สนข. ร่วมโคราช รณรงค์ระบบขนส่งสาธารณะรับรถไฟฟ้ารางเบาปี 66

22 ธ.ค. 2561 | 10:05 น.
สนข.ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา ดาราศิลปิน และประชาชนรณรงค์ระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนพร้อมรับรถไฟฟ้ารางเบาปี 66นี้

S__3915782

นายวิจิตต์ นิมิตรวานิช นักวิชาการขนส่งทรงคุณวุฒิ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม โดย สนข. ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมา รณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ภายใต้นโยบาย One Transport, One Family" เดินทางปลอดภัย ใส่ใจเพื่อนร่วมทางในระบบขนส่งทุกรูปแบบของกระทรวงคมนาคม พร้อมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนในจังหวัดนครราชสีมา รองรับการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบา (Light Rail Transit หรือ Tramway) เฟสแรกเปิดใช้ปี 66 พร้อมให้บริการประชาชนและนักเดินทางในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเมืองหลวงประตูสู่ภาคอีสาน และรองรับปลายทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน
ทั้งนี้กระทรวงคมนาคมตระหนักถึงความสำคัญของการรณรงค์ส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน กำหนดให้การป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนเป็นนโยบายสำคัญที่ทุกหน่วยงานในสังกัดจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างจริงจัง เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุ พร้อมจัดบริการและอำนวยความสะดวกทุกโหมดการเดินทางของประชาชนอย่างเพียงพอ และปลอดภัยผ่านการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการของทุกหน่วยในสังกัดกระทรวงคมนาคมในระบบขนส่งทุกรูปแบบการเดินทางที่ต้องเชื่อมต่อกัน เพื่อความสะดวกและปลอดภัยสูงสุดของประชาชนภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนทุกพื้นที่ทั่วไทย ทุกประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ควบคู่กับการควบคุม กำกับ ดูแล และอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนภายใต้นโยบาย One Transport ,One Family แนวคิด "ขับช้า เปิดไฟหน้า คาดเข็มขัด" และ “มอเตอร์ไซด์ เปิดไฟใส่หมวกกันน็อค”
โดยที่ผ่านมาสนข.ได้ร่วมกับจังหวัดนครราชสีมาจัดกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ในจังหวัดนครราชสีมาขึ้น ณ บริเวณอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี และบริเวณใกล้เคียง โดยมีผู้บริหาร สนข. จังหวัดนครราชสีมา ส่วนราชการ ส่วนงานท้องถิ่น ดารานักแสดง อาทิ จ๊ะจ๋า-พริมรตา เดชอุดมและทีมขบวนTroop พร้อมประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมาเข้าร่วมงาน
ทั้งนี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ต่อการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะและความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน และหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแทนการใช้ยานพาหนะส่วนตัว รวมทั้งให้ตระหนักถึงความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา
นายวิจิตต์ฯ กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมา “ประตูสู่อีสาน ดินแดนเมืองหญิงกล้า ผ้าไหมดี หมี่โคราช ปราสาทหิน ดินด่านเกวียน” เป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศ มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ เป็นประตูสู่อีสาน จุดเชื่อมต่อการเดินทางของประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อีสานเหนือและอีสานใต้ แต่บริบทและวิถีชีวิตของสังคมเมืองมีการเปลี่ยนแปลง และขยายตัวอย่างรวดเร็ว เกิดความแออัดของเมือง จนส่งผลให้ความน่าอยู่ของเมืองลดลง ปัญหาการจราจรที่ติดขัดเนื่องจากจำนวนรถที่มากกว่าพื้นที่ถนน มีความล่าช้าในการเดินทาง เนื่องจากระบบขนส่งสาธารณะขาดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนทําให้เกิดความสูญเสียทั้งชีวิต และทรัพย์สิน ตลอดจนงบประมาณและการลงทุนอย่างมหาศาล ซึ่งเป็นปัญหาที่สะสมมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน
กระทรวงคมนาคมได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวจึงได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินงานเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในจังหวัดนครราชสีมาเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร และปัญหาการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เสริมสร้างศักยภาพให้เป็นเมืองที่มีความพร้อมในการเชื่อมต่อสู่พื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด และเป็นพื้นที่รองรับรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเร่งรัดให้มีการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดนครราชสีมาสายแรก เพื่อให้สามารถเปิดบริการได้ในปี 2566 นี้

นายวิจิตต์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.)ในคราวประชุมครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2561 ได้รับทราบผลการดำเนินโครงการจัดทำแผนแม่บทจราจรและแผนแม่บทพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมืองนครราชสีมา โดย สนข. ได้ดำเนินการ เสร็จเรียบร้อยแล้ว เป็นระบบรถไฟฟ้า Light Rail Transit หรือ Tramway) มี 3 เส้นทางหลัก ประกอบด้วย สายสีเขียว มีจำนวนสถานีทั้งหมด 20 สถานี ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 8,400 ล้านบาท สายสีส้ม มีจำนวนสถานีทั้งหมด 17 สถานี ระยะทาง 8.8 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 5,200 ล้านบาท และสายสีม่วง มีจำนวนสถานีทั้งหมด 9 สถานี ระยะทาง 7.1 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 4,800 ล้านบาท รวมระยะทาง 28 กิโลเมตร
ส่วนต่อขยายมี 3 เส้นทาง ประกอบด้วย สีเขียว สีส้ม และสีม่วง รวมสถานีทั้งหมด 20 สถานี ระยะทางรวม 21.87 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง จำนวน 14,200ล้านบาท รวมมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการทั้งสิ้น 32,600ล้านบาท
“กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินโครงการ โดยมีสายสีเขียวเป็นโครงการนำร่อง เส้นทางเริ่มจากตลาดเซฟวัน – ถนนมุขมนตรี – สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ ระยะทาง 11.17 กิโลเมตร ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการออกพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจ รฟม. ในการดำเนินโครงการในจังหวัดนครราชสีมาต่อไป”