แผนสำรอง ‘มิสทิน’ หั่นราคา 3% รับมือกำลังซื้อหด

11 มี.ค. 2559 | 07:00 น.
มิสทิน วางแผนสำรองรับมือกำลังซื้อหาย สาวไทยหมดมู้ดช็อปเครื่องสำอาง เตรียมหั่นราคาสินค้าลง 3% หลังเห็นสัญญาณเดือนมกราคมยอดวูบ 7% หวังกระตุ้นยอดขายโตตามเป้าหมาย 4% มั่นใจไม่กระทบต่อผลกำไร พร้อมเสริมกลยุทธ์ไซซิ่ง ผลิตสินค้าขนาดพิเศษขายช่องทางร้านสะดวกซื้อ

นายดนัย ดีโรจนวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เบทเตอร์เวย์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเครื่องสำอางระบบขายตรงแบรนด์มิสทิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า บริษัทเตรียมแผนสำรองในการดำเนินธุรกิจเพื่อรองรับการแข่งขันและกำลังซื้อในภาพรวมที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเป็นปกติ โดยเตรียมลดราคาสินค้าลง 3% จากปัจจุบัน ซึ่งจะพิจารณาสถานการณ์ตลาดและภาวะการแข่งขัน เพื่อให้มีอัตราการเติบโตได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ 4% และการลดราคาลงจะไม่ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัท เพราะคาดว่าจะมียอดขายเพิ่มมากขึ้น

ปัจจุบันราคาสินค้าของบริษัทยังไม่มีการปรับราคาขึ้นนับจากปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีปัญหาค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี รวมถึงปัญหาค่าเงินบาทที่ต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจากต่างประเทศ แต่ได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลง เมื่อคำนวณต้นทุนโดยรวมจึงยังมีต้นทุนยังใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา ขณะที่ภาวะการแข่งขันในปีนี้ยังมีความรุนแรงต่อเนื่อง โดยรูปแบบการแข่งขันจะเป็นการลดราคาสินค้าจากผู้ประกอบการ รวมถึงปรับลดขนาดสินค้า เพื่อให้เหมาะสมกับกำลังซื้อและดึงดูดให้ผู้บริโภคจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นด้วย

“รอบเดือนมกราคมที่ผ่านมาพบว่ายอดขายของมิสทินลดลง 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 ซึ่งเป็นผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคภาคการเกษตรในหลายพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่างๆ ทั้งภัยแล้ง น้ำท่วม ราคาตกต่ำ และตอนนี้บรรยากาศโดยรวมก็ยังไม่ดีขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งตอนนี้อากาศก็ร้อน ภาคเกษตรก็มีปัญหาภัยแล้ง ทำให้อารมณ์การซื้อสินค้าหายไป คนไม่มีอารมณ์ใช้เครื่องสำอาง”

นอกจากการเตรียมปรับลดราคาสินค้าลงแล้ว บริษัทยังวางแผนรับมือกำลังซื้อที่ชะลอตัวของปีนี้ ด้วยการใช้กลยุทธ์ Sizing หรือการผลิตสินค้าในขนาดที่เหมาะสมกับกำลังซื้อและช่องทางจัดจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อ อาทิ สินค้าทั่วไปผลิตขนาด 10 กรัม แต่ช่องทางร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น จะผลิตขนาด 6 กรัมเป็นต้น ขณะเดียวกันเตรียมผลิตสินค้าพิเศษที่ผลิตขึ้นมาเฉพาะช่วงเวลา ที่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์กำลังซื้อที่ลดลงด้วย เช่น เดือนเมษายนและพฤษภาคมจะผลิตสินค้าราคาประหยัดออกมาจำหน่ายโดยเฉพาะ เนื่องจากเป็นช่วงที่ยอดขายชะลอตัวมากที่สุดของปี สำหรับเป้าหมายยอดขายปีนี้ คาดว่าจะเติบโต 4% จากปีที่ผ่านมาที่มียอดขายรวมกว่า 1.36 หมื่นล้านบาท ทั้งเตรียมงบโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และงบการตลาดที่ 900 ล้านบาท หรือ 5% ของยอดขายรวม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,138 วันที่ 10 - 12 มีนาคม พ.ศ. 2559