อินโดฯ ยังควานหาสาเหตุ "สึนามิ" แจงข้อข้องใจทำไมไม่มีการแจ้งเตือน

23 ธ.ค. 2561 | 15:50 น.
อุบัติภัยธรรมชาติครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นอีกครั้งในบริเวณช่องแคบซุนดาของประเทศอินโดนีเซีย เมื่อช่วงค่ำวันที่ 22 ธ.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิความสูงกว่า 3 เมตร หลังการประทุของภูเขาไฟ "อานัค กรากะตัว" ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจนถึงคืนวันอาทิตย์ที่ 23 ธ.ค. 2561 นั้น ทะลุ 222 ราย และผู้บาดเจ็บมากกว่า 800 คน ยังคงสร้างคำถามคาใจว่า อะไรคือ สาเหตุที่ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ ทั้งที่ไม่มีการแจ้งเตือนจากทางการ

 

[caption id="attachment_365345" align="aligncenter" width="503"] epa07246247 A view of damage with a car sitting among debris after a tsunami hit the Sunda Strait in Pandeglang, Banten, Indonesia, 23 December 2018. According to the Indonesian National Board for Disaster Management (BNPB), at least 43 people dead and 584 others have been injured after a tsunami hit the coastal regions of the Sunda Strait. EPA-EFE/ADI WEDA เครดิตภาพ EPA-EFE/ADI WEDA[/caption]

2 สาเหตุที่เป็นไปได้
ในเบื้องต้นนั้น กรมอุตุนิยมวิทยา ภูมิอากาศ และภูมิศาสตร์กายภาพ (BMKG) ของอินโดนีเซีย ชี้แจงว่า ไม่มีรายงานทั้งแผ่นดินไหวและการประทุของภูเขาไฟที่รุนแรง ทำให้เชื่อว่าจะเกิดเพียงคลื่นสูง แต่ไม่ใช่คลื่นยักษ์สึนามิ "BMKG ไม่ได้รับข้อมูลการเกิดแผ่นดินไหว สิ่งที่เกิดขึ้นที่ จ.บันเต็น และพื้นที่โดยรอบ ไม่ใช่คลื่นยักษ์สึนามิ แต่เป็นคลื่นสูง ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในคืนวันเพ็ญ ขอให้ประชาชนอยู่ในความสงบ" เป็นข้อความที่ระบุแจ้งในทวิตเตอร์ของ BMKG ในคืนวันเสาร์ ซึ่งเป็นคืนเกิดเหตุ แต่ต่อมาโพสต์นี้ก็ถูกลบทิ้ง หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง สิ่งที่เกิดขึ้น ก็คือ คลื่นที่ก่อตัวมีความสูงถึง 3 เมตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญคาดว่าน่าจะเกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ "อานัค กรากะตัว" ที่ตั้งอยู่ใจกลางช่องแคบซุนดา ที่กั้นกลางระหว่างเกาะสุมาตราและเกาะชวา

ผู้บริหารของ BMKG ยืนยันในเวลาต่อมา ว่า มีสึนามิเกิดขึ้นจริง แต่ไม่มีแผ่นดินไหวในพื้นที่ ดังนั้น จึงคาดว่าสึนามิครั้งนี้เกิดขึ้นจากการระเบิดของภูเขาไฟ ขณะที่ ศูนย์บรรเทาภัยจากภูเขาไฟ (PVMBG) แถลงว่า กำลังตรวจสอบถึงความสัมพันธ์ระหว่างการระเบิดของภูเขาไฟ "อานัค กรากะตัว" และการเกิดสึนามิ ทั้งนี้ ภูเขาไฟดังกล่าวมีการปะทุมาเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และการระเบิดที่รุนแรงกว่าครั้งนี้ ที่ผ่านมาก็ไม่ได้ทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ "การจะทำให้เกิดสึนามิใหญ่ขนาดนี้ จะต้องมีการเคลื่อนที่ของแผ่นดินลงไปในทะเลจำนวนมหาศาล ซึ่งจะเป็นเช่นนั้นได้ต้องอาศัยพลังงานมหาศาล ซึ่งการตรวจจับโดยเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหวของสถานีสังเกตการณ์ภูเขาไฟก็ไม่พบ (ปรากฎการณ์นี้)" ส่วนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ

