"ผู้เชี่ยวชาญดิจิทัล-สื่ออิสระ" หนุนประมูลคลื่น 5G เยียวยา "ทีวีดิจิทัล"

25 ธ.ค. 2561 | 07:03 น.
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิทัลและในฐานะอดีตรองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้กล่าวเริ่มในการอภิปรายในหลักสูตรการบริหารจัดการด้านความมั่นคงชั้นสูง รุ่นที่ 10 จากสมาคมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในหัวข้อ "สื่อกับผลกระทบต่อความมั่นคงของสังคมไทย" โดยมีผู้เข้าร่วมการอบรมประกอบด้วย ศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสากิจ และภาคเอกชน/องค์กรอิสระ ที่ไม่ใช่ศิษย์เก่าวิทยาลัยป้องกันราช อาณาจักร รวมจำนวนนักศึกษาทั้งสิ้น 150 คน ว่า การเปลี่ยนแปลงธุรกิจในยุค 5G ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้น ไม่เหมือนการเปลี่ยนแปลงในยุค 1G-4G เลยแม้แต่น้อย ซึ่งเทคโนโลยี 5G นั้น เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนเทคโนโลยีอื่น ๆ ให้มีการประสานการทำงานร่วมกันจนเกิดพลังที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงกำลังจะเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดดบนแพลตฟอร์มอินเตอร์เน็ตและเข้าถึงคนยุคใหม่ ซึ่งอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่และสมาร์ทโฟนกำลังจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีราคาถูกลงอย่างเห็นได้ชัด โดยสามารถรับชมวิดีโอคอนเทนท์ได้แบบอินเตอร์แรคทีฟด้วยประสิทธิภาพสูงผ่านโซเชียลมีเดียอย่างเต็มรูปแบบ แต่สื่อแบบดั้งเดิมกำลังถูกทำลายล้าง

S__17465462
พร้อมกับเสนอทางออกด้วยว่า การแก้ปัญหานั้นสามารถทำได้ โดยแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ อย่างไรก็ตาม ที่มีความพยายามออกประกาศ กสทช. เรื่องของการปรับปรุงการจัดสรรขึ้นความถี่ใหม่ในย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อจะได้นำเอาเงินประมูลคลื่นความถี่ในย่าน 700 เมกะเฮิรตซ์ มาช่วยเยียวยาปัญหาดิจิตอลทีวีที่เกิดขึ้นนั้น ตนเห็นด้วย แต่ก็ยังมีข้อโต้แย้งกันอยู่ว่า พ.ร.บ.ฯ ไม่ได้ให้อำนาจ กสทช. อย่างชัดเจน เพราะใน พ.ร.บ. ได้เขียนไว้ว่า เงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่จะต้องนำเข้ารัฐทั้งหมด ตนจึงคิดว่า มีทางออกที่เป็นรูปธรรมและเป็นระบบ โดยการแก้ไขกฎหมายในระดับ พ.ร.บ. ซึ่งสามารถทำได้ ถ้าทุกคนมีความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดและยอมรับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกาและอีกหลายประเทศ ด้วยการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายในการแก้ปัญหาทั้งสิ้น

ด้าน นายสุภาพ คลี่ขจาย สื่อมวลชนอิสระ ได้ให้ข้อมูลว่า สื่อดั้งเดิมกำลังจะประสพปัญหาหนัก ไม่ว่าจะเป็น หนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ ยกตัวอย่างเช่น ทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ที่ประมูลโดย กสทช. ขาดทุนกันเกือบทุกช่อง จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ภาครัฐจะต้องลงมาดูแล ซึ่งในวงการสื่อก็ได้มีการพูดถึงแนวทางในการแก้ปัญหา โดยอาจจะใช้รายได้จากการประมูลคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ มาช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัล 24 ช่อง ให้เดินต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม วิกฤตธุรกิจสื่อได้เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และมารุนแรงหนักมากหลังจากที่มีการประมูลดิจิตอลทีวี 24 ช่อง จนมีการเลิกจ้างงานมากมาย จนทำให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า หัวหน้าครอบครัว 1 คน ที่ถูกเลิกจ้างงาน กลับบ้านไปก็ต้องพบกับสมาชิกครอบครัวของตัวเองที่ต้องดูแลอีกหลายคน ซึ่งเป็นภาพที่น่าเศร้าใจมาก และการทำลายล้างสื่อดั้งเดิมที่เกิดขึ้นที่ผ่านมานั้น ถือว่าเป็นการเริ่มต้นเท่านั้น ซึ่งการทำลายล้างสื่อดั้งเดิมอย่างราบคาบกำลังจะเกิดขึ้นให้เห็นชัดในยุค 5G ซึ่งยังมีความหวังว่า กสทช. จะลงมาจัดการในเรื่องนี้ได้

595959859