ธพว. ดันโครงการ "กล้า D" ติดปีก SMEs สร้างโอกาสทะยานขึ้นเป็นดาวเด่น

21 ธ.ค. 2561 | 07:08 น.
ธพว. เดินหน้าภารกิจสนับสนุนเอสเอ็มอี ดันโครงการ "กล้า D" ยกระดับเอสเอ็มอีไทยสู่ธุรกิจดาวเด่นยุค พร้อมจับมือพันธมิตรต่อยอดให้ความรู้ สร้างโอกาส ขยายตลาด ก้าวทันเทคโนโลยี และเติมเต็มด้วยเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank เปิดเผยว่า ธนาคารได้ดำเนินโครงการ "กล้า D" ยกระดับผ่านรหัส 3D ได้แก่ D-Development พัฒนาธุรกิจด้วยความรู้คู่ทุน, D-Digitalให้บริการผ่านเทคโนโลยีทันสมัย และ D-Delivery บริการถึงถิ่นอย่างรวดเร็ว พร้อมเปลี่ยนแปลงตัวเอง "ปรับ เปลี่ยน ลุก เดิน ก้าวไปข้างหน้า" แนวทางนี้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2561 เน้นย้ำมาตรการพิเศษขับเคลื่อน SMEs สู่ยุค 4.0

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น เพื่อยกระดับเอสเอ็มอีไทยที่ยังดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิมให้ก้าวสู่การเป็น SMEs ดาวเด่น รวมถึงสร้างโอกาสแก่ผู้ต้องการเริ่มธุรกิจใหม่ให้เติบโตได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน โดยธนาคารให้ความสำคัญที่จะพาผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ถนนดิจิทัล ใช้เทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจ ช่วยให้ก้าวข้ามขีดจำกัดการทำธุรกิจแบบเดิม ๆ ตัวอย่างเช่น ธุรกิจค้าปลีกดั้งเดิม หรือ โชห่วย ที่ถูกร้านสะดวกซื้อสมัยใหม่ชิงตลาด หากใช้เทคโนโลยี อี-คอมเมิร์ซ มายกระดับให้ร้านเป็นศูนย์กระจายสินค้าชุมชนไปถึงมือผู้บริโภคโดยตรงจะช่วยให้เปิดตลาดใหม่ได้ นี่จึงภารกิจที่ ธพว. มุ่งมั่นจะเข้าไปสนับสนุนให้ SMEs ดั้งเดิมยกระดับตัวเองให้ได้


download

"ข้อมูลจากหลายหน่วยงานที่คาดการณ์เศรษฐกิจ โดยได้ประเมิน 10 ประเภทธุรกิจที่หากไม่ยกระดับ ปรับเปลี่ยน จะมีความเสี่ยงได้รับผลกระทบจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็น ธุรกิจสถาบันการเงิน, ธุรกิจผลิตและจำหน่าย หรือ ให้เช่า CD-DVD, กลุ่มยาง-ผลิตภัณฑ์ยางและปาล์มน้ำมัน, ธุรกิจร้านค้าปลีกดั้งเดิม (โชห่วย), ธุรกิจโทรศัพท์พื้นฐาน, เฟอร์นิเจอร์ไม้, อุตสาหกรรมสิ่งทอ-เครื่องหนัง, ธุรกิจทีวีดิจิทัล-เคเบิลทีวี-สื่อสิ่งพิมพ์ และเครือข่ายห้างสรรพสินค้า เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ธุรกิจดังกล่าวอาจถูกประเมินว่ามีความเสี่ยง แต่ในมุมมองของ ธพว. มั่นใจว่า ในวิกฤตย่อมมีโอกาส หากผู้ประกอบการในธุรกิจกลุ่มดังกล่าวสามารถยกระดับและปรับตัวได้ จะมีโอกาสกลับมาเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสามารถแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน"

