health-efficiency index ชี้สุขภาพไทยแจ๋ว ค่าใช้จ่ายน้อย คนอายุยืนมากขึ้น

28 ธ.ค. 2561 | 09:13 น.
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ medical tourism industry ของไทยนั้นเป็นอุตสาหกรรมที่มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วมากที่สุดแขนงหนึ่งเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมด้านอื่นๆ สะท้อนถึงศักยภาพของไทยทั้งในส่วนของธุรกิจการแพทย์ โรงพยาบาล และการท่องเที่ยวที่เกี่ยวเนื่องกับการพักผ่อน-สันทนาการผสานกับการบำบัดรักษาโรคและการดูแลสุขภาพ แต่ข่าวดียิ่งไปกว่านั้นที่ควบคู่มากับเรื่องนี้ก็คือ “ดัชนีประสิทธิภาพด้านสุขภาพ” หรือ health-efficiency index ของประเทศไทยในปี 2561 นี้ พุ่งขึ้นมาเป็นอัน ดับ 27 ของโลก โดยเป็นการก้าวหน้าขึ้นถึง 14 อันดับเมื่อเทียบกับปีที่แล้วที่ไทยอยู่ในอันดับที่ 41 คะแนนเฉลี่ยประสิทธิภาพด้านสุขภาพของไทย (efficiency score) อยู่ที่ 51.9 สะท้อนการใช้ทรัพยากรน้อยแต่ได้ผลลัพธ์มาก เหนือกว่าหลายประเทศทั้งในโลกตะวันตกและในแถบเอเชียด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเนเธอร์แลนด์ (50.8) มาเลเซีย (50.4) อังกฤษ (46.3) เบลเยียม (44.8) เดนมาร์ก (42.4) เยอรมนี (38.3) หรือแม้แต่สหรัฐอเมริกาที่ได้ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพด้านสุขภาพที่ระดับ 29.6 เท่านั้น เพราะแม้หลายประเทศจะมีการใช้จ่ายด้านสุขภาพในอัตราสูงแต่ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรกลับลดลงหรือประชากรมีอายุยืนน้อยกว่าประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อคนต่อปีน้อยกว่า

ใช้จ่ายด้านสุขภาพน้อยลง แต่คนอายุยืนมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยนั้น ในปี 2561 มีการใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่อคนต่อปีลดลง 40% มาอยู่ที่เฉลี่ยคนละ 219 ดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 7,200 บาท) ขณะที่ค่าเฉลี่ยอายุขัยของประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 75.1 ปี นับเป็นประเทศที่มีการไต่อันดับสูงขึ้นมากที่สุดในปีนี้เมื่อเทียบกับอีกกว่า 100 ประเทศทั่วโลก (บลูมเบิร์กทำการสำรวจข้อมูลในเกือบๆ 200 ประเทศทั่วโลก และแสดงผลประเทศที่อยู่ในอันดับ 56 ประเทศ)

med1 ประเทศที่อยู่ใน Top 10 หรือ 10 ประเทศแรกที่มีดัชนีประสิทธิภาพด้านสุขภาพสูงที่สุดในการจัดอันดับปี 2561 นี้ เรียงตามอันดับ 1-10 ได้แก่ 1. ฮ่องกง (ค่าเฉลี่ยประสิทธิภาพด้านสุขภาพ 87.3 อายุขัยเฉลี่ย 84.3) 2. สิงคโปร์ (85.6/82.7) 3. สเปน (69.3/82.8) 4. อิตาลี (67.6/82.5) 5. เกาหลีใต้ (67.4/82.0) 6. อิสราเอล (67.0/82.0) 7.ญี่ปุ่น (64.3/83.8) 8.ออสเตรเลีย (62.0/82.4) 9. ไต้หวัน (60.8/79.7) และ 10. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) (59.7/77.1)

ในบรรดาประเทศที่อยู่ใน 10 อันดับแรกนั้น มี 3 ประเทศที่อันดับประสิทธิภาพด้านสุขภาพลดลงคือ เกาหลีใต้ตกลง 1 อันดับจากอันดับ 4 ในปีที่แล้วมาอยู่อันดับ 5 ในปีนี้ ขณะที่ญี่ปุ่นหล่นลง 2 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 7 และยูเออีหล่นลง 1 อันดับมาอยู่ที่อันดับ 10  (ดังตารางประกอบ)

TP10-4330-A สำหรับประเทศที่ทางบลูมเบิร์กนำมาจัดเข้าอันดับดัชนีประสิทธิภาพ ด้านสุขภาพนั้น พิจารณาจากหลายตัวแปรประกอบกัน คือต้องเป็นประเทศที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยอย่างน้อย 70 ปี ต้องมีจีดีพี/คน/ปี 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯขึ้นไป และต้องมีจำนวนประชากรในประเทศอย่างน้อย 5 ล้านคน

บางประเทศอาจมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรต่อคนต่อปีมูลค่าสูง แต่นั่นก็ไม่ได้สะท้อนว่าประชากรของประเทศนั้นๆ จะมีอายุยืนยาวมากที่สุด ยกตัวอย่างสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ/คน/ปีมากที่สุดเป็นอันดับ 2 คือคนละ 9,536 ดอลลาร์/ปี รองจากสวิตเซอร์แลนด์ที่มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 9,818 ดอลลาร์/ปี แต่เมื่อพิจารณาดูจะเห็นว่า ค่าใช้จ่ายที่ห่างกันอยู่ 282 ดอลลาร์นั้น ทำให้คน สวิสมีอายุขัยเฉลี่ยมากกว่าคนอเมริกันเพียง 4.2 ปี (คนสวิสอายุขัยเฉลี่ย 82.9 ปี คนอเมริกันอายุขัยเฉลี่ย 79 ปีแต่สหรัฐฯได้คะแนนเฉลี่ยประสิทธิภาพด้านสุขภาพเพียง 29.6 ขณะที่สวิตเซอร์แลนด์ได้คะแนน 58.4) และขณะเดียวกันก็มีประเทศอื่นๆอีกมากกว่า 25 ประเทศที่ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยหรือมีอายุยืนยาวกว่าคนอเมริกัน ยกตัวอย่างเช่น ไต้หวัน มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเฉลี่ย/คน/ปีที่ 1,401 ดอลลาร์ แต่อายุขัยเฉลี่ยประชากรอยู่ที่ 79.7 ปี เกาหลีใต้ 2,013 ดอลลาร์/คน/ปี อายุขัยเฉลี่ย 82 ปี สิงคโปร์ 2,280 ดอลลาร์/คน/ปี อายุขัยเฉลี่ย 82.7 ปี และอังกฤษ 4,356 ดอลลาร์/คน/ปี อายุขัยเฉลี่ย 81 ปี เป็นต้น

ปัจจัยทางเศรษฐกิจตัวแปรสำคัญ

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพี พบว่าสหรัฐฯนั้นแม้จะใช้จ่ายด้านสุขภาพมาก กว่าสาธารณรัฐเช็กมากกว่า 2 เท่า (สหรัฐฯใช้จ่ายด้านสุขภาพคิดเป็น สัดส่วน 16.8% ของจีดีพี ขณะที่สาธารณรัฐเช็กสัดส่วนอยู่ที่ 7.3%) แต่อายุขัยเฉลี่ยของประชากรนั้นกลับอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน (78.7 และ 78.6 ปีตามลำดับ) การวิจัยยังพบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชากรชาวอเมริกันมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อไปในอนาคต โดยคาดว่าน่าจะขยับขึ้นเป็น 18% ของจีดีพีในเร็ววัน

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นข้อมูลล่าสุดถึงปี 2015 หรือพ.ศ. 2558 เท่านั้น เนื่องจากเป็นข้อมูลล่าสุดเท่าที่มีของประเทศส่วนใหญ่ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เก็บสถิติข้อมูล ดังนั้นอันดับของสหรัฐฯจึงเป็นการสะท้อนประสิทธิภาพของระบบประกันสุขภาพของรัฐบาลชุดก่อนที่เรียกว่า “โอบามาแคร์” และข้อมูลของประเทศอังกฤษ ก็เป็นชุดสถิติที่มีขึ้นก่อนที่จะมีการลงคะแนนประชามติถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (เบร็กซิท) รายงานระบุว่า  ทั้งค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพด้านสุขภาพของอังกฤษที่หล่นอันดับ Top 10 เป็นประเด็นที่ชาวอังกฤษให้ความสำคัญและอาจจะมีผลต่อการลงมติเบร็กซิทที่ผ่านมา  ส่วนประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ที่ติดอันดับ Top 10 ในการจัดอันดับปีนี้ได้แก่  สเปน (อันดับ 3) และอิตาลี (อันดับ 4) ซึ่งจากการวิจัยของบลูมเบิร์กอีกชิ้นหนึ่งในปีนี้ พบว่า อิตาลีได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งในประเทศที่ประชากรสุขภาพดีที่สุดในโลก (The world’s healthiest country) ด้วย อย่างไรก็ตาม อันดับดัชนีประสิทธิภาพด้านสุขภาพนั้นสามารถมีการเปลี่ยนแปลงได้มากเมื่อเทียบกันปีต่อปีเนื่องจากมีปัจจัยที่เป็นตัวแปรมากมาย อาทิ การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย การผันผวนของค่าเงิน และรูปแบบการใช้จ่ายของประชากรที่ไม่แน่นอน

รายงาน |  หน้า 10 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,430 ระหว่างวันที่ 27-29 ธันวาคม 2561

595959859