เตรียมการรับมือ 5G ก่อนถูกดิสรัป!!

23 ธ.ค. 2561 | 02:00 น.
| คอลัมน์ : The Disrupt

……………….


จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีของไทยที่กำลังขับเคลื่อนสู่เทคโนโลยี 5G ซึ่งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีแผนที่จะให้เตรียมการทดสอบในปีหน้า โดยอาจจะทดสอบที่ จ.ชลบุรี เนื่องจากเป็นจังหวัดในโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก หรือ อีอีซี ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "ดิจิทัล พาร์ค" นั่นแสดงให้เห็นว่า เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่กำลังจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง

380CC0AD-6C16-41DE-8F6B-682E76E7A69E
"ฐากร ตัณฑสิทธิ์" เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) บอกว่า 5G จะเข้ามามีบทบาทอย่างมาก ด้วยประสิทธิภาพความเร็วที่สูงกว่า 4G ถึง 15 เท่า ความสามารถเชื่อมต่ออุปกรณ์ได้มากกว่า 1 ล้านชิ้น รวมไปถึงความเสถียรของสัญญาณ จะช่วยให้อุตสาหกรรมต่าง ๆ ใช้ประโยชน์จากอินเตอร์ได้มากยิ่งขึ้นและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

จากศักยภาพเหล่านั้น "ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร" รองเลขาธิการ กสทช. ได้สรุปว่า ต่อไปสิ่งที่เราจะได้เห็น คือ การพูดคุยกันระหว่างคนกับเครื่องและเครื่องกับเครื่องจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น โดย IOT (Internet of Things) จะยิ่งเข้ามามีบทบาท การทำงานในรูปแบบของ AR (Augmented Reality) หรือ การรวมสภาพแวดล้อมจริงกับวัตถุเสมือน หรือ VR (Virtual Reality) การจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง สิ่งเหล่านี้จะเกิดการนำเข้ามาใช้ในงานในหลากหลายอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็น การแพทย์ หรือ การเงิน และอื่น ๆ ซึ่งขณะนี้ มีบางประเทศที่เริ่มทดลองนำเข้ามาใช้แล้ว หรือแม้กระทั่งการใช้หลอดไฟ ที่ควบคุมโดย 'ซิม' ซึ่งผู้ควบคุมอาจนั่งอยู่ที่ไหนในโลกนี้ก็ได้

สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้คนเราไม่สามารถคิดแบบเดิมได้ โดยเฉพาะภาครัฐและเอกชน ที่ต้องมีการพูดคุยกันมากขึ้น เพราะสิ่งหนึ่งที่สำคัญมาก ๆ คือ "ดาต้า" หรือ "ข้อมูล" ที่หากใครสามารถครอบครองได้มากที่สุด ก็สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด ดังนั้น สิ่งสำคัญที่ภาครัฐต้องเร่งดำเนินการ คือ 1.ความเป็นส่วนตัว (Privacy) หน่วยงานรัฐผู้ดูแลด้านกฎระเบียบต้องมาศึกษาดูอย่างละเอียด มิเช่นนั้น 5G จะสามารถบอกได้ทั้งหมด มันคือ บิ๊กดาต้าที่จะบอกพฤติกรรมของเราได้ทั้งหมด

2.ความปลอดภัย (Safety) อนาคตคลื่นความถี่จะวิ่งเต็มไปหมด ขณะที่ ปัจจุบัน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนที่มาที่สุด คือ เรื่องของเสาสัญญาณที่ส่งผลกระทบกับสัตว์เลี้ยงไม่ตกลูก พืชไม่ติดดอกออกผล แมวเป็นมะเร็ง และอีกหลาย ๆ เรื่อง ซึ่งสิ่งเหล่าได้เกิดขึ้นจริงและมีการร้องเรียนจริง แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์ออกมาระบุว่า คลื่นความถี่เหล่านี้เป็นอันตราย แต่ก็ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของคนในอนาคต

3.ระบบป้องกันความปลอดภัย (Security) กฎหมายและกฎระเบียบต่าง ๆ ต้องปรับปรุง เพื่อให้ทันและสอดคล้องกับโลกยุคใหม่ ซึ่งภาครัฐต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว อาทิ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัย ที่ฝ่ายเทคนิคต้องสามารถรองรับและแก้ไขได้ทันท่วงที หากข้อมูลถูกโจรกรรมหรือถูกโจมตีระบบ

นอกจากนี้ ในส่วนของผู้ให้บริการ ทั้งผู้ผลิต Device และผู้ให้บริการเครือข่าย รวมทั้งผู้คิดรูปแบบบริการ อาทิ แอพพลิเคชัน ก็ต้องมีความพร้อมที่จะพัฒนาทุก ๆ อย่างให้รองรับการใช้งาน มิเช่นนั้นระบบ 5G ก็จะไม่เกิดประโยชน์ หรือ สร้างประสิทธิผลได้เต็มที่

หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,428 วันที่ 20-22 ธันวาคม พ.ศ. 2561



595959859