รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย | ‘ผ่าทางตัน วิกฤติ Brexit’

22 ธ.ค. 2561 | 11:00 น.
 

ผ่า-02 2009452_recit-brexit-le-jour-dapres-web-0211065368132 เหลือเวลาอีกประมาณ 100 วันเท่านั้น ก็จะครบกำหนดที่ UK ต้องแยกตัวจาก EU อย่างเป็นทางการ ซึ่งตอนนี้ภายใน UK เองก็เริ่มมีความวิตกกังวลอย่างหนักหลังจากที่รัฐบาลได้ประกาศเลื่อนการลงมติของสภาฯ ในการที่จะลงคะแนนว่า UK จะแยกออกจาก EU แบบมีข้อตกลงหรือไม่มีข้อตกลง โดยให้เหตุผลว่าต้องการขอขยายระยะเวลาออกไปก่อนเพื่อจะได้ทำการเจรจาเพิ่มเติมกับผู้นำ EU เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่ดีที่สุด ซึ่งรัฐบาลยืนยันว่าจะนำเรื่องนี้กลับเข้าสภาฯ เพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเสียงในวันที่ 21 มกราคม 2562

จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งภาคธุรกิจและภาคประชาชนภายในประเทศเกิดความวิตกกังวลอย่างมาก เพราะผู้นำของ EU ได้ออกมายืนยันหนักแน่นแล้วว่าจะไม่มีการเจรจาใดๆ เพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณี Brexit อีก จึงเหมือนกับว่าการซื้อเวลาของรัฐบาลครั้งนี้ ไม่สามารถนำไปสู่การได้ข้อตกลงที่ดีขึ้นอย่างที่รัฐบาลบอกไว้ และเป็นการสูญเปล่าที่จะซื้อเวลากับสิ่งที่ไม่มีวันเกิดขึ้นจริง
great briitain leaves european union metaphor จากการที่ผู้เขียนติดตามประเด็นเรื่อง Brexit มาอย่างต่อเนื่อง จึงอยากเสนอถึงประเด็นปัญหาที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “ทางตัน” ของรัฐบาล และวิเคราะห์ว่าการผ่าทางตันที่ดีทั้งกับ UK เองรวมไปถึงเศรษฐกิจของประชาคมโลกด้วยนั้น รัฐบาลควรจะดำเนินการอย่างไรที่จะเป็นวิธีที่ทำให้เจ็บตัวน้อยที่สุด แต่จะดีกับชีวิตความเป็นอยู่และความมั่นคงของประเทศต่อไปในภายหน้า

หากท่านใดติดตามประเด็น Brexit มาเรื่อยๆ คงพอทราบดีว่าตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นสถิติของสำนักไหนทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งชาติอังกฤษ หรือสำนักวิจัยของภาคเอกชน ต่างก็ยืนยันตรงกันว่าถ้า UK แยกตัวจาก EU แบบไม่มีข้อตกลง (with no deal) จะส่งผลกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศอย่างรุนแรง และแน่นอนจะทำให้คนในประเทศจนลง

แม้ประเด็นนี้จะเป็นที่ทราบกันเป็นอย่างดี และหลายภาคส่วนของประเทศได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการตัดสินใจเรื่องนี้กลับไปที่ประชาชนอีกครั้ง แต่รัฐบาลก็ยังยืนกระต่ายขาเดียวโดยแถลงยืนยันในสภาฯ มาโดยตลอดว่าหน้าที่หลักของรัฐบาล คือการปฏิบัติตามเจตจำนงของประชาชนที่ให้ไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2016 ที่ประสงค์จะให้ประเทศแยกตัวออกจาก EU และในการลงประชามติในครั้งนั้นเป็นครั้งที่ประชาชนผู้มีสิทธิออกมาลงคะแนนมากที่สุดในประวัติศาสตร์

[caption id="attachment_364936" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกจากนี้รัฐบาลยังได้ตั้งประเด็นว่าการเรียกร้องให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับ Brexit รอบ 2 (Re-referendum) จะก่อให้เกิดความแตกแยกภายในประเทศเป็น 2 ขั้ว และเป็นการทรยศเจตจำนงของเสียงส่วนมากของประชาชนในประเทศ

จากสิ่งที่รัฐบาลหยิบยกขึ้นมาแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลคำนึงถึงประเด็นเรื่องความมั่นคงภายในประเทศเป็นสำคัญกว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ ที่จะกระทบต่อปากท้องของประชาชนในประเทศโดยตรง หลังจาก Brexit มีผลสมบูรณ์ ซึ่งดูจากสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลพยายามให้การแยกตัวแบบมีข้อตกลง เช่น การค้าระหว่าง UK กับประเทศสมาชิกใน EU ยังอยู่ภายใต้ Custom Union ซึ่งส่งผลทำให้กฎเกณฑ์ของ EU ยังมีผลบังคับกับ UK

