'บินไทย' คิดหนักเพิ่มทุน 'นกแอร์' !! 'สุเมธ' ยันต้องรอบคอบ ก่อนชงบอร์ดพิจารณา

26 ธ.ค. 2561 | 03:55 น.
ดีดี 'สุเมธ' แจงการบินไทยยังไม่มีข้อสรุปการเพิ่มทุนกว่า 2.5 พันล้านบาท ระลอก 3 ของนกแอร์ เหตุการจะใส่เงินต้องรอบคอบ ทั้งต้องหารือบอร์ดการบินไทยก่อนมีมติ ด้าน 'นกแอร์' หวังเดือน ก.พ. นี้ ระดมทุนรอบใหม่ ช่วยทำให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก



Nok Air HS-DBU
การที่บอร์ดบริษัทสายการบินนกแอร์ฯ ตัดสินใจเพิ่มทุนระลอก 3 โดยจะขอเพิ่มทุนจดทะเบียนจำนวน 908 ล้านบาท ตามสัดส่วนจำนวนหุ้นที่ผู้ถือหุ้นแต่ละรายถืออยู่ (Rights Offering : RO) ในราคาหุ้นละ 2.75 บาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่ 2.5 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นสามัญเพิ่มทุน รวมไปถึงอนุมัติการเพิ่มวงเงินกู้ยืมจาก นางหทัยรัตน์ จุฬางกูร ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในนกแอร์ จากเดิม 500 ล้านบาท เป็น 1 พันล้านบาท อันเป็นกรอบวงเงินการขอกู้เงินสูงสุดที่บอร์ดเคยอนุมัติไว้แล้ว การระดมทุนครั้งล่าสุดไม่ได้เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความคาดหมายแต่อย่างใด

เนื่องจาก "สถานการณ์ของนกแอร์" แม้จะเพิ่มทุนมาแล้ว 2 ครั้ง กู้เงินมาแล้ว 1 รอบ ในตลอด 2 ปีที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ของสายการบินก็ยังไม่พ้นโคม่า เพราะยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาบริษัท มีส่วนของผู้ถือหุ้นตํ่ากว่า 50% ของทุนชำระแล้วได้ โดยงบสิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. 2561 พบว่า บริษัทยังมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบสูงถึง 1,921 ล้านบาท ติดลบเพิ่มขึ้น 378.05% โดยเป็นส่วนติดลบของบริษัทใหญ่ 647.36 ล้านบาท และส่วนได้เสียที่ไม่มีอำนาจควบคุมติดลบอีกจำนวน 1,273.79 ล้านบาท จึงยังคงติดเครื่องหมาย C ใน ตลท. อยู่ ดังนั้น การเพิ่มทุนอีกร่วม 2,500 ล้านบาท จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนในเวลานี้


MP22-3430-B

โดยงานนี้ แม้บอร์ดนกแอร์จะมีมติเรื่องของการเพิ่มทุนดังกล่าว โดยคาดหวังว่าจะดำเนินการเสนอขายหุ้นให้กับผู้ถือหุ้นเดิม และจะได้รับเงินจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือน ก.พ. 2562 ซึ่งจะทำให้นกแอร์มีเงินเพียงพอต่อแผนธุรกิจที่วางไว้ ทั้งการเพิ่มทุนครั้งใหม่นี้ยังจะช่วยทำให้บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นเป็นบวก จากปัจจุบันที่ส่วนติดลบของบริษัทใหญ่ 647.36 ล้านบาท

