ปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ยังเผชิญโจทย์กดกำไร

24 ธ.ค. 2561 | 11:52 น.
ปี 2561 นับเป็นอีกปีที่สถานการณ์ธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีหลายประเด็นให้ติดตามตลอดทั้งปี เพราะแม้จะมีความท้าทายสำคัญจากผลกระทบของรายได้ค่าธรรมเนียมที่หดตัวลง หลังการปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนผ่านช่องทางดิจิทัล แต่ก็มีภาพด้านบวกเข้ามาช่วยชดเชยจากการเติบโตของสินเชื่อที่มีโอกาสจะจบปี 2561 ด้วยอัตราการเติบโตที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ 6.0% โดยมีแรงหนุนสำคัญจากการเร่งตัวขึ้นของสินเชื่อรายย่อยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี

อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า มีหลายโจทย์สำคัญที่รออยู่ในช่วงปี 2562 ซึ่งท้าทายความสามารถในการทำกำไรของธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีโอกาสขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงกว่าในปี 2561 ซึ่งน่าจะมีผลจำกัดกรอบการเติบโตของสินเชื่อในภาพรวมไว้ที่ประมาณ 4.0-6.0% และทำให้ยังต้องติดตามประเด็นด้านคุณภาพสินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจจะทยอยปรับตัวขึ้นในระหว่างปี 2562 ภายใต้เงื่อนไขการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ นอกจากนี้การทยอยเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลในช่วงปี 2562 นั้น อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมรับมือกับโจทย์การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน การขยายฐานลูกค้า และสร้างรายได้ใหม่ๆ จากแพลตฟอร์มที่มี ควบคู่ไปกับการจับมือกับพันธมิตรและพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การให้บริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและลูกค้าธุรกิจ เนื่องเพราะผู้ประกอบการกลุ่มFinTech และกลุ่ม e-commerce ซึ่งสามารถปรับใช้เทคโนโลยีต้องสนองความต้องการบริการทางการเงินของผู้บริโภคด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าและมีวามคล่องตัวกว่า

595959859 แนวโน้มสินเชื่อปี 2562 เติบโตชะลอลงมาที่ 5.0% ตามภาวะเศรษฐกิจ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปี 2562 อาจเติบโตประมาณ 5.0% (กรอบคาดการณ์ที่ 4.0-6.0%) ชะลอลงจากที่คาดว่าจะขยายตัว 6.0% ในปี 2561 ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจน่าจะเติบโตประมาณ 4.5% ขยับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์ 4.2% ในปี 2561 โดยมีอานิสงส์หลักจากทิศทางการลงทุนซึ่งถูกคาดหมายว่าจะทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยอาจชะลอลงมาที่ 6.0% ในปี 2562 (จากที่อาจจะขยายตัวได้สูงกว่า 8.5% ในปี 2561) เนื่องจากสินเชื่อบ้านและสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันกว่า 70% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อย น่าจะเผชิญปัจจัยที่เป็นข้อจำกัดการเติบโต โดยการเร่งตัวของกิจกรรมในตลาดอสังหาริมทรัพย์ก่อนที่เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเม.ย. 2562 อาจหนุนให้สินเชื่อบ้านยังเติบโตสูงต่อเนื่องในไตรมาส 1/2562 ที่ประมาณ 7.5-8.0% เทียบช่วงเดียวกันของปี ก่อนที่จะชะลอลงในช่วงที่เหลือซึ่งทั้งปีน่าจะเติบโตได้ประมาณ 5.0% (เทียบกับที่คาดว่าจะเติบโต 7.0% ในปี 2561) ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์อาจจะขยายตัวชะลอลงมาที่ 5.5% (จากที่น่าจะเติบโตด้วยตัวเลขสองหลักในปี 2561) ตามยอดขายรถยนต์ที่น่าจะหดตัวลงในปี 2562 เมื่อเทียบกับยอดขายที่สูงกว่า 1 ล้านคันในปี 2561 อย่างไรก็ดี แรงผลักดันจากแคมเปญและการนำเสนอโปรโมชันพิเศษ น่าจะช่วยให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ยังเติบโตได้ต่อเนื่องในปี 2562 ที่ประมาณ 7.0%
สินเชื่อด้อยคุณภาพ ยังเป็นประเด็นที่ติดตามต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ในช่วงที่ารฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอน และจังหวะอัตราดอกเบี้ยในประเทศอาจทยอยขยับขึ้น เรื่องคุณภาพสินเชื่อยังเป็นประเด็นที่ต้องติตาม โดยคาดว่าสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวม(NPL)อาจขยับไปที่ 2.98%,ในช่วงปลายปีจากระดับ 2.91%ณ สิ้นปี2561ซึ่งยังต้องจับตาเป็นพิเศษทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีและบ้านซึ่งอาจจะขยับขึ้นไปแตะ 3.42%และ 3.70%ตามลำดับ ดังนั้น คาดว่าจะเห็นธนาคารพาณิชย์ยังคงต้องดูแลปัญหาคุณภาพสินเชื่อในเชิงรุกอย่างต่อเนื่องในปี 2562 ทั้งในกระบวนการติดตามดูแลลูกค้า การปรับโครงสร้างหนี้ รวมถึงการแก้ไขเมื่อลูกหนี้เผชิญปัญหาและไม่มีศักยภาพในการหารายได้มาชำระคืนหนี้ ขณะที่ธนาคารต้องมีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ไม่น้อยไปกว่าปี 2561 มากนัก ซึ่งทำให้มองว่า สัดส่วนค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อ (Credit Cost) ที่สะท้อนค่าความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อในปี 2562 อาจจะมีโอกาสทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2561 ประกอบกับธนาคารพาณิชย์ยังต้องเตรียมความพร้อมรองรับกฎเกณฑ์ของทางการที่จะทยอยใช้ในปี 2562 ทั้งในเรื่องมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และมาตรฐานเงินกองทุนตามหลักเกณฑ์ Basel III ตลอดจนมาตรฐานบัญชีใหม่ (IFRS 9) ในปี 2563 ด้วยเช่นกัน

แนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นการทั่วไปของธนาคารพาณิย์...คงรอจังหวะที่เหมาะสมสอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจ และการปล่อยสินเชื่อ

นอกจากนี้ เชื่อว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ยังมีโอกาสปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้อีกอย่างน้อย 1 ครั้งในระหว่างปี 2562 หากเศรษฐกิจไทยสามารถประคองทิศทางการขยายตัวได้ดีขึ้น แต่คาดว่า ธนาคารพาณิย์จะรอพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบงก์เป็นการทั่วไป เพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อลูกค้าและระบบเศรษฐกิจในภาพรวม เนื่องจากสภาพคล่องในระบบธนาคารพาณิชย์ที่ยังมีอยู่มากถึง 3.8 ล้านล้านบาท และธนาคารพาณิชย์โดยรวมยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนทางการเงินได้ โดยจะเริ่มเห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบงก์บางส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 อาทิ อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำพิเศษ และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้บ้านและกู้รถที่มีระยะค่อนข้างยาว ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะช่วยทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ปรับตัวดีขึ้น จากระดับ 3.2%

ที่มา : ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

[caption id="attachment_365443" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]