และนี่เป็นประเด็นหลักที่ทำให้สมาชิกสภา ฝ่ายที่เห็นด้วยกับ Brexit ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่รัฐบาลทำ เพราะทำให้ UK ไม่สามารถแยกตัวจาก EU ได้อย่างเด็ดขาด และเมื่อรวมกับฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการแยกตัวอยู่แล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงว่า เมื่อถึงวันที่ 21 มกราคมปีหน้า ที่เปิดให้มีการลงคะแนน สมาชิกสภาก็จะลงคะแนนเสียงข้างมากไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของรัฐบาล และโหวตให้การแยกตัวเป็นแบบไม่มีข้อตกลง ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ
Brexit-Conference รัฐบาลจับประเด็นนี้ขึ้นมาเล่น โดยเสนอว่าเมื่อทุกฝ่ายเห็นว่า การแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง จะนำไปสู่หายนะของประเทศ ดังนั้น สมาชิกสภา ก็ควรที่จะโหวตให้การแยกตัวแบบมีข้อตกลง แต่ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้วสมาชิกสภายังมีแรงต้านในประเด็นนี้อยู่มาก

ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า การที่รัฐบาลอ้างถึงการปฏิบัติตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ที่ได้ลงคะแนนเมื่อกว่า 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในขณะนั้นข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบจากเรื่องการแยกตัวยังไม่มีความชัดเจนเมื่อเทียบกับข้อมูลปัจจุบัน

นอกจากนั้นในระหว่างการรณรงค์ให้มีการแยกตัวดังกล่าว ก็มีการนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวเพื่อให้เห็นเฉพาะแต่ข้อเสียในฐานะที่ UK ยังคงเป็นสมาชิกของ EU อยู่ แต่ตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา นับจากการลงประชามติครั้งแรก ทุกภาคส่วนของประเทศได้วิเคราะห์ นำเสนอข้อมูลอย่างต่อเนื่องโดยมีผลสอดคล้องตรงกันทั้งภาครัฐและเอกชนว่า การแยกตัวของ UK ไม่ว่าจะเป็นแบบมีข้อตกลงหรือไม่มีข้อตกลง ก็จะส่งผลกระทบในทางลบกับเศรษฐกิจของประเทศ และถึงขั้นอาจนำไปสู่หายนะหากเป็นการแยกตัวแบบไม่มีข้อตกลง และสถานการณ์ปัจจุบันดูเหมือนว่ารัฐบาลใกล้จะมาถึงทางตัน เพราะรู้ว่าสมาชิกสภา ก็ไม่สนับสนุนสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ จึงได้ประกาศเลื่อนการลงคะแนนเพื่อซื้อเวลา

สิ่งที่ผมอยากเสนอคือ รัฐบาลควรผ่าทางตันนี้ โดยให้เหตุผลกับประชาชนว่า การตัดสินใจเรื่องนี้เป็นเรื่องที่จะกระทบกับปากท้องของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แทนของท่านเป็นห่วง และจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบแล้วสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น อาจนำมาซึ่งภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ
_90076860_thinkstockphotos-526561176 นอกจากนี้รัฐบาลควรยืดอกยอมรับว่าเพราะความเป็นห่วงประชาชนในประเด็นสำคัญครั้งนี้ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพและเสียงสนับสนุนที่เพียงพอเพื่อจะใช้ประกอบการตัดสินใจ ที่จะทำให้เกิดผลกระทบกับเศรษฐกิจน้อยที่สุดอย่างที่รัฐบาลตั้งใจได้ ดังนั้นรัฐบาลจึงขอคืนอำนาจการตัดสินใจครั้งนี้ให้กับประชาชน โดยผลของการลงประชามติในครั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร รัฐบาลและสมาชิกสภา พร้อมจะน้อมรับและนำไปปฏิบัติ เพราะนั่นคือสิ่งที่ประชาชนได้ลงมติจากการได้ข้อมูลที่สมบูรณ์แล้ว

ซึ่งการจะดำเนินการอย่างที่ผมนำเสนอนี้ได้รัฐบาลต้องก้าวข้าม “มายาคติ” ที่รัฐบาลสร้างขึ้นเอง ว่าการจัดให้มีการทำประชามติครั้งที่ 2 จะสร้างความแตกแยกภายในประเทศ ซึ่งจากที่ติดตามข่าวมาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจำนวนมากเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งนี้กลับคืนให้เป็นอำนาจของประชาชน

ดังนั้นก่อนที่จะหมดเวลารัฐบาลควรใช้วิธีนี้ผ่าทางตัน เพราะอย่างน้อยที่สุดไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร การตัดสินใจนั้นก็ได้เกิดขึ้นจากภาคประชาชนอันเป็นวิถีในทางประชาธิปไตยที่ดีที่สุดแล้วครับ

| บทความ : รู้เท่าทันสารพันกฎหมาย
| โดย : มาร์ค เจริญวงศ์ อัยการประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ปัจจุบันศึกษาปริญญาเอกอยู่ที่ University of Kent (United Kingdom) สาขากฎหมายอาญาและกระบวนการยุติธรรมทางอาญาระหว่างประเทศ
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ หน้า 6 ฉบับที่ 3429 ระหว่างวันที่ 23-26 ธ.ค.2561
595959859