ชงย้ายสนามบินดอนสัก รับแผนพัฒนาเมืองขนอม-สิชล

21 ธ.ค. 2561 | 14:07 น.
สกว.เร่งขับเคลื่อนรับแผนพัฒนาเมือง พิจารณาโครงการวิจัยจากสถาบันการศึกษาและบริษัทพัฒนาเมืองทั้ง 8 โครงการ “จาดุร อภิชาติบุตร” นั่งหัวโต๊ะคุมเกม มีลุ้นแม่ฮ่องสอนพัฒนาเมือง และ ขนอม-สิชลพัฒนาเมือง ด้านสมาคมการผังเมืองไทยหนุนย้ายสนามบินดอนสักพร้อมเสนอกรมเจ้าท่าศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างท่าเรือสำราญที่ขนอม

6DF56C21-813C-42C7-969F-8D0488B6AA9E
แหล่งข่าวระดับสูงของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า ฝ่ายโครงการศึกษากลไกการพัฒนาเมืองตามเกณฑ์การเติบโตอย่างชาญฉลาดเพื่อยกระดับทางเศรษฐกิจและสังคม (SG-ABC) ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)  จัดประชุมพิจารณาโครงการวิจัย 8 โครงการจากสถาบันการศึกษาและบริษัทพัฒนาเมือง โดยเชื่อว่าการขับเคลื่อนงานพัฒนาเมืองต่อจากนี้จะมีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้น

“โดยในโอกาสสำคัญนี้ได้รับเกียรติจากนายจาดุร อภิชาติบุตร ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยให้เกียรติเป็นประธานการประชุม และนายกิตติ สัจจาวัฒนา รศ.ดร.ศุภวัฒนากร วงศ์ธนวสุ นายพรนริศ ชวนไชยสิทธิ์ ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้ร่วมกันให้ความเห็นและแนะนำข้อเสนอดีๆ แก่ผู้วิจัย”

A6EB22C8-DE13-4F69-A5D4-D42C8B370F64
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นับจากนี้ไปอีกไม่เกิน 3 ปีเขตพื้นที่ขนอมจะเติบโตเช่นเดียวกับสมัย จะเป็นการเสริมศักยภาพด้านท่องเที่ยวภาคใต้ จากการพัฒนาทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้ว โดยความร่วมมือรวมตัวกันของผู้ประกอบการภาคเอกชนในพื้นที่รายใหญ่ทั้ง 6-7 รายซึ่งล้วนอยู่ในแวดวงธุรกิจท่องเที่ยว

“จัดเป็นการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่ทุกฝ่ายร่วมกันสร้างขึ้นมาโดยเฉพาะกลุ่มบริษัทพัฒนาเมืองในพื้นที่ เบื้องต้นยังมองว่าขนอมจะมีโอกาสเติบโตจากเขตในเมืองนครศรีธรรมราช จากการระดมความคิดความร่วมมือของคนรุ่นใหม่”

ด้านนายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย กล่าวว่าในเบื้องต้นขอแสดงความยินดีกับบริษัทพัฒนาเมืองสองแห่งที่เข้าร่วมเสนอโครงการในวันนี้ ได้แก่ บริษัท แม่ฮ่องสอนพัฒนาเมือง จำกัด และ บริษัท ขนอม-สิชล พัฒนาเมือง จำกัด ที่ได้รับการขับเคลื่อนจากสกว.อย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากยิ่งขึ้น

48DB1727-189C-43E6-8C60-448568D73EF1
โดยเฉพาะบริษัทขนอม-สิชลพัฒนาเมือง ภายหลังการประชุมได้หารือร่วมกันพร้อมกับมีข้อเสนอการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ สรุปได้ดังน้ี 1. การทบทวนตำแหน่งเมืองขนอมใหม่จากเดิมเป็นเมือง “จุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวทางทะเลระดับโลก" โดยเชื่อมโยงการท่องเที่ยว เกาะสมุย เกาะพะงัน ขนอม และสิชล เข้าด้วยกัน 2. การเสนอให้กรมท่าอากาศยานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งทบทวนที่ตั้งท่าอากาศยานดอนสักให้ย้ายมาตั้งที่อำเภอขนอม หากกรมท่าอากาศยานไม่เห็นชอบ ให้จังหวัดและขนอมพัฒนาเมืองเสนอข้อมูลเข้าแผนยุทธศาสตร์กระทรวงคมนาคมโดยมอบหมายให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแทน ซึ่งท่าอากาศยานแห่งนี้จะทำหน้าที่รองรับการเดินทางระหว่างประเทศให้กับพื้นที่เกาะสมุย เกาะพะงัน ขนอม สิชล และอำเภอดอนสัก จังหวัดสุราษฎร์ธานี
3. เสนอกรมเจ้าท่าศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างท่าเรือสำราญขนอม โดยอาจใช้ที่ดินของภาคเอกชนบริเวณท่าเรือเฟอรี่ขนอม-สมุยเดิม หรือที่ดินของกรมธนารักษ์เป็นที่ตั้งของท่าเรือ โดยท่าเรือดังกล่าวจะรองรับการเติบโตของการท่องเที่ยวทางทะเลบริเวณอ่าวไทยที่จะมีการเชื่อมโยงระหว่างแหล่งท่องเที่ยวสำคัญฝั่งอ่าวไทย ได้แก่ พัทยา บางแสน ชะอำ หัวหิน ชุมพร เกาะสมุย และสุราษฎร์ธานี ซึ่งจะสามารถเพิ่มมูลค่าการท่องเที่ยวของพื้นที่อ่าวดอนสัก ขนอม สิชล เกาะสมุย และเกาะพะงันมากกว่า 2 เท่า 4. เสนอการพัฒนาย่านพาณิชยกรรมเพื่อการท่องเที่ยวของอำเภอขนอม (Khanom Downtown) ให้ได้มาตรฐาน โดยการออกแบบ main street และ shopping street เชื่อมต่อระหว่างเมืองขนอมกับย่านที่พักโรงแรม ซึ่งจะสามารถเพิ่มระยะเวลาการพำนักจาก 1.5 วันในปัจจุบัน เป็น 3 วัน
5. การออกแบบเพิ่มเติมกิจกรรมท่องเที่ยว เส้นทางท่องเที่ยว ระบบการเข้าถึง ระบบการเชื่อมต่อ การเพิ่มจำนวนห้องพัก (ปัจจุบัน 2 พันห้องเป็น 5 พันห้องภายใน 5 ปี) พร้อมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ขนส่งมวลชน ระบบจัดการมลภาวะ การบริหารสิ่งแวดล้อมชายหาดและพื้นที่ธรรมชาติ พร้อมการออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูเมืองขนอม 6. การออกแบบเชื่อมโยงการเดินทางทางทะเล ระหว่างเกาะสมุย เกาะพะงัน ขนอม และสิชล โดยเบื้องต้นให้เชื่อมโยงด้วยความสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยว ต่อจากนั้นให้ลงทุนเชื่อมโยงด้วยเรือเฟอรี่ขนาดใหญ่
“วัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มพื้นที่ท่องเที่ยว สำหรับการออกแบบย่านท่องเที่ยวบริเวณชายหาดนั้นให้ใช้รูปแบบการพัฒนาเช่นเดียวกับหาดป่าตอง แต่ให้ออกแบบปรับปรุงฟื้นฟูรูปแบบการวางอาคาร ระบบการสัญจร การจัดการด้านหน้าอาคาร การออกแบบพื้นที่ค้าปลีก ระบบอาหารริมทาง (street food) และวิถีการท่องเที่ยวนันทนาการตลาดกลางคืน (tourism night market)”

595959859