โบรกมองแบงก์กําไรโต0.8% คาดกนง.ขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่อง

23 ธ.ค. 2561 | 09:24 น.
 

โบรกฯชี้ กนง.ขึ้นดอกเบี้ยรอบหน้า ทำแบงก์พาณิชย์ขยับตาม ดันกำไรสุทธิทั้งกลุ่มปี 2562 เพิ่มอีก 0.8% แบงก์ใหญ่ได้อานิสงส์จากสินเชื่อ ห่วงลีสซิ่งต้นทุนสูงขึ้น ประเมินราคาเหมาะสม KBANK 238 บาท, BBL 245 บาท และ TMB 2.64 บาท

เป็นไปตามคาดการณ์สำหรับผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งสุดท้ายของปี 2561 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 มีมติ 5 ต่อ 2 ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ขึ้นสู่ระดับ 1.75% ซึ่งเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 7 ปี และในหุ้นกลุ่มที่ถูกจับตาเป็นพิเศษคือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่มองกันว่าเป็นกลุ่มที่ได้อานิสงส์มากที่สุดจากทิศทางดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้น เพราะเป็นสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อต่างๆ และได้ประโยชน์จากรายได้ดอกเบี้ยมากขึ้น

นางสาวอุษณีย์ ลิ่วรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส จำกัด เปิดเผยว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของกนง.ในครั้งนี้ คาดจะยังไม่มีธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ยตาม เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยของไทยเป็นขาขึ้นอยู่แล้ว แต่ในปี 2562 หากกนง.ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากตาม ทำให้เป็นบวกต่อกำไรสุทธิของกลุ่ม โดยทุกการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% กำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะปรับขึ้น 0.8% ส่งผลให้คาดการณ์กำไรสุทธิปกติกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ปี 2562 อยู่ที่ 216,214 ล้านบาท หากอัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มขึ้นจะอยู่ที่ 217,946 ล้านบาท

[caption id="attachment_364817" align="aligncenter" width="336"] อุษณีย์ ลิ่วรัตน์ อุษณีย์ ลิ่วรัตน์[/caption]

ธนาคารขนาดใหญ่จะได้ประโยชน์มากที่สุด เนื่องจากมากกว่า 50% ของพอร์ตสินเชื่อเป็นอัตราดอกเบี้ยแบบลอยตัว ส่วนในธนาคารขนาดกลางและขนาดเล็กจะเสียประโยชน์ รวมถึงกลุ่มเช่าซื้อ เนื่องจากต้นทุนจะเพิ่มมากขึ้นจากการกู้เงินจากธนาคารแบบสินเชื่อลอยตัวมาปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อต่อ ซึ่งการคิดดอกเบี้ยของกลุ่มเช่าซื้อเป็นแบบดอกเบี้ยคงที่ โดยทุกการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 0.25% จะกดดันกำไรสุทธิลีสซิ่งปี 2562 ลดลง 0.7%

“การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติในครั้งนี้ มองว่าเป็นการรักษาส่วนต่างดอกเบี้ยไม่ให้ต่างจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งหากพิจารณาผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของสหรัฐฯ กับไทย ในปี 2561 พบว่าสหรัฐฯ สูงกว่าของไทยในช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคม แต่เริ่มอ่อนมาใกล้ของไทยช่วงเดือนมิถุนายน-พฤศจิกายนเป็นต้นมา ถือว่ายังอยู่ในระดับตํ่าเมื่อเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ การปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้แม้ธนาคารพาณิชย์อาจยังไม่ปรับเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากในช่วงสั้น แต่เชื่อว่าจะปรับขึ้นในปี 2562 และเป็นบวกกับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ นำโดยธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (KTB)”

บล.ฟินันเซีย ไซรัส จก. (มหาชน) คาดว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 และรัฐบาลใหม่จะทำให้ความเชื่อมั่นและการกระตุ้นเศรษฐกิจดีขึ้น ส่งผลดีต่อการกลับมาของสินเชื่อเพื่อการลงทุน รวมถึงภาพรวมทางเศรษฐกิจที่จะดีขึ้น ทั้งการบริโภคและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนเรื่องคุณภาพหนี้คาดว่ามีความเสี่ยงลดลงมากเมื่อเทียบกับ 2 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้แนะนำ Top Pick คือ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) ราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 238 บาท และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ราคาเป้าหมายปีหน้า 245 บาท และ แนะนำซื้อเก็งกำไร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) (TMB) ราคาเป้าหมายปีหน้าที่ 2.64 บาท

หน้า 17-18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,429 วันที่ 23-26 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว