เลือกตั้งโมฆะ..ใครต้องรับผิดชอบ?

10 มี.ค. 2559 | 14:00 น.
สาระหลักพ.ร.บ.ว่าด้วยการการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ ตามที่ประธานคณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) บอกกับนักข่าวไปเมื่อวันก่อน ในเบื้องต้นจะมีทั้งหมดประมาณ 16 มาตรา โดยบทกำหนดโทษยังคงเหมือนเดิม คือ ผู้ที่ขัดขวางการทำประชามติต้องโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 2 แสนบาท ได้เห็นบทลงโทษข้อหากระทำการขัดขวางรุนแรงแบบนี้ เชื่อว่าคงไม่มีใครกล้ากระทำการขัดขวางเป็นแน่!!

ที่มีความเชื่อเพราะสถานการณ์บ้านเมืองกำลังอยู่ในช่วงปฏิรูปโดยบุคคลในเครื่องแบบ ซึ่งมีอำนาจเต็มร้อยในมือในการบริหารจัดการบ้านเมืองให้อยู่ในความสงบ สรุปง่ายๆ เป็นยุคที่กฎหมายค่อนข้างขลัง ต่างจากช่วงปกติในยุคประชาธิปไตยเต็มใบเหมือนที่ผ่านมา

นี่คือที่มาของความเชื่อดังกล่าว!!

ไหนๆ พูดถึงความต่างในการบังคับใช้กฎหมาย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอยู่ในยุคไม่ใกล้ไม่ไกล ย้อนไปในยุคประชาธิปไตยเต็มใบ สมัยรัฐบาลพรรคเพื่อไทยที่มีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อประกาศยุบสภา ว่ากันตามกฎหมายจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่ของจริงกลับไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ทั่วประเทศ ส่วนมีเหตุมาจากอะไรเชื่อว่าคนไทยครึ่งค่อนประเทศย่อมทราบกันดี

ถามว่าการจัดการเลือกตั้งในครั้งนั้นมีกฎหมายบังคับใช้แบบเดียวกับการจัดทำประชามติหรือไม่ เชื่อว่าหลายๆ คนคงตอบได้ว่า มีแน่นอน!! ขณะองค์กรที่มีหน้าที่จัดการตามกฎหมายย่อมเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.เหมือนกัน

ดังนั้นกรณีที่มีกระแสข่าวออกมาว่า กกต.จะดำเนินการฟ้องร้องเอากับบุคคล 2 กลุ่ม คือ กลุ่มกปปส.และอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ฐานความผิดทำให้การเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นโมฆะ หลายคนจึงค่อนข้างประหลาดใจโดยเฉพาะประเด็นที่ว่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ ทำผิดเรื่องอะไร?

มิได้มีแต่ผมที่มองแบบนี้ ยังมีนักวิชาการด้านกม.อีกหลายๆ คน รวมทั้งอดีตกรรมการเลือกตั้ง นางสดศรี สัตยธรรม ที่ได้ให้ความเห็นว่า "บุคคลแรกที่ต้องรับผิดชอบ คือ ผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง เพราะมีหลักฐานชัดเจน ส่วนกกต.มีหน้าที่บริหารจัดการเลือกตั้งรวมทั้งอำนาจในการเลื่อนวันเลือกตั้ง ดังนั้นกกต.ต้องร่วมรับผิดชอบด้วยเช่นกัน ขณะที่ในรายของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์นั้นมองว่า "ยังไม่มีความชัดเรื่องข้อกฎหมาย"

ส่วนความเห็นของท่านอาจารย์ มีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ได้ตอบคำถามเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีโอกาสเป็นโมฆะหากไม่จัดวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร ซึ่งมีคนถามไปเนื่องจากการเลือกตั้งในครั้งนั้น (2 ก.พ. 57) อาจจัดวันเดียวกันไม่ได้เพราะมีบางเขต ผู้สมัครยังสมัครไม่ได้ ในเว็บไซต์ www.meechaithailand.com เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2557 ด้วยเนื้อที่จำกัดจึงขอคัดเอามาเฉพาะวรรคทองดังนี้

"กกต.ในฐานะผู้รับผิดชอบในการจัดให้มีการเลือกตั้งให้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ กกต.ควรต้องพิจารณาประเด็นนี้ให้เป็นที่ยุติในหมู่ของกกต. เสียก่อน ถ้ากกต.เห็นว่าถูกต้องตามรัฐธรรมนูญแล้วจะเดินหน้าต่อไปตามใจรัฐบาลก็เดินหน้าไปได้ แต่ถ้ากกต.เองเห็นว่าการจัดการเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หัวเด็ดตีนขาด กกต.ก็จัดให้มีการเลือกตั้งต่อไปไม่ได้ ไม่ว่ารัฐบาลจะว่าอย่างไร ต้องการอย่างไร ก็ไม่มีอำนาจที่จะบังคับให้ กกต.ทำในสิ่งที่ กกต.เห็นว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ"

"ถ้ารัฐบาลยืนยันให้ กกต.เดินหน้า และ กกต.ไม่อาจเดินหน้าได้ ก็อาจถือเป็นกรณีขัดแย้งกันที่จะสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ ถ้าทำได้เช่นนี้ กกต.ก็จะปลอดภัย แต่น่าเสียดาย ที่ กกต.ไม่ได้ทำเช่นนั้น ดังนั้น ถ้าภายหลังศาลวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ กกต.ก็อาจพลอยต้องไปรับผิดชอบในผลนั้น..."

งานนี้ต้องรอให้ กกต.ดำเนินการฟ้องร้องเป็นคดีเพื่อให้ศาลพิจารณาตัดสินเป็นบรรทัดฐานต่อไป!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559