กทท.ผนึกรฟท.ลงทุน 100 ล้าน เชื่อมรถไฟเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก

24 ธ.ค. 2561 | 07:38 น.
กทท. ร่วมกับ รฟท.ลงทุน 100 ล้านฟื้นฟูเส้นทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก ร่วมพัฒนาระบบการขนส่งลดค่าใช้จ่ายและประหยัดพลังงาน “ไพรินทร์” โยนเค้กให้ปตท.ศึกษาและพัฒนารถไฟเพื่อมวลชนท้องถิ่นใช้บริการร่วมรูปแบบซีเอสอาร์นเส้นทางดังกล่าว

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่าการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ร่วมกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมลงนามในสัญญาใช้สิทธิเหนือพื้นดินทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจาก เพื่อสนับสนุนการขนส่งทางระบบรางสู่การขนส่งทางน้ำ

S__4178338 สำหรับการลงนามในสัญญาดังกล่าว เป็นการส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งมาสู่ภาคการขนส่งทางรางและทางน้ำ อันจะส่งผลให้เกิดการประหยัดพลังงานและลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในภาพรวมของประเทศ สืบเนื่องจากทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากซึ่งอยู่ภายในเขตพื้นที่ กทท. ณ ท่าเรือกรุงเทพ (ทกท.) ที่ปัจจุบันมีสภาพชำรุดทรุดโทรม ทำให้เกิดความไม่สะดวกในการขนส่งสินค้าทางรถไฟ อีกทั้งได้เลิกใช้งานมากว่า 1 ปีแล้ว

ดังนั้นกทท. จึงได้ดำเนินการจัดทำข้อตกลงกับ รฟท. ปรับปรุงระบบรางและอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการเดินรถโดยได้จัดทำสัญญาอนุญาตให้ รฟท. ใช้สิทธิเหนือพื้นดินจำนวน 5,912 ตารางวา เพื่อประโยชน์ในการเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถ และการขนส่งสินค้าทางรถไฟ โดย รฟท. จะดำเนินการรื้นถอนทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นฯ ที่มีอยู่เดิม แล้วทำการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ตามแนวเส้นทางเดิม รวมถึงการก่อสร้างระบบและอุปกรณ์ต่างๆ การปฏิบัติการเดินรถและการขนส่งสินค้าทางรถไฟ

“สำหรับรถไฟเส้นทางนี้ขนส่งน้ำมันจากเพชรขุด จ.กำแพงเพชร เข้ามายังโยงกลั่นน้ำมันบางจาก ผ่านบางซื่อ มักกะสัน พระราม4 ช่องนนทรี หากใช้รถบรรทุกขนส่งจะใช้ราว 20 เทลเลอร์ซึ่งมีต้นทุนที่แพงกว่าอย่างมาก โดยเส้นทางรถไฟสายนี้มีความยาวของเส้นทางรถไฟรวมทั้งสิ้น 6,410 เมตร ทางสายหลักตั้งแต่ กม. 0+000 ถึง กม. 6+410 ทางหลีกและทางแยกต่างๆ ความยาวรวม 340 เมตร และ รฟท. มีสิทธิเหนือพื้นดินกำหนดระยะเวลา 10 ปี และต่อสิทธิได้อีกเป็นคราวๆ ละ 5 ปี”

นายไพรินทร์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ กทท. และ รฟท. ตลอดจนบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ยังจะร่วมกันพิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อให้การเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถ และการขนส่งสินค้าทางรถไฟเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

“3 หน่วยงานจะร่วมกันฟื้นฟู ให้กลับมาใช้บริการได้เช่นเดิม มองว่าเส้นทางสายนี้เป็นโอกาสเนื่องจากพื้นที่อยู่ในกรอบจำกัดในการออกสู่ภายนอก โดยได้หารือกับผู้ว่าการรถไฟว่าหากพัฒนาเส้นทางแล้วเสร็จ มีรถไฟบรรทุกน้ำมันใช้บริการแค่ 2-3 ขบวนคงไม่คุ้มค่า หากช่วงเวลาที่เหลือนำไปพัฒนารถไฟท้องถิ่น ให้เชื่อมถึงมักกะสันและบางซื่อจะคุ้มค่าหรือไม่ เปิดการเปิดพื้นที่ให้ไร้ข้อจำกัดมากขึ้น จึงฝากการบ้านให้ปตท.สผ.ทำโครงการรูปแบบซีเอสอาร์ให้ชาวคลองเตยต่อไป”

