หุ้นแตกพาร์ผันผวน

27 ธ.ค. 2561 | 10:49 น.
รายย่อยร่วมวงเล่นPTT-KTC กดราคาร่วงตามตลาด

PTT-KTC หลังแตกพาร์ราคาหุ้นปรับลดลง โบรกชี้รายย่อย-นักเก็งกำไรเข้าซื้อขายมากขึ้น ทำราคาผันผวนขึ้นลงแรง คาดปีหน้าหุ้นราคาพาร์ 5-10 บาท และราคาหุ้นเกิน 100 บาท มีแนวโน้มแตกพาร์เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง
ในปี 2561 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นผันผวนตามปัจจัยต่างๆ ที่คอยกดดันมากมาย นักลงทุนหลายรายขาดทุนจากการลงทุน นักลงทุนรายย่อยส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนและเก็งกำไรตามแบบฉบับของตนเอง ส่วนใหญ่เลือกเล่นหุ้นราคาตํ่าๆ ซื้อขายง่าย ใช้เงินไม่มาก ขณะที่การซื้อหุ้นของบริษัทพื้นฐานดีบางบริษัทต้องใช้เงินค่อนข้างสูง เพราะราคาต่อหุ้นอยู่ที่ระดับหลายร้อยบาท บริษัทเหล่านั้นก็มีการพิจารณาแตกมูลค่าที่ตราไว้(พาร์) เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยเข้าถึงได้มากขึ้น

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้สำรวจการซื้อขายหุ้นที่มีการแตกพาร์ในปีนี้ พบว่าบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ขนาดใหญ่ที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจหลังแตกราคาพาร์ คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) และบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) โดย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) เริ่มซื้อขายด้วยราคาพาร์ใหม่วันที่ 24 เมษายน 2561 ราคาปิดวันแรกที่ 58 บาท เพิ่มขึ้น 0.80 บาท จากราคาปิดวันสุดท้ายก่อนแตกพาร์อยู่ที่ 572 บาทและราคาปิดวันที่ 21 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ 47.50 บาท ลดลง 10.50 บาท หรือเปลี่ยน แปลง 18.10% จากราคาปิดวันแรกที่มีการแตกพาร์ MP17-3430-A

ขณะที่ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) เริ่มซื้อขายด้วยราคาพาร์ใหม่วันที่ 13 กรกฎาคม 2561 ราคาปิดวันแรกที่ 33 บาท ลดลง 2.40 บาท จากราคาปิดวันสุดท้ายก่อนแตกพาร์อยู่ที่ 354 บาท และราคาปิดวันที่ 21 ธันวาคม 2561 อยู่ที่ 31.25 บาท ลดลง 1.75 บาท หรือเปลี่ยนแปลง 5.30% จากราคาปิดวันแรกที่มีการแตกพาร์

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)ฯ ให้ความเห็นว่า ราคาหุ้นหลังจากมีการแตกพาร์ส่วนใหญ่เมื่อเทียบอดีตกับปัจจุบันถือว่ามีทิศทางที่เหมือนกัน คือราคาจะปรับขึ้นก่อน และหลังจากนั้นราคาจะลดลง ซึ่งต้องขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ ด้วย โดยที่ผ่านมาหุ้นที่มีการแตกพาร์และหลังจากนั้นมีแนวโน้มที่ดีอย่างต่อเนื่อง คือ  บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (AOT) เนื่อง จากมีผลประกอบการที่ดีและเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง

ในกรณีของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) และบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) ถึงแม้ผลประกอบการยังคงดี แต่หลังจากแตกพาร์มีปริมาณการซื้อขายที่ลดลง และราคาลดลงนั้น เป็นเพราะหลังจากที่เพิ่มสภาพคล่องให้นักลงทุนสามารถเข้าซื้อได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เกิดการเก็งกำไรจากนักลงทุนรายย่อยมากขึ้น ทำให้ราคาผันผวน หากราคาเพิ่มขึ้นก็จะปรับขึ้นแรง แต่หากราคาลดลงก็จะลงแรงด้วยเช่นกัน จึงไม่แปลกใจที่ราคาหุ้นทั้ง 2 บริษัทจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

นายพบชัย ภัทราวิชญ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัสฯ กล่าวว่า แนวโน้ม บจ.ที่จะแตกราคาพาร์ในปี 2562 คาดจะมาจากบริษัทที่มีราคาพาร์อยู่ที่ 5-10 บาท และราคาหุ้นที่เกินหลัก 100 บาท เนื่องจากบริษัทต้องการเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงต้องการให้ราคาหุ้นที่อาจจะดูแพงและสูงเกินไปมีราคาที่ลดลงดึงดูดนักลงทุนให้มีความสนใจเข้ามาซื้อมากขึ้น เพราะการแตกพาร์
จะทำให้ผลตอบแทนใน 1 ช่อง ปรับเพิ่มขึ้น เช่น หากราคาหุ้นอยู่ที่ 100 บาท ปรับขึ้น 0.50 บาท จะเปลี่ยนแปลง 0.5% แต่หากแตกพาร์เหลือ 10 บาท ปรับขึ้น 0.10 บาท จะทำให้การเปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 1.0%

อย่างไรก็ตาม ในภาวะตลาดหุ้นที่ไม่ค่อยดีมากนัก และไม่เอื้อต่อการลงทุน มองว่าการแตกราคาพาร์ ถือเป็นทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เกิดการซื้อง่ายขายคล่อง ซึ่งจะทำให้นักลงทุนเกิดแรงจูงใจเข้ามาซื้อเก็งกำไรมากขึ้น จากปกติราคาหุ้นที่อยู่ในระดับสูงจะซื้อได้ 100-200 หุ้น หลังแตกพาร์จะทำให้ได้หุ้นเพิ่มขึ้นเป็น 1,000-2,000 หุ้น หรือมากกว่านั้นอาจจะถึง 10,000หุ้นได้

ในปี 2561 มีบจ.ที่มีการแตกราคาพาร์จำนวน 10 บริษัท คือ บริษัท ซีพีแอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (CPL) บริษัท ซีโอแอล จำกัด (มหาชน) (COL) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (PTT) บริษัท ศิครินทร์ จำกัด (มหาชน) (SKR) บริษัท เอเชียโฮเต็ล จำกัด (มหาชน) (ASIA) บริษัท ไพลอน จำกัด (มหาชน) (PYLON) บริษัท สยามแก๊ส แอนด์ ปิโตรเคมีคัลส์ จำกัด (มหาชน) (SGP) บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) (KCE) บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTC) และบริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) (JMT)

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,430 วันที่ 27-29 ธันวาคม 2561

595959859