ขยายทางหลวงหมายเลข 304 กบินทร์บุรี-ปักธงชัย ทดลองเปิดใช้ทางเชื่อมผืนป่าช่วงปีใหม่นี้

28 ธ.ค. 2561 | 06:36 น.
ทางหลวงแผ่นดินเส้นทางหลวงหมายเลข 304 ช่วงที่ผ่านพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี เชื่อมต่อไปยัง จ.นครราชสีมา ยังมีบางช่วงเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ มีสภาพเป็นคอขวด อีกทั้งยังต้องรองรับการจราจรที่หนาแน่น มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง ดังนั้นกรมทางหลวง (ทล.) จึงเล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาเชื่อมโยงโครงข่ายทางหลวงคมนาคมที่สำคัญ บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างยั่งยืน

โดยได้ดำเนินโครงการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 304 ควบคู่กับการก่อสร้างทางเชื่อมผืนป่า เป็นอุโมงค์ให้รถวิ่งลอดผ่าน โดยถมดินด้านบนเพื่อเชื่อมระหว่างผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้สัตว์ป่าข้ามฝั่งไป-มาได้ และสร้างเป็นสะพานสูงยกระดับรถวิ่งบนสะพานด้านล่างให้สัตว์ป่าสามารถข้ามฝั่งไป-มาได้อันเป็นการช่วยอนุรักษ์และส่งเสริมระบบนิเวศ ซึ่งเป็นคุณค่าโดดเด่นเป็นสากลของผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่

เกาะติด3430

โครงการดังกล่าวนี้ได้แบ่งการก่อสร้างเป็น 3 สัญญา ดังนี้ 1. โครงการฯ สาย อ.กบินทร์บุรี-อ.ปักธงชัย (ทางเชื่อมผืนป่า) เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2558-30 มิถุนายน 2561 มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 1,080 วัน มูลค่าโครงการรวม  1,319 ล้านบาทดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีความคืบหน้า 98% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2562 ซึ่งในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ทล.เตรียมเปิดให้ใช้อุโมงค์ชั่วคราวทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม เป็นต้นไป เพื่อช่วยระบายการจราจร

2. โครงการฯ สาย อ.กบินทร์บุรี-อ.วังนํ้าเขียว ตอน 3 (ส่วนที่ 1) เริ่มการก่อสร้างเมื่อ 10 มิถุนายน 2558-24 พฤษภาคม 2561 มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 1,080 วัน มูลค่าโครงการรวม 795 ล้านบาทดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) มีความคืบหน้า 56%

บาร์ไลน์ฐาน

3. โครงการฯ สาย อ.กบินทร์บุรี-อ.วังนํ้าเขียว ตอน 3 (ส่วนที่ 2) เริ่มการก่อสร้างเมื่อวันที่  25 มิถุนายน 2558-8 มิถุนายน 2561 มีกำหนดระยะเวลาดำเนินการก่อสร้าง 1,080 วัน มูลค่าโครงการรวม  794 ล้านบาท ดำเนินการก่อสร้างโดย บริษัท อิตาเลียนไทยดีเวล๊อป เมนต์ จำกัด (มหาชน) มีความคืบหน้า 27% มูลค่าโครงการรวม  2,908 ล้านบาท

โดยเมื่อโครงการก่อสร้างทั้งหมดแล้วเสร็จ เส้นทางสายนี้จะเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์โลจิสติกส์รองรับการขนส่งสินค้าจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือสู่ท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก หรือ อีสเทิร์นซีบอร์ด และพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC และที่สำคัญจะเป็นเส้นทางที่สร้างความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางให้แก่ประชาชนสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกได้สะดวกรวดเร็วขึ้น

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,430 วันที่  27 - 29 ธันวาคม พ.ศ. 2561

595959859