลือกออกจากอียู แต่ยังไม่เคยมีการเปิดเผยแผนการดังกล่าว

ทั้งนี้ บีโออีเปิดเผยภายหลังการจัดทำประชามติเพื่อแยกตัวเป็นอิสระจากสหราชอาณาจักรของชาวสก็อตแลนด์เมื่อปี 2557 ว่า ได้มีการจัดเตรียมแผนการอัดฉีดสภาพคล่องเพิ่มเติมในลักษณะคล้ายคลึงกันนี้ในกรณีที่ผลการลงคะแนนออกมาว่าสก็อตแลนด์ต้องการแยกตัวเป็นอิสระ แต่เมื่อผลออกมาว่าชาวสก็อตแลนด์เลือกอยู่ในสหราชอาณาจักรต่อไป ปฏิบัติการดังกล่าวจึงไม่มีความจำเป็น

การประกาศแผนรับมือของบีโออีเปรียบเสมือนการสนับสนุนคำกล่าวอ้างของนายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังของอังกฤษ และฝ่ายสนับสนุนการเป็นสมาชิกอียู ว่าการเลือกออกจากอียูจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง โดยฝ่ายสนับสนุนการออกจากอียูอ้างว่า นายออสบอร์นอยู่เบื้องหลังมาตรการดังกล่าวของบีโออี ขณะที่ฝ่ายนายออสบอร์นยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของธนาคารกลาง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559