ทางออกนอกตำรา : ‘ลุงตู่’ ทำอีกได้มั้ย! จัดเงินให้คนจนผ่อน 3,800 บาท

22 ธ.ค. 2561 | 13:28 น.
ทำไม-02 มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อ วันที่ 20 พ.ย.2561 ที่เห็นชอบให้ ธอส. จัดทำ “โครงการบ้านล้านหลัง” วงเงินรวม 60,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือให้ประชาชนได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยเน้นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มคนวัยทำงาน ผู้ที่กำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัว กลุ่มผู้สูงอายุ ที่ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้เปิดให้ประชาชนจองสิทธิ์ขอกู้ที่สาขาธนาคารในวันที่ 23 ธันวาคม 2561 ถือว่าเป็นนโยบายที่ “ยิงตรงเป้าหมาย โดนใจ ได้คน” มากที่สุดชุดหนึ่ง

ทำไมถึงบอกเช่นนั้น เพราะปัจจุบันประชาชนผู้มีรายได้น้อย ไม่สามารถหาซื้อบ้านที่อยู่อาศัยมาเป็นที่ซุกหัวนอนของตนเอง ลูกเมียได้ เพราะรายได้ไม่พอยาไส้ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย ขีดความสามารถในการชำระหนี้ไม่มี

แต่นโยบายบ้านล้านหลัง เปิดทางให้คนที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาทต่อเดือนกู้ได้และสามารถผ่อนตํ่าแค่เดือนละ 3,800 บาท ดอกเบี้ย 3% ยาวนานถึง 5 ปี ทำให้คนเหล่านี้ลืมตาอ้าปาก มีมาตรฐานการมีชีวิตที่ดีกว่าปกติขึ้นมาทันที

ส่วนคนที่มีเงินได้รวมกันเกิน 25,000 บาท ก็สามารถกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ย 3% ยาวแค่ 3 ปี แต่คนเหล่านี้ผ่อนได้แสนถูกเมื่อเทียบกับปกติ
g-03 ผมว่านโยบายชุดนี้สามารถครองใจคนได้ไม่น้อยกว่า 1 แสนคนแน่นอน แม้ว่าจำนวนเงินจะจำกัดอยู่แค่ 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งถ้านำมาหารตามสัดส่วนน่าจะมีผู้ได้สิทธิ์กู้เงินดอกเบี้ยตํ่ามาซื้อบ้านที่ต้องการได้จริงทั่วประเทศตกประมาณ 6.3-6.5 หมื่นคน แต่หากรวมเป็นครอบครัว 2 คนเข้าไปจะได้ใจคนไม่น้อยกว่า 1.2 แสนคน

ลองคิดดูถ้ามีใครเปิดทางให้คุณมีบ้านเป็นของตัวเองได้ มีที่ซุกกายให้คลายเหนื่อย ลูกเมียมีชีวิตที่ดี คุณคิดว่าเขาเหล่านั้นจะไม่คิดถึง จะลืมบุญคุณคุณเชียวหรือ

ผมถึงบอกว่านโยบายแบบนี้ ทำเถอะครับและควรรีบทำด้วย ใครจะว่าประชานิยม ใครจะว่าแจก ซื้อเสียง อย่าไปสนใจ ทำเลย และทำเยอะๆ

เพราะการช่วยให้ประชาชนมีวิถีชีวิตที่ดีขึ้นเป็นสิ่งที่ผู้นำ ผู้บริหารประเทศจัก “ต้องทำ” มิใช่พึงทำ
G-01

ผมเขียนต้นฉบับวันศุกร์ก่อนปรากฏการณ์จองสิทธิ์กู้ซื้อบ้านจะบังเกิด แต่คะเนดูได้ว่ายอดจองตามสาขาทั่วประเทศจะล้นหลามแน่นอน

เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่มีการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับลูกค้ารายย่อย 50,000 ล้านบาท ให้กับประชาชนทั่วไปที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ให้กู้เพื่อซื้อ หรือปลูกสร้างที่อยู่อาศัย และซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท ผ่อนได้นานสูงสุด 40 ปี อัตราดอกเบี้ย

หากรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน (กรอบวงเงิน 20,000 ล้านบาท) อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-ปีที่ 5 คงที่ 3.00% ต่อปี

ปีที่ 6 จนถึงตลอดอายุสัญญากู้เงิน กรณีสวัสดิการ MRR-1% ต่อปี กรณีรายย่อย MRR-0.75% กรณีซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกฯ อัตราดอกเบี้ย MRR (6.75%) กรณีกู้ 1 ล้านบาท ผ่อนชำระ 5 ปีแรก เริ่มต้นเพียง 3,800 บาทเท่านั้น
g-02 นอกจากนี้ยังยกเว้นค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ (0.1% ของวงเงินทำนิติกรรม) ฟรีค่าประเมินราคาหลักประกัน (1,900-2,300 บาท) ฟรีค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (1,000 บาท) และ 4. ฟรีค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง (1% ของวงเงินจำนอง)

ไม่จำกัดแค่ผู้มีเงินเดือนประจำนะครับ ผู้ประกอบอาชีพประจำ หรืออาชีพอิสระ ที่มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท สามารถนำหลักฐานการชำระค่าเช่าบ้าน หรือผ่อนชำระเงินดาวน์บ้านไม่น้อยกว่า 12 เดือน มาประกอบการพิจารณาในการขอกู้ได้ ไปจองสิทธิ์กันได้เลย

กรณีรายได้เกิน 25,000 บาท/คน/เดือน ธอส.ตั้งวงเงินไว้ 30,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยปีที่ 1-ปีที่ 3 คงที่ 3.00% ต่อปี ปีที่ 4 จนถึงตลอดอายุสัญญาเงินกู้กรณีสวัสดิการ MRR-1% ผ่อนชำระ 3 ปีแรกเริ่มต้นเพียง 3,800 บาท เช่นกัน

ผมเชื่อว่าจะคึกคัก และการปล่อยกู้รอบนี้จะลากไปถึงสินเชื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย อีก 10,000 ล้านบาท ปล่อยกู้ให้ผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไปจัดทำที่อยู่อาศัยที่มีราคาขายไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อหน่วย ไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนที่ขายทั้งหมดคิดดอกเบี้ย MLR-1.25%

[caption id="attachment_364936" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ผมขอบอกว่าอัตราดอกเบี้ยแบบนี้ ราคาแบบนี้ เงื่อนไขการกู้เงินที่ผ่อนปรนแบบนี้หายากมากครับ

ไม่เชื่อดูนี่ครับ นี่คือชุดข้อมูลที่การคิดดอกเบี้ยของธนาคาร 5 แห่งที่คิดดอกเบี้ยบ้านตํ่าที่สุดที่ผมหามาได้ โดยยึดจากข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค.2561 ของระบบธนาคารทั้งหมด เขาคิดดอกเบี้ยดังนี้

คิดดอกเบี้ยตํ่าสุดคือ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ คิดอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3% ต่อปี ในโครงการ“สินเชื่อบ้านโฮมโลน” วงเงินอนุมัติสูงสุด 95% ของราคาซื้อขาย ผ่อนชำระนานถึง 40 ปี เขาจะปล่อยกู้ในอัตรานี้สำหรับสินเชื่อกู้ซื้อบ้านใหม่ไม่เกิน 5 ล้านบาท โดยไม่รวมถึงสินเชื่อรีไฟแนนซ์และสินเชื่อบ้านแลกเงิน

ถ้าไม่เอาคงที่ใช้ทางเลือกที่ 2 อัตราดอกเบี้ยลอยตัว ปีที่ 1 - 3 : MRR - 4.75% ต่อปี หลังจากนั้น : MRR - 2.25% (ตลอดอายุสัญญา) อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี 3% (MRR = 7.750%)

อันดับ 2 เป็นธนาคารซีไอเอ็มบี ไทยดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.19% ต่อปีสำหรับ“สินเชื่อ Home Loan 4U” อนุมัติสูงสุด 95% ของราคาประเมิน ซึ่งเขาคิดดอกเบี้ย สำหรับผู้มีรายได้ 50,000 บาทขึ้นไป ปีที่ 1 - 3 : MRR - 4.56% หลังจากนั้น MRR - 2% ตลอดอายุสัญญา ผมเอาค่าเฉลี่ยมาหาร 3 จะตกประมาณนี้แหละครับ 3.19% พ้นจากนั้นสูงกว่านี้

อันดับ 3 เป็นสินเชื่อบ้านของธนาคารยูโอบีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี ตก 3.20% ต่อปี ผมคิดจากดอกเบี้ยลอยตัว ปีที่ 1 - 2 : MRR - 5.25% ปีที่ 3 : MRR - 3.15% หลังจากนั้น : MRR - 2% (แต่ต้องไม่ตํ่ากว่า 4.00% ต่อปี ตลอดอายุสัญญา) คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี ตก 3.20%

อันดับ 4 เป็นสินเชื่อ FOR Home ผ่อนยาว 40 ปีของธนาคารอาคารสงเคราะห์ อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.207% ผ่อนชำระนานถึง 40 ปี สินเชื่อนี้ธอส.คิดเดือนที่ 1 - 6 : MRR - 5.76% เดือนที่ 7 - 36 : MRR - 3.10% หลังจากนั้น : MRR - 0.50% ตลอดอายุสัญญา

อันดับ 5 เป็นสินเชื่อบ้านของ ธนาคารกสิกรไทย คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปี = 3.40% อนุมัติสูงสุด 100% ผ่อนชำระนานถึง 30 ปี สำหรับลูกค้าพนักงานรายได้ประจำ โดยคิดดอกเบี้ยเดือนที่ 1 - 8 : 0.60% เดือนที่ 9 - 12 : MRR - 4.20% ปีที่ 2 - 3 : MRR - 2.70%

หลังจากนั้นคิดดอกเบี้ย MRR - 1.50% ตลอดอายุสัญญา

ฉบับนี้ผมไม่มีทางออก ได้แต่บอกว่า นโยบายแบบนี้ จัดเงินมาแบบนี้ ทำบ่อยๆจะดีครับลุงตู่

| คอลัมน์ : ทางออกนอกตำรา
| โดย : บากบั่น บุญเลิศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3429 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-26 ธ.ค.2561
595959859