แต่ในมุมของผู้ลงทุน อย่าง "การบินไทย" ซึ่งถือหุ้นอันดับ 2 ในนกแอร์ อยู่ 21.57% การเพิ่มทุนครั้งนี้ยังคงต้องมีการหารือกันในบอร์ดการบินไทย ว่า จะอุ้มนกแอร์ต่อไปอีกหรือไม่ เพราะในการเพิ่มทุนครั้งแรกเมื่อเดือน พ.ค. 2560 การบินไทยก็ได้ปฏิเสธการเพิ่มทุนที่เกิดขึ้น แต่มาใช้สิทธิในการเพิ่มทุนรอบ 2 เมื่อเดือน ต.ค. 2560 เนื่อง จากการเพิ่มทุนรอบนั้นมีการลดราคาเหลืออยู่ที่ 1.50 บาท/หุ้น รวมถึงมีการล็อบบี้ให้เกิดการเจรจากับกลุ่มจุฬางกูร ที่จะให้การบินไทยเข้ามามีส่วนในการดูแลนกแอร์อย่างใกล้ชิดขึ้น โดยการเปลี่ยนตัว "พาที สารสิน" พ้นจากเก้าอี้ซีอีโอสายการบินนกแอร์

ต่อเรื่องนี้ นายสุเมธ ดำรงชัยธรรม กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า การบินไทยจะตัดสินใจเพิ่มทุนในนกแอร์ในการเพิ่มทุนครั้งใหม่ที่บอร์ดนกแอร์เพิ่งจะมีมติออกมาหรือไม่ การบินไทยยังต้องขอเวลาพิจารณาก่อน เนื่องจากตามกระบวนการจะต้องมีการหารือกับบอร์ดการบินไทยด้วย ว่า จะมีมติในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งในมุมของบอร์ดนกแอร์ก็มองถึงความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มทุน แต่ในมุมของการบินไทย ซึ่งเป็นผู้ลงทุน ก็ต้องรอบคอบในการตัดสินใจว่าจะเพิ่มทุนหรือไม่ หรือ ถ้าเพิ่มควรจะเพิ่มในสัดส่วนเท่าไหร่ โดยการบินไทยต้องใช้เวลาในการคิดเรื่องนี้


TO__0208

สถานการณ์ของนกแอร์ ไม่เพียงต้องเผชิญกับส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบเท่านั้น แต่การดำเนินธุรกิจของนกแอร์ยังประสบปัญหาการขาดทุนต่อเนื่องติดต่อกันกว่า 5 ปีแล้ว โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 ขาดทุนอยู่ที่ 1.96 พันล้านบาท ซึ่งเป็นผลกระทบจากต้นทุนนํ้ามันที่เพิ่มสูงขึ้น การแข่งขันตัดราคาในธุรกิจการบิน การชะลอตัวของนักท่องเที่ยวจีน การบริหารต้นทุน การเพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินที่ยังทำได้ไม่ดีนัก เบ็ดเสร็จตั้งแต่ปี 2557 ขาดทุนสะสมมากถึง 7,533 ล้านบาทแล้ว

อย่างไรก็ตาม หากนกแอร์ไม่สามารถขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) ได้ครบจำนวน นกแอร์ก็จะมองถึงการหาแหล่งเงินทุนอื่นเพิ่มเติมต่อไป ซึ่งการจะกู้จากสถาบันการเงินก็คงไม่ง่าย ส่วนการกู้จากกลุ่มจุฬางกูร คำถาม คือ "จะแบกกันจนหลังแอ่นต่อไปได้อีกถึงเมื่อไหร่" ดังนั้น นกแอร์ต้องมีความชัดเจนในการจัดทำแผนฟื้นฟูธุรกิจที่มีความมั่นใจว่าจะไปรอดได้มากกว่าที่เป็นอยู่

นายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทจำเป็นต้องเพิ่มทุนในครั้งนี้เพื่อรองรับแผนการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากบริษัทมีแผนปรับปรุงฝูงบินขยายเส้นทางและเครือข่ายการบิน เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในธุรกิจ รวมทั้งลดภาระหนี้ ส่งผลให้บริษัทต้องการเงินทุนหมุนเวียนเพิ่มขึ้น การขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม เป็นวิธีการระดมทุนที่เหมาะสมที่สุดในสถานการณ์ขณะนี้ของบริษัท เนื่องจากบริษัทมีผลการดำเนินธุรกิจที่ขาดทุนและมีส่วนของผู้ถือหุ้นติดลบ


คุณประเวช



หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3430 ระหว่างวันที่ 27 - 29 ธันวาคม 2561



595959859