สำหรับรูปแบบการสนับสนุนจะนำโปรแกรม "SME D Scale Up ความรู้คู่ทุน" ไปยกระดับธุรกิจ โดยเน้นการพัฒนา เช่น เติมความรู้ให้ธุรกิจชุมชนใช้สื่อออนไลน์ปักหมุดแจ้งเกิดตลาดอี-คอมเมิร์ซ, สนับสนุนการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิทัล, ออกแบบพัฒนาบรรจุภัณฑ์สินค้าให้ทันสมัย, พัฒนาคุณภาพสินค้าจนได้รับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือทั้งในและต่างประเทศ และร่วมกับห้างสรรพสินค้าจัดพื้นที่ขายสินค้า เป็นต้น ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลและแนะนำอย่างใกล้ชิดจากทีมพี่เลี้ยงมืออาชีพ เช่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ดูแลกลุ่มผู้ประกอบการยางพารา, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ดูแลกลุ่ม SMEs-Startup, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้พัฒนาโมเดลแนวคิดต้นแบบการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เป็นต้น

"โครงการกล้า D ธพว. จะดึงพันธมิตรเครือข่ายทั้งภาครัฐเอกชน สถาบันการศึกษาที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เข้ามาร่วมพัฒนาศักยภาพกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงผู้อยากจะมีธุรกิจของตัวเองได้มีโอกาสกลับไปสร้างธุรกิจในพื้นที่ภูมิลำเนาบ้านเกิด รอบนิคมอุตสาหกรรมและเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคเข้มแข็ง สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสร้างเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตด้วยคนในท้องถิ่น"

นายมงคล กล่าวต่อไปอีกว่า เมื่อผ่านโปรแกรมเติมความรู้แล้ว ธนาคารเตรียมสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษไว้รองรับขยายธุรกิจในรายที่ได้เข้าร่วมโครงการ เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) วงเงิน 30,000 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งกลุ่มเกษตรแปรรูป ธุรกิจท่องเที่ยว/ท่องเที่ยวชุมชน ผู้ประกอบการใหม่ที่มีนวัตกรรม กลุ่มค้าส่งค้าปลีก (โชห่วย/ร้านค้าชุมชน/ร้านธงฟ้า) ผู้ประกอบการค้าสินค้าเกษตร และกลุ่มผู้ประกอบการอยู่นอกระบบที่ประกอบอาชีพอิสระทั้งหลายไ ม่ว่าจะเป็น ค้าขายออนไลน์, Food Truck, ขับรถแท็กซี่, จักรยานยนต์รับจ้าง, พ่อค้าแม่ขายในตลาดสด เป็นต้น คิดอัตราดอกเบี้ยพิเศษ บุคคลธรรมดาปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และเมื่อยกระดับเข้าสู่การเป็นนิติบุคคล จัดทำบัญชีเดียวจะมีอัตราดอกเบี้ยถูกลงไปอีก ปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน

นอกจากนี้ สำหรับธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตสูงในปี 2562 เช่น ธุรกิจสปาเพื่อสุขภาพ, ธุรกิจการผลิตดิจิทัลคอนเทนต์, นักวิเคราะห์ข้อมูล, นักพัฒนาซอฟต์แวร์-ออกแบบแอพพลิเคชัน, การขายสินค้าออนไลน์, ธุรกิจบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ เป็นต้น ทาง ธพว. จะสร้างกระบวนการให้เข้าถึงสินเชื่อของธนาคารได้ง่ายและสะดวกที่สุดผ่านแพลตฟอร์ม "SME D Bank" แอพพลิเคชันที่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ ภายใต้รหัส "24x7" หมายถึง ตลอด 24 ชั่วโมง ทั้ง 7 วัน ทำงานควบคู่กับหน่วยบริการเคลื่อนที่ "รถม้าเติมทุน ส่งเสริม SMEsไทย ฉับไว ไปถึงถิ่น" เมื่อยื่นขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ จากนั้นภายใน 3 วัน เจ้าหน้าที่ธนาคารติดต่อกลับ เพื่อนัดหมายให้หน่วยรถม้าเติมทุนฯ เข้าไปพบ เพื่อขอดูข้อมูลเชิงประจักษ์การดำเนินธุรกิจจริง สามารถรู้ผลการพิจารณาสินเชื่อได้ใน 7 วัน ขณะเดียวกัน พนักงานของธนาคารทำงานภายใต้รหัส "8-8-7" หมายถึง 8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม (08:00-20:00 น.) ตลอด 7 วัน และเพิ่มเติมหลักสูตรสนับสนุนต่อยอดให้กับผู้ที่สนใจสมัครเข้าโครงการ "กล้า D" ของธนาคาร โดยจะเปิดโครงการในเร็ว ๆ นี้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-16-503x62