 

[caption id="attachment_365346" align="aligncenter" width="503"] kk ภาพภูเขาไฟอานัค กรากะตัว ระเบิดพ่นควันเป็นระยะไกล ถ่ายโดยสถานีสังเกตการณ์ภูเขาไฟที่หาดอันเยอร์บีช จังหวัดปาเซารัน ในช่วงเย็นวันที่ 22 ธันวาคม 2561 /เครดิตภาพ ศูนย์บรรเทาภัยจากภูเขาไฟ (PVMBG)[/caption]

สถานีสังเกตการณ์แผ่นดินไหวแห่งหนึ่งที่หาดอันเยอร์บีช จ.ปาเซารัน ซึ่งอยู่ห่างจากภูเขาไฟ "อานัค กรากะตัว" ราว 40 กิโลเมตร ตรวจพบการปะทุออกมาของลาวาทางด้านทิศใต้ของภูเขาไฟในช่วงคืนวันเสาร์ แต่ทางสถานีก็คำนวณว่า การปะทุดังกล่าวไม่รุนแรงพอที่จะทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ นายอาหมัด มูฮารี ผู้เชี่ยวชาญด้านสึนามิ ให้ความเห็นว่า มี 2 สาเหตุ ที่เป็นไปได้สำหรับการเกิดสึนามิครั้งนี้ คือ หนึ่ง เกิดแผ่นดินเคลื่อนลงสู่ทะเล โดยมีสาเหตุจากการระเบิดของภูเขาไฟ "อานัค กรากะตัว" หรือ สอง คือ การเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันของสภาวะปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา แต่ก็ยอมรับว่า ทั้ง 2 ทฤษฎี มีข้อจำกัดและยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างที่ต่างฝ่ายไม่มีข้อมูลเสริมความคิดเห็นมากนัก เพราะเท่าที่มี ก็คือ ข้อมูลตรวจวัดคลื่นทะเลจากสถานีสังเกตการณ์ 4 แห่งเท่านั้น

ถ้าหากสึนามิเกิดจากการไหลเคลื่อนของแผ่นดินสู่ท้องทะเลเป็นจำนวนมหาศาลจากการะเบิดของภูเขาไฟ สิ่งที่น่าจะได้จากสถานีสังเกตการณ์ทั้ง 4 แห่ง คือ ข้อมูลบันทึกการเกิดคลื่นในเวลาใกล้เคียงกัน (ของแต่ละสถานี) แต่จากข้อมูลตรวจสอบคลื่นของสถานีท่าเรือปันจังใน จ.ลัมปุง พบว่า การเกิดคลื่นช้ากว่าอีก 3 สถานีอย่างชัดเจนมาก นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังตั้งข้อสังเกตว่า เกาะ 3 แห่ง ที่อยู่รอบ ๆ เกาะ ซึ่งเป็นที่ตั้งภูเขาไฟกรากะตัว น่าจะสกัดกั้นคลื่นใด ๆ ก็ตามที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ แรงกระทบและการสร้างความเสียหายจึงไม่ควรมากอย่างที่เกิดขึ้น

 

[caption id="attachment_365347" align="aligncenter" width="503"] epa07246206 (FILE) - A handout file photo made available by NASA on 23 December 2018 shows an image, acquired by the MultiSpectral Instrument (MSI) on the European Space Agency (ESA) ภาพถ่ายดาวเทียมจากองค์การนาซา (NASA) เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2561 แสดงภาพหมู่เกาะกรากะตัว และภูเขาไฟอานัค กรากะตัว ที่กำลังปะทุส่งเถ้าละอองขึ้นสู่ท้องฟ้า และพ่นไอร้อนปกคลุมผิวน้ำช่องแคบซุนดา[/caption]

