การเคลื่อนย้ายแรงงานภายในอาเซียน กรณีอาชีพวิศวกร

26 ธ.ค. 2561 | 04:30 น.
ความโดดเด่นหนึ่งของการรวมกลุ่มเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) นั้น คือ การเปิดเสรีด้านการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือภายในกลุ่มประเทศอาเซียน ใน 8 กลุ่มสาขาอาชีพ ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ นักบัญชี วิศวกร สถาปนิก พยาบาล นักสำรวจ และการบริการ/การท่องเที่ยว ภายใต้ข้อตกลงยอมรับร่วมในคุณสมบัติของนักวิชาชีพอาเซียน (Mutual Recognition Arrangements: MRAs) ซึ่งข้อตกลงนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีทักษะ (Skilled workers) อย่างเสรีภายในกลุ่มประเทศอาเซียน

กลุ่มวิชาชีพวิศวกรรม เป็นวิชาชีพแรกที่ได้มีการทำข้อตกลงยอมรับร่วมของอาเซียนด้านบริการวิศวกรรม (ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Engineering Service) โดยได้มีการลงนามตั้งแต่ ปี 2005 เพื่อเปิดโอกาสให้วิศวกรที่อยู่ในกลุ่มประเทศอาเซียนสามารถขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรวิชาชีพอาเซียน (ASEAN Chartered Professional Engineer: ACPE) และสามารถที่จะทำงานในประเทศอาเซียนอื่นได้

อย่างไรก็ตาม จำนวนวิศวกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรวิชาชีพอาเซียนนั้น มีจำนวนน้อยมาก โดยจากข้อมูลล่าสุด ณ เดือนธันวาคม 2018 พบว่า มีวิศวกรที่ขึ้นทะเบียนเป็นวิศวกรวิชาชีพอาเซียนทั้งหมดทั่วภูมิภาค จำนวน 3,350 คน หากพิจารณาแยกตามรายประเทศ อินโดนีเซียมีจำนวนการขึ้นทะเบียนสูงที่สุด คือ 1,069 คน ขณะที่ไทยมีจำนวนการขึ้นทะเบียนเพียง 217 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนวิศวกรทั้งหมดในประเทศไทย (ตารางที่ 1)

TP7-3430-A
ดังนั้น จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจว่า เหตุใดวิศวกรไทยจึงมีความสนใจที่จะใช้ประโยชน์จากข้อตกลงดังกล่าวในการที่จะเคลื่อนย้ายไปทำงานยังประเทศอื่นๆ ในกลุ่มอาเซียน อยู่ในระดับค่อนข้างตํ่า ผู้เขียนได้ทำการศึกษาประเด็นนี้ในบทความชื่อ “Will ASEAN Mutual Recognition Arrangements Induce Skilled Workers to Move? A Case Study of the Engineering Labor Market in Thailand” (Paweenawat and Vechbanyongratana 2019) ซึ่งงานวิจัยนี้ศึกษาถึงประเด็นการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมืออย่างเสรีในกลุ่มประเทศอาเซียน กรณีศึกษาตลาดแรงงานวิศวกรในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติระหว่างปี 2007-2009 ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทุกสาขา ในประเทศไทย จำนวน 49,021 คน

ผลการศึกษาสถานการณ์ตลาดแรงงานวิศวกรในประเทศไทยในเบื้องต้น พบว่า ผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์มีการทำงานตรงตามสาขาที่สำเร็จการศึกษาถึง 31% เมื่อเทียบกับผู้สำเร็จการศึกษาด้าน STEM [Science (วิทยาศาสตร์) Technology (เทคโนโลยี) Engineering (วิศวกรรมศาสตร์) และ Mathematics (คณิตศาสตร์)] มีการทำงานตรงตามสาขาเพียง 17% เท่านั้น

โดยโอกาสความน่าจะเป็นไปได้ (Probability) ของผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในการหางานทำให้ตรงตามสาขาที่สำเร็จการศึกษามาอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับผู้สำเร็จการศึกษาสาขาอื่นๆ ซึ่งโอกาสการหางานนี้ ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผู้สำเร็จการศึกษาผู้หญิงและผู้ชาย อย่างไรก็ตาม ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรีและผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีโอกาสหางานทำได้สูงกว่าผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีและผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตภูมิภาค

ผลการศึกษายังพบอีกว่า อัตราผลตอบแทนทางการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์อยู่ในระดับที่สูงมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากผู้สำเร็จการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ สามารถทำงานในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ได้นั้น (Matching between Engineering degrees and Engineering jobs) จะมี Wage Premium อยู่ที่ 42% เมื่อเทียบกับผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาอื่นและทำงานในสาขาอื่น (Non-engineering graduates in non-engineering jobs)

โดย Wage Premium ของผู้สำเร็จการศึกษาในระดับการศึกษาที่สูงกว่าปริญญาตรีอยู่ที่ 27% และอัตราผลตอบแทนดังกล่าวไม่มีความแตกต่างกันระหว่างผู้สำเร็จการศึกษาผู้หญิงและผู้ชาย นอกจากนั้นแล้ว เงินเดือนโดยเฉลี่ยของวิศวกรในประเทศไทยอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอาชีพอื่นๆ ในตลาดแรงงานไทย และเมื่อเทียบกับวิศวกรในกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ นั้น พบว่า ไทยเป็นรองเพียงแค่วิศวกรในประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์เท่านั้น (รูปที่ 2)

โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ของตลาดแรงงานวิศวกรในประเทศไทยในปัจจุบัน ทั้งในเรื่องโอกาสการหางานทำภายในประเทศและอัตราผลตอบแทนทางการศึกษาที่ค่อนข้างสูงนั้น เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้วิศวกรไทยมีแรงจูงใจที่จะเคลื่อนย้ายไปทำงานในประเทศกลุ่มอาเซียนค่อนข้างตํ่า นอกเหนือจากปัจจัยข้อจำกัดด้านอื่นๆ เช่น ข้อกำหนดการทำงานในฐานะวิศวกรวิชาชีพอาเซียน ซึ่งนอกจากต้องทำตามกฎเกณฑ์ของประเทศนั้นๆ แล้ว วิศวกรไทยยังไม่สามารถที่จะทำงานโดยลำพังได้แต่ต้องทำงานร่วมกับวิศวกรของประเทศนั้นๆ ข้อจำกัดด้านภาษา รวมถึง ต้นทุนทางด้านจิตใจที่เกิดขึ้นจากการไปทำงานยังต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ตลาดแรงงานวิศวกรในประเทศไทยดังกล่าว แม้จะไม่สร้างแรงจูงใจให้วิศวกรไทยไปทำงานยังประเทศอาเซียนอื่นๆ แต่อาจสร้างแรงจูงใจให้วิศวกรจากประเทศอาเซียนอื่นๆ ย้ายเข้ามาทำงานในประเทศไทย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันในตลาดแรงงานวิศวกรที่สูงขึ้น ดังนั้น วิศวกรไทยจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถที่จะแข่งขันในตลาดแรงงานได้ โดยภาครัฐและสถาบันการศึกษาควรพิจารณาแนวทางการเตรียมพร้อมให้กับวิศวกรไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในสภาวะตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ด้วย

TP7-3430-B
หมายเหตุ – บทความนี้เป็นการสรุปจากบทความวิจัยของ ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ และ ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ดังต่อไปนี้

Paweenawat, Sasiwimon W. and Vechbanyongratana, Jessica. “Will ASEAN Mutual Recognition Arrangements Induce Skilled Workers to Move? A Case Study of the Engineering Labor Market in Thailand,” In: Asian Development Bank (ADB) Publication. Skilled Labour Mobility and Migration: Challenges and Opportunities for the ASEAN Economic Community. Edward Elgar Publishing (Forthcoming 2019)

 

เอกสารอ้างอิง

JETRO. 2013. The 23rd Survey of Investment Related Costs in Asia and Oceania (FY 2012 survey). JETRO Report. https://www.jetro.go.jp/en/reports/survey/pdf/2013_05_01_biz.pdf.

เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ

โดย ผศ.ดร.เจสสิกา เวชบรรยงรัตน์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3430 ระหว่างวันที่ 27 - 29 ธันวาคม 2561

595959859