S__4178339 นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนจากทั้ง 2 หน่วยงานในการลงนามสัญญาฯโดยกล่าวว่า การลงนามสัญญาครั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่ผ่านมาทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากซึ่งอยู่ภายในพื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ ของการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีสภาพชำรุดทรุดโทรมจนก่อให้เกิดอุบัติเหตุแก่การขนส่งทางรถไฟ จนต้องมีการประกาศงดใช้เส้นทางดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการสนับสนุนให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งทางถนนมาสู่ภาคการขนส่งทางราง และทางน้ำ อันจะส่งผลต่อการประหยัดพลังงาน และลดต้นทุนการขนส่งสินค้าในประเทศตามนโยบายของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จึงได้ร่วมลงนามสัญญาดังกล่าว เพื่อเร่งเข้าไปปรับปรุงทางรถไฟให้สามารถกลับมาเปิดให้บริการเดินรถขนส่งสินค้าได้เป็นปกติอีกครั้ง

ทั้งนี้ คาดว่าจะลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท ส่วนภายในรายละเอียดสัญญา การท่าเรือแห่งประเทศไทยได้ตกลงให้รฟท. มีสิทธิเหนือพื้นดิน ณ ท่าเรือกรุงเทพ จำนวนเนื้อที่ 5,912 ตารางวา บริเวณทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากเพื่อใช้ประโยชน์ในการเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถ และการขนส่งสินค้าทางรถไฟ

โดยรฟท.จะเข้าไปทำการรื้อถอนทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากที่มีอยู่เดิม และทำการก่อสร้างทางรถไฟใหม่ตามแนวเส้นทางเดิม รวมถึงทำการก่อสร้างระบบและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการเดินรถ การปฏิบัติการเดินรถ และการขนส่งสินค้าทางรถไฟ เป็นระยะทางทั้งสิ้น 6,410 เมตร (ทางสายหลักตั้งแต่ กม. 0+000 ถึง กม. 6+410.80 ทางหลีกและทางแยกต่าง ๆ ความยาวรวม 340 เมตร)

นอกจากนี้ รฟท.ยังได้รับการยกเว้นเรียกเก็บค่าใช้ประโยชน์ที่ดินหรือค่าใช้จ่ายจากการท่าเรือฯ มีกำหนดระยะเวลา 10 ปี นับถัดจากวันลงนามในสัญญาอีกด้วย และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว การท่าเรือแห่งประเทศไทยยังตกลงให้รฟท. ใช้สิทธิเหนือพื้นดินต่อไปอีกคราวละ 5 ปี โดยรฟท.ต้องแสดงเจตนาขอใช้สิทธิเหนือพื้นดินเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทราบล่วงหน้าก่อนที่อายุสัญญาจะสิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 6 เดือน อย่างไรก็ดี การท่าเรือแห่งประเทศไทยยังมีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าผ่านทางจากผู้ที่มาใช้บริการขนส่งทางรถไฟได้เป็นปกติ

“การรถไฟฯ คาดหวังว่าการเข้าไปปรับปรุงทางรถไฟสายแยกเข้าโรงกลั่นน้ำมันบางจากในครั้งนี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ขนส่งให้กับประเทศ และลดปัญหาการจราจรแออัดบนท้องถนน รวมถึงเพิ่มปริมาณผู้ใช้บริการขนส่งสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์ น้ำมันดิบผ่านทางระบบขนส่งทางรางยิ่งขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์จากการขนส่งนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้มีความสะดวกรวดเร็ว ปลอดภัย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้ในระยะยาว”

ด้านนายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับปรุงฟื้นฟูรถไฟเส้นทางนี้รฟท.จะเป็นผู้ลงทุนเอง ส่วนการใช้รางจะนำไประบุไว้ในค่าขนส่งรวมเอาไว้ในการใช้บริการ โดยรฟท.จะลงทุนให้ก่อน

“สำหรับรูปแบบรถไฟท้องถิ่นที่ท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมฝากการบ้านให้ปตท.ดำเนินการนั้นยังจะต้องมีการศึกษาเชิงลึกกันต่อไป ขอเวลาไปหารือร่วมกับรฟท.ให้ชัดเจนก่อนว่าจะร่วมมือกันได้อย่างไรบ้าง เพื่อให้เกิดศักยภาพด้านอื่นๆควบคู่กันไปด้วย”

[caption id="attachment_365443" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]