ส่วนภาวะปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยานั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นสาเหตุ แต่จากบันทึกข้อมูลของ BMKG ไม่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันใด ๆ กับแรงกดอากาศ ซึ่งในบางกรณีอาจจะเป็นปัจจัยก่อให้เกิดคลื่นสึนามิได้ อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลที่พบว่า ความเร็วลมที่พัดแรงมากในวันนั้น เมื่อผนวกเข้ากับการเคลื่อนไหลของแผ่นดินลงสู่ทะเล (หลังภูเขาไฟระเบิด) ก็อาจทำให้ขนาดของคลื่นสูงขึ้นได้ สอดคล้องกับความคิดเห็นของประธานสมาคมนักธรณีวิทยาแห่งอินโดนีเซีย ที่สันนิษฐานจากข้อมูลเท่าที่มีในขณะนี้ ว่า การเคลื่อนไหลของแผ่นดินใต้ทะเล คือ สาเหตุที่เป็นไปได้มากที่สุดของการเกิดสึนามิครั้งนี้ เนื่องจากแรงสั่นสะเทือนที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังภูเขาไฟระเบิดอาจทำให้เกิดการเคลื่อนไหลของแผ่นดินใต้น้ำ ก่อให้เกิดคลื่นยักษ์ซัดเข้าสู่ฝั่ง อย่างไรก็ตาม เหล่านี้เป็นเพียงข้อสันนิษฐานที่ยังรอข้อมูลเพิ่มเติมมายืนยัน

นายวาฮีดิน ฮาลิม ผู้ว่าราชการจังหวัดบันเต็น ซึ่งได้รับผลกระทบรุนแรงจากเหตุการณ์สึนามิครั้งนี้ เปิดเผยถึงความยากลำบากในการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ประสบภัย ว่า สภาพอากาศที่เลวร้ายและฝนที่ตกลงมาเป็นอุปสรรคสำคัญในการอพยพประชาชน ขณะที่ สำนักงานบรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติ (BNPB) แจ้งยอดผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 168 ราย ขณะที่ สื่อท้องถิ่นรายงานยอดผู้เสียชีวิต 222 ราย บาดเจ็บ 843 คน สูญหายอย่างน้อย 28 คน โดยมีจำนวนบ้านเรือนและอาคารที่ได้รับความเสียหายหลายร้อยหลัง


ย้อนอดีตภูเขาไฟกรากะตัว

เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2426 หรือราว 135 ปีที่ผ่านมา ภูเขาไฟกรากะตัวเคยระเบิดครั้งใหญ่ที่สุด ซึ่งคร่าชีวิตทุกคนที่อยู่บนเกาะ โดยพื้นที่ 65.52% ของเกาะกลายเป็นเถ้าธุลีอย่างสิ้นเชิง เถ้าถ่านฝุ่นควันที่ถูกพ่นออกมาจากปากปล่องลอยสูงขึ้นไปถึง 80 กิโลเมตร พื้นที่ในรัศมี 240 กิโลเมตรรออบเกาะ ถูกเถ้าธุลีของภูเขาไฟบดบังแสงอาทิตย์จนมืดมิดราวกับเวลากลางคืน เสียงระเบิดในครั้งนั้นดังสนั่นจนผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองปัตตาเวียที่ห่างออกไปถึง 150 กิโลเมตร ยังต้องเอามืออุดหู ขณะที่ ผู้คนที่อาศัยบนเกาะโรดริเกซ ซึ่งอยู่ห่างจากเกาะกรากะตัว ซึ่งเป็นที่ตั้งของภูเขาไฟกรากะตัว ถึง 4,776 กิโลเมตร ก็ยังได้ยินเสียงระเบิดเช่นเดียวกัน การระเบิดครั้งนั้นทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิสูงกว่า 30 เมตร พัดเข้าถล่มหลายเกาะรายรอบ แรงแผ่นดินไหวจากการระเบิดของภูเขาไฟกรากะตัวสามารถตรวจจับได้แม้แต่ในสหราชอาณาจักร เหตุการณ์ครั้งนั้นคร่าชีวิตผู้คนไปมากถึง 36,000 คน และทำให้เกาะทั้งเกาะจมหายไป ก่อนที่จะมีเกาะใหม่เกิดขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป 44 ปีให้หลัง คือ เกาะ "อานัค กรากะตัว" หรือ "บุตรแห่งกรากะตัว" ที่เกิดระเบิดขึ้นครั้งล่าสุดนั่นเอง

090861-1927-9-335x503-8-335x503