จำนำข้าวปี58ขาดทุนยับ คลังแจงเหตุค่าใช้จ่ายอื้อทั้งดอกเบี้ย-ค่าเช่าโกดัง-ค่าเสื่อม

11 มี.ค. 2559 | 05:00 น.
“ปลัดคลัง” ระบุปิดบัญชีจำนำข้าวปี 58 ผลขาดทุนเพิ่มกว่ารอบก่อนหน้าเฉียด 1 แสนล้าน แจงเหตุมาจากค่าใช้จ่ายต่างๆทั้งดอกเบี้ย ค่าเช่าโกดัง-ค่าเสื่อมและราคาข้าวปรับลดเตรียมเสนอนายกฯตั้งหน่วยงานบริหารสต๊อกข้าว เพิ่มความถี่ในการประชุมเป็นรายไตรมาส หวังปิดตัวเลขทั้งระบบให้แม่นยำขึ้น

[caption id="attachment_36990" align="aligncenter" width="372"] สมชัย สัจจพงษ์  ปลัดกระทรวงการคลัง  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ครั้งที่ 2/2559 สมชัย สัจจพงษ์
ปลัดกระทรวงการคลัง
ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ครั้งที่ 2/2559[/caption]

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว ครั้งที่ 2/2559 เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการได้สรุปตัวเลขผลขาดทุนจากการดำเนินโครงการจำนำข้าวเปลือกทั้งหมด (ตั้งแต่ปี 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2557 รวมทั้งหมด 15 โครงการ)แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยตัวเลขเบื้องต้น เนื่องจากต้องทำรายงานเสนอพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)อย่างเป็นทางการก่อน โดยยอมรับว่าหลังจากปิดบัญชีโครงการเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 ความเสียหายเพิ่มมากว่าครั้งก่อนหน้า (ที่ระดับ 6.8 แสนล้านบาท)

อย่างไรก็ดี คาดว่าผลขาดทุนไม่น่าจะถึง 1แสนล้านบาท สำหรับตัวเลข ผลการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าวที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลจากปัจจัยอัตราดอกเบี้ย ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการข้าว ค่าเช่าโกดังสำหรับจัดเก็บข้าว รวมถึงค่าเสื่อมราคาที่ลดลงอยู่ที่เฉลี่ย 5% ต่อปี ที่สำคัญราคาขายข้าวที่ปรับตัวลดลง

"ผลขาดทุนที่เพิ่มนั้นมาจากค่าใช้จ่ายต่างๆ และยอมรับว่าปริมาณข้าวในสต๊อคมีคุณภาพเสื่อมลงและการระบายข้าวในปริมาณมากหลายแสนตันนั้นไม่สามารถได้ได้ง่าย ซึ่งที่ประชุมมีการเสนออุปสรรคในการปิดบัญชีเยอะมาก แต่ยืนยันปริมาณข้าวไม่ได้หายตามกระแสข่าว"

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการพูดคุยถึงการบริหารฐานข้อมูลเพื่อใช้ในการปิดบัญชีรวมถึงการบริหารสต๊อคข้าวทั้งระบบให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมการเตรียมที่จะเสนอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานดูแลฐานข้อมูลหลักที่ใช้ในการปิดบัญชีข้าวเพื่อให้สามารถปิดบัญชีตามฤดูกาลหรือปีงบประมาณโดยอนาคตจะต้องมีการประชุมเป็นรายไตรมาสเพื่อติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดแทนที่จะจัดให้มีการประชุมปีละครั้ง สำหรับแนวทางภายหลังปิดบัญชีนั้น ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้เสนอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณชดเชยภายใน 4 ปี ซึ่งสำนักงบประมาณไม่ขัดข้องโดยการชดใช้คืนนั้นต้องขึ้นอยู่กับสภาพคล่องของรัฐบาล ขณะเดียวกันกรณีเรียกคืนความเสียหายนั้น ต้องติดตามคณะตรวจสอบรับผิดทางแพ่ง ซึ่งมีนายมนัส แจ่มเวหา อธิบดรีกรมบัญชีกลาง เป็นประธาน

อนึ่งที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการฯประสบปัญหาการเข้าถึงข้อมูลและเอกสารเกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าว ทำให้การปิดบัญชีล่าช้ากว่ากำหนดจากเดิมที่ต้องแล้วเสร็จตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 สำหรับการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่30 กันยายน 2557 มีผลขาดทุนเกือบ 7 แสนล้านบาท แบ่งเป็นโครงการรัฐบาลก่อนๆรวม 11โครงการผลขาดทุนประมาณ 1.63 แสนล้านบาทและสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์อีก 4โครงการขาดทุน 5.36 แสนล้านบาท

นอกจากนี้ทางคณะกรรมการต้องอิงข้อมูล ตามชุดคณะกรรมการสอบละเมิด ซึ่งจะใช้ตัวเลขจากการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นทีมจากสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการ ทั้งตัวเลขความเสียหาย หลักฐานทางบัญชี ตัดค่าเสื่อมของคุณภาพข้าว ซึ่งอาจเริ่มใช้อิงข้อมูลตั้งแต่เริ่มให้ทำการสอบคดีดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2557 หรือเริ่มตั้งแต่วันที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ดังนั้นข้อมูลท้ายสุดต้องดูว่ากระทรวงพาณิชย์สามารถระบายข้าวที่เหลือได้หมด จะต้องดูว่าวงเงินที่ได้จากการขายข้าวจากโครงการนั้น สามารถขายและได้เงินเป็นจำนวนเท่าไร หักกลบลบหนี้แล้ว เม็ดเงินที่หายไปหลังจากการรับจำนำอยู่ที่เท่าไหร่ก็จะต้องเรียกคืนตามจำนวนเท่านั้น

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559