ควบรวม "TMB-TBANK" บนเงื่อนไขไม่ต่ำกว่า 3.83 บาท

24 ธ.ค. 2561 | 09:56 น.
241261-1645

ระหว่างรอความชัดเจนเรื่องการควบรวมธนาคารทหารไทย (TMB) กับธนาคารธนชาต (TBANK) ซึ่งปัจจุบัน ทีเอ็มบีมีกระทรวงการคลังถือหุ้น 25.92% และกลุ่มไอเอ็นจี 25.02% ส่วนธนชาตมี บมจ.ทุนธนชาต ถือหุ้น 50.92% และธนาคารแห่งโนวาสโกเทีย 48.99% ซึ่งหากควบรวมจริง จะเกิดธนาคารใหม่ที่มีสินทรัพย์ 1.9 ล้านล้านบาท ใหญ่เป็นอันดับ 6 ใกล้เคียงธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ที่เป็นอันดับ 5

กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ ภายใต้เงื่อนไขว่า 1.ในเชิงธุรกิจจะได้สิทธิประโยชน์อะไร 2.ในฐานะผู้ถือหุ้น ประโยชน์ที่จะได้รับในแง่ฐานะธนาคารดีขึ้น เข้มแข็งขึ้น เพื่อดำเนินธุรกิจในอนาคต หรือ ต้นทุนธนาคารลดลง และสุดท้าย จึงดูว่า สัดส่วนที่จะถือในทีเอ็มบีใหม่ควรจะถือเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม


241261-1647

อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ คือ สิทธิภาษีในการควบรวมกิจการ แม้จะมีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ประมวลรัษฎากร (ฉบับที่) พ.ศ. .... หรือ มาตรการเพื่อสนับสนุนการควบรวมธนาคารพาณิชย์ไทย ที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 17 เม.ย. แต่ยกเว้นเฉพาะ 2 บริษัทที่ควบรวมเท่านั้น ไม่รวมถึงบริษัทลูก ซึ่งทางธนชาตต้องการยกเว้นภาษีให้กับบริษัทลูกด้วย


241261-1643

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังได้ยืนยันไปแล้วว่า ไม่สามารถดำเนินการได้หากจะมีการออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นให้เป็นการเฉพาะ เพราะจะเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ก็ไม่สามารถออกประกาศเป็นการทั่วไปเช่นกัน ดังนั้น จึงเสนอแนะให้ไปคิดมูลค่าของบริษัทลูกต่าง ๆ รวมเป็นต้นทุนในการควบรวมครั้งนี้ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจา และยืนยันว่า กรณีนี้ทหารไทยจะเป็นคนเทกโอเวอร์ธนชาต โดยใช้วิธีการแลกหุ้น

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า หลักการขายหุ้นส่วนของกระทรวงการคลังอยู่บนเงื่อนไขว่า ต้องไม่เสียค่าโอกาส เพราะกระทรวงการคลังทยอยเพิ่มทุนในทหารไทยมาอย่างต่อเนื่องและถือหุ้นมานาน ดังนั้น ราคาขายต่อหุ้นจึงไม่ควรต่ำกว่าทุน คือ 3.83 บาทต่อหุ้น ขณะที่ ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ภาษีจากการควบรวม เช่น ค่าใช้จ่ายในการลงทุน หรือ เปลี่ยนแปลงระบบคอมพิวเตอร์ หรือ รื้อถอนอุปกรณ์ และอื่น ๆ


TMB01_-010

แนวคิดการควบรวมดังกล่าวจะมีผลดีต่อระบบในแง่ของขนาดสำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมธนาคาร แต่แนวโน้มการเติบโตสินเชื่อไม่ง่ายนัก เพราะเศรษฐกิจไม่ได้โตมากนักและยังมีกฎเกณฑ์ ทั้งบีไอเอสและมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 นอกจากนั้น โอกาสสร้างกำไรของธนาคารขึ้นกับว่า ต้องพยายามบริหารต้นทุนดอกเบี้ยและบริหารจัดการต้นทุน โดยเฉพาะปัจจุบัน ทุกคนมีต้นทุนที่สูงขึ้นจากการลงทุนพัฒนาดิจิตอล หรือ เทคโนโลยี เพื่อลดต้นทุนในระยะยาว หรือ นำดิจิตอลเข้ามาช่วยมากขึ้น และการหารายได้จากส่วนอื่น เช่น Private Banking เพราะโอกาสที่จะสร้างรายได้จากสินเชื่อน้อยลง

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส (APS) กล่าวกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า อุตสาหกรรมแบงก์มาถึงจุดเปลี่ยน ซึ่งแตกต่างจากธุรกิจดั้งเดิม เป็นยุคของดิจิตอล เทคโนโลยี ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ทำให้ทิศทางของแบงก์โดยรวมจากนี้ เชื่อว่ามีแนวคิดเรื่องการควบรวมอยู่แล้ว และกรณีของทหารไทยและธนชาต เป็นความต้องการของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ธนาคาร ซึ่งหากผู้ถือหุ้นทั้ง 2 ฝ่าย ตัดสินใจกันได้ ก็จะเป็นตัวเร่งภาคอุตสาหกรรมการเงิน

 

[caption id="attachment_365593" align="aligncenter" width="336"] อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส (APS) อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซียพลัส (APS)[/caption]

นอกจากนี้ หากมองเรื่อง "จุดแข็งของทหารไทย" ฐานธุรกิจจะเป็นสินเชื่อรายใหญ่ เอสเอ็มอี และสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่ 'ธนชาต' ฐานลูกค้าส่วนใหญ่เป็นรายย่อยด้านเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกิจ 2 ธนาคารจึงไม่ซ้ำซ้อนกัน ซึ่งมองพื้นฐานธุรกิจ ธนชาติถือว่าค่อนข้างได้เปรียบ เพราะเช่าซื้อรถยนต์ยังเป็นผู้นำตลาด แม้ปีหน้าตลาดเช่าซื้อรถยนต์จะชะลอลง แต่ยังไปได้อยู่ ขณะที่ 'ทหารไทย' จากฐานที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ ทำให้ผลตอบแทนได้ค่อนข้างต่ำกดดันมาร์จินมาอย่างต่อเนื่อง

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดีบีเอสฯ (DBSVTH) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดว่า ดีลนี้จะใช้เวลาในการพิจารณาและมูลค่าหุ้นทางบัญชี หรือ BVS ก็อาจต้องเปลี่ยนแปลงไปจากตัวเลข ณ สิ้นเดือน ก.ย. นี้ เพราะแต่ละธนาคารจะต้องตีมูลค่าสินทรัพย์และหนี้สินต่าง ๆ รวมทั้งตั้งสำรองฯ ด้อยค่า (ถ้ามี) กันเพื่อให้ได้ BVS ที่เหมาะออกมาใช้ในการแลกหุ้น นอกจากนี้ การที่กระทรวงการคลังมีต้นทุนในทหารไทยสูงถึง 3.86 บาท หรือคิดเป็น P/BV สูงราว 1.75 เท่า หากขายในราคาอย่างน้อยเท่ากับต้นทุน อาจทำให้ดีลการควบรวมกิจการอาจไม่ง่ายนัก


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,429 วันที่ 23 - 26 ธ.ค. 2561 หน้า 15

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
หุ้นทีเด็ด TMB-TCAP-Gulf
TMB ผนึก IFC ชู "เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ" ออกบอนด์ 2,950 ล้าน หนุนเอสเอ็มอีโตยั่งยืน


เพิ่มเพื่อน
595959859