หวั่นมะกันขึ้นภาษีจีนรอบ 3 ฉุดเศรษฐกิจ-ค้าโลกวูบ! ดับฝันส่งออกไทยปี 62 โต 8%

27 ธ.ค. 2561 | 10:06 น.
ส.อ.ท. ชี้แนวโน้มเป็นไปได้สูงสหรัฐฯ-จีนเปิดศึกขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าตอบโต้กันรอบที่ 3 หลังพักรบ 90 วัน เจรจาไม่เป็นผล สงครามการค้าส่อยื้อ ฉุดเศรษฐกิจ-การค้าโลกดิ่ง ชี้เป้าท้าทายของกระทรวงพาณิชย์โต 8% ยาก เชื่อดีสุดได้แค่ 5-6% จีดีพีไทยโตไม่เกิน 4%

สถานการณ์เศรษฐกิจและการค้าโลกในปี 2562 มีแนวโน้มชะลอตัวจากหลายปัจจัย ที่สำคัญ คือ สงครามการค้าสหรัฐฯ-จีนที่ยังส่อเค้ายืดเยื้อ ความผันผวนของตลาดเงินและตลาดทุนโลก ดอกเบี้ยขาขึ้นกระทบต้นทุนภาคธุรกิจ กระบวนการถอนตัวของอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบรกซิท) กระทบกับเศรษฐกิจ การค้า ค่าเงิน และการเมืองในยุโรป ราคานํ้ามันดิบยังมีแนวโน้มผันผวน ความตึงเครียดและความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เป็นต้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยในการให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงทิศทางภาพรวมเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ว่า จากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ประเมินเศรษฐกิจโลกในปีหน้าจะขยายตัวได้ที่ 3.7% เช่นเดียวกับปี 2561 (ก่อนหน้านี้เมื่อเดือ ก.ค. 61 คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2561-2562 จะขยายตัวได้ที่ระดับ 3.9%) เนื่องจากการลดลงของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว การเพิ่มขึ้นของมาตรการกีดกันทางการค้า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นตามนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้นของประเทศเศรษฐกิจแกนหลักของโลก แรงส่งที่ลดลงของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยนโยบายการคลังของสหรัฐฯ และการลดลงของความต้องการสินค้าจากประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ ซึ่งจะหักล้างการเติบโตขึ้นของเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา


TP8-3430-A

ขณะที่ ปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกในปี 2562 ที่สำคัญ ประกอบด้วย ผลกระทบทางลบของมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจจีนและเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเกิดใหม่ของเอเชีย ยิ่งไปกว่านั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจของอิหร่านจะอ่อนแอลงจากการกลับมาใช้มาตรการควํ่าบาตรของสหรัฐฯ อีกครั้ง รวมถึงการลดลงอย่างมากของการประมาณการเศรษฐกิจของตุรกีจากความวุ่นวายของสภาพตลาด และภาพรวมเศรษฐกิจที่ซบเซาของเศรษฐกิจขนาดใหญ่ในลาตินอเมริกา (อาร์เจนตินา บราซิล เม็กซิโก) สภาวะทางการเงินที่ตึงตัวมากขึ้นในบางประเทศของโลก การไหลกลับของเงินลงทุนจากตลาดเกิดใหม่ที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ หนี้สาธารณะและหนี้ภาคเอกชนเข้าใกล้ระดับสูงสุดในหลายประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะสร้างความเปราะบางให้กับระบบเศรษฐกิจ บั่นทอนความเชื่อมั่น และสร้างความอ่อนแอให้กับการลงทุน

 

[caption id="attachment_367058" align="aligncenter" width="503"] สุพันธุ์ มงคลสุธี สุพันธุ์ มงคลสุธี[/caption]

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562 คาดจะขยายตัวได้ต่อเนื่องตามแรงส่งของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การลงทุนภาครัฐ รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ เป็นต้น ขณะที่ ภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ที่เติบโตได้ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความเชื่อมั่นที่ลดลงของนักท่องเที่ยวจีนอยู่บ้าง

ด้าน ภาคการส่งออก ประเมินว่าจะขยายตัวแต่เป็นในอัตราที่จะชะลอลงจากปี 2561 ตามภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าและเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางการเติบโตที่ลดลง จากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่สร้างอุปสรรคให้กับการเติบโตของเศรษฐกิจโลก บั่นทอนความเชื่อมั่นของตลาดการเงินและความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจ ยิ่งไปกว่านั้น มีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะมีการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มในรอบที่ 3 ซึ่งจะกระทบกับการส่งออกของไทยมากกว่า 2 รอบที่ผ่านมา เรื่องข้อตกลงการค้าภายใต้กรอบ USMCA (ที่จะมาใช้แทนนาฟต้า) จะมีผลกระทบกับการส่งออกรถยนต์ของไทยในระยะข้างหน้า รวมถึงการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้าส่งออกไทยจากสหรัฐฯ อีก 11 รายการ ที่มีผลบังคับใช้แล้วจะเห็นผลกระทบชัดเจนมากขึ้นในปี 2562 ซึ่งจะทำให้เป้าหมายการส่งออกปี 2562 ของกระทรวงพาณิชย์ขยายตัวที่ 8% มีความท้าทายเป็นอย่างยิ่ง ขณะที่ ไอเอ็มเอฟได้ปรับลดคาดการณ์ตัวเลขปริมาณการค้าของโลก โดยระบุว่า ตัวเลขการค้าในด้านตัวสินค้าและบริการน่าจะขยายตัว 4.2% ในปี 2561 และลดเหลือ 4.0% ในปีหน้า

"ในปีหน้ามีความเป็นไปได้ที่จะมีการเก็บภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนรอบที่ 3 หากการพักรบชั่วคราว 90 วัน เจรจาไม่เป็นผล รวมถึงผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ดังนั้น การส่งออกไทยปี 2562 อาจจะโตได้ที่ 5-6% ขณะที่ จีดีพีของไทยมีโอกาสขยายตัวได้ตํ่าไม่เกิน 4% ซึ่งต้องติดตามปัจจัยต่าง ๆ อย่างใกล้ชิด"

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,430 วันที่ 27-29 ธันวาคม 2561

595959859