สินเชื่อดิจิตอลเดือด! 'กสิกรไทย' ขยายกลุ่มลูกค้า CIMBT ดึง AI ช่วยปล่อยกู้

29 ธ.ค. 2561 | 00:48 น.
แบงก์เดินเครื่องลุยปล่อยกู้ออนไลน์ 'กสิกรไทย' เตรียมขยายระบบรองรับลูกค้าทั่วไป จากที่เน้นเฉพาะกลุ่ม คาดดันยอดสินเชื่อปี 62 โตพุ่งจากปีนี้ 1.5 พันล้านบาท ส่วน "ซีไอเอ็มบี ไทย" จ่อดึงเครื่องมือ AI Machine Learning ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้า ขอทดลองสินเชื่อบุคคลต้นปี ฟาก 'ยูโอบี' รอสิงคโปร์พัฒนาแพลตฟอร์มเสร็จ พร้อมดึงมาใช้ในไทย

นายวีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ธนาคารอยู่ระหว่างพัฒนาระบบการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิตอล หรือ Digital Lending จากปีนี้ที่จะเน้นการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ให้กับกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารเลือก หรือ Tarket Offer เท่านั้น แต่ภายในปี 2562 ระบบจะสามารถขยายไปสู่กลุ่มลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อเข้ามาขอได้ ดังนั้น ภายในปีหน้าธนาคารจะสามารถปล่อยได้ทั้งกลุ่มลูกค้าที่ธนาคารเลือกและลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่อ

 

[caption id="attachment_366476" align="aligncenter" width="335"] วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร วีรวัฒน์ ปัณฑวังกูร[/caption]

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อดิจิตอล เลนดิ้งไปแล้วประมาณ 1,400-1,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงไตรมาสที่ 2 อยู่ที่ราว 1,100-1,200 ล้านบาท แม้ว่าผลตอบรับจะยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนที่ธนาคารส่งคำเชิญไป ประกอบกับสัดส่วนการปล่อยสินเชื่อผ่านดิจิตอล อาจจะไม่สูงเท่าช่องทางปกติของธนาคาร แต่เชื่อว่าภายใน 3-5 ปี อัตราการเติบโตของสินเชื่อดิจิตอลจะขยายตัวแบบก้าวกระโดด เนื่องจากทิศทางตลาดจะเดินไปสู่ดิจิตอลมากขึ้น โดยภายในปี 2562 สินเชื่อดิจิตอลน่าจะขยายตัวได้หลายเท่าตัว

"ตอนนี้เรากำลังพัฒนาระบบที่จะให้ลูกค้าเข้ามาขอสินเชื่อดิจิตอลได้ด้วย หลังจากเราเริ่มต้นด้วยการเสนอลูกค้าเท่านั้น คาดว่าต้นปี 2562 เราจะทำได้ทั้ง 2 ฝั่ง คือ ทั้งจากที่เราเสนอและลูกค้าสนใจเอง ส่งผลให้สินเชื่อน่าจะเติบโตดีขึ้นจากปีนี้ น่าจะจบอยู่ที่ราว 1,500 ล้านบาท"

นางสาวอรอนงค์ อุดมก้านตรง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรายย่อย บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ภายในต้นปี 2562 ธนาคารจะนำเทคโนโลยีและเครื่องมือ เช่น Machine Learning หรือ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลการปล่อยสินเชื่อดิจิตอล (Digital Lending) รวมถึงการใช้ข้อมูลอื่น ๆ เช่น ข้อมูลพฤติกรรม (Alternative Data) ข้อมูลโซเชียล แต่ลูกค้าอาจจะต้องยินยอม ทั้งนี้ ธนาคารจะเริ่มปล่อยสินเชื่อดิจิตอลในส่วนของสินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan) ซึ่งเริ่มแรกจะทดสอบและทดลองตลาดและดูผลตอบรับก่อน


MP24-3430-A

อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้เริ่มทดลองปล่อยสินเชื่อดิจิตอลไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่สามารถวิเคราะห์และเก็บข้อมูล รวมถึงอนุมัติสินเชื่อดิจิตอล (Pure Digital) ได้ 100% ซึ่งยังต้องอาศัยคนในการพิจารณา หรือ ทำงานในกระบวนการต่าง ๆ อยู่ แต่ในปี 2562 ธนาคารจะนำเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น และหากระบบกลาง เช่น การพิสูจน์ตัวตนผ่านอิเล็กทรอนิกส์  (E-KYC) หรือ Digital ID สำเร็จ จะช่วยให้สินเชื่อดิจิตอลสามารถเกิดขึ้นเร็ว

"จะเห็นว่า แนวโน้มการแข่งขันดิจิตอลเลนดิ้งค่อนข้างเยอะขึ้น แต่การแข่งขันจะต้องแฟร์กับผู้บริโภคด้วย แต่เชื่อว่าดอกเบี้ยจะถูกลงและเป็นดอกเบี้ยที่คิดตามต้นทุนที่เป็นจริงมากขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้บริโภคต้องยอมเปิดเผยข้อมูลเราถึงจะสามารถปล่อยกู้ดิจิตอลได้ ซึ่งปีหน้าเราจะดึงเครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยมากขึ้น แต่เริ่มต้นอาจจะขอทดลองตลาดก่อน"

นายเจมส์ รามา ปัทมินทร วิภาส ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่เครือข่ายสาขาและบริการดิจิตอล ธนาคารยูโอบี (ไทย) กล่าวว่า สำหรับการปล่อยสินเชื่อดิจิตอลนั้น ธนาคารมีความสนใจที่จะนำมาทำในตลาดประเทศไทย แต่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบและพัฒนาระบบแพลตฟอร์มอยู่ โดย 'กรุ๊ป' หรือ สิงคโปร์ จะเป็นผู้พัฒนาระบบ ดังนั้น หากระบบสามารถพัฒนาและประสบความสำเร็จ ธนาคารก็อาจจะนำมาใช้สำหรับปล่อยสินเชื่อในประเทศไทยได้ แต่ปัจจุบันยังไม่สามารถทำได้ แต่จะมีการนำระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยใช้ในการเก็บข้อมูลก่อน

หน้า 23-24 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,430 วันที่  27 - 29 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว