"ชิโนไทย-ITD" ชิงกวาดงานรัฐ! "2 บิ๊กรับเหมา" ชนสนั่นปี 62 แข่งประมูลเมกะโปรเจ็กต์

23 ธ.ค. 2561 | 00:00 น.
รับเหมายังคึกรับเมกะโปรเจ็กต์ปี 62 เล็งคว้างานใหญ่ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จับตา "กลุ่มซิโน-ไทย" รุกหนัก 'ภาคภูมิ' รับงานยังไม่ล้นมือ พร้อมเปิดรับซับคอนแทร็กต์รายกลาง-รายย่อยเข้าร่วมทีม ด้าน 'อิตาเลียนไทย' ยังไม่บุ่มบ่าม เน้นรอบคอบในการรับงาน 'สุเมธ' เผย หลายงานทยอยแล้วเสร็จ พร้อมรับงานใหม่เพิ่มได้ทันที

ในปี 2562 รัฐบาลเร่งผลักดันโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.การเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (คณะกรรมการพีพีพี) ว่า จะล้นมือหรือรับโครงการไปดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหนนั้น

นายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า คงต้องพิจารณาถึงความมั่นคงของแต่ละบริษัท ว่า มีฐานะทางการเงินอย่างไร เครดิตของแต่ละบริษัท แหล่งทุนของแต่ละราย ความเชื่อถือของสถาบันการเงินที่จะสนับสนุน

ทั้งนี้ "ซิโน-ไทย" โชคดีที่กลุ่มบีทีเอสและกลุ่มราชบุรีมีฐานการเงินที่มั่นคง แต่บางกลุ่มกลับพบว่า ไม่มีพันธมิตรประจำเหมือนซิโน-ไทย หากตัดสินใจเข้าร่วมประมูลต้องมั่นใจว่า "มีความพร้อมจริง" โดย "ซิโน-ไทย" ร่วมลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและสายสีเหลือง วงเงินรวม 4-5 หมื่นล้านบาท หากมีโครงการอื่นเข้ามาเพิ่ม ก็อาจต้องหาเข้ามาเพิ่มได้อีก ซึ่งการประมูลโครงการใหม่จะต้องคำนวณใส่ผลกำไรอย่างเพียงพอ หากมีการประมูลเข้ามาจำนวนมาก ได้ผลกำไรที่ต้องการ ก็สามารถจัดคนลงไปตามนั้นได้ทันที


S__3670022

"บริษัทยังต้องใช้ซับคอนแทร็กต์จากบริษัทรับเหมารายกลางและรายย่อยจำนวนมาก เบื้องต้น มีบริษัทรับเหมาตอกเสาเข็มมาร่วมงานแล้วหลายราย ปัจจุบัน รายเล็กยังไม่ค่อยมีงาน หรือ "มีแต่ยังน้อย" สู้รายใหญ่ไม่ไหว อีกทั้งยังพบว่า งานของกรมชลประทานยังมีออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โดยความตั้งใจแล้ว อยากเห็นผู้รับเหมาไทยทุกระดับเติบโตขึ้น ไม่อยากเห็นการนำผู้รับเหมาจากต่างประเทศเข้ามารุกตลาดจำนวนมาก เพราะย่อมส่งผลกระทบตามมาแน่ ๆ รัฐบาลควรสนับสนุนผู้รับเหมารายเล็ก-รายกลางของไทยมากกว่า อาจกำหนดเงื่อนไขให้ผู้รับเหมาไทยได้งานมากขึ้น จึงเป็นห่วงว่า หากกำหนดราคาเป็นเกณฑ์สำคัญ ต่อไปจะสู้ผู้รับเหมาของจีนไม่ได้"

นายสุเมธ สุรบถโสภณ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปกติการลงทุนจะดูผลตอบแทนและความเป็นไปได้ของโครงการ ปัญหาก็จะน้อยลงไป แต่ต้องดูปัญหาที่มีความเสี่ยงสูงที่จะกระทบต่อการลงทุน ทุนมากทุนน้อยเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ผลตอบแทนการลงทุนจะมีความสำคัญที่ผู้ให้กู้จะพิจารณา

โดยขณะนี้ "งานยังไม่ล้นมือ" บริหารจัดการได้ ไม่ดูที่มูลค่างานมากหรือน้อย แน่นอนว่า มีบางรายจะใช้ซับคอนแทร็กต์เข้ามาร่วมในบางงาน เอกชนมองเพียงผลตอบแทนการลงทุน ไม่ได้มองเรื่องการรับงานมากหรือน้อย ปัจจัยหลักยังมองถึงความคุ้มค่าการลงทุน งานมีความเสี่ยงหรือไม่ ปริมาณผู้โดยสาร ส่วนปริมาณงานมากหรือน้อย เข้าใจว่า เอกชนผู้ยื่นข้อเสนอสามารถบริหารจัดการได้ หาพาร์ตเนอร์หรือซับคอนแทร็กต์มาร่วมได้

"ปัจจุบัน 'อิตาเลียนไทย' มีงานโครงการต่างๆ แล้วเสร็จไปแล้วหลายโครงการ จึงพร้อมสำหรับการรับงานใหม่เข้ามาเพิ่มได้ทันที ปี 2562 จึงยังรับงานเพิ่มได้อีก แม้ว่าจะรับงานก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินหรือไม่ก็ตาม แต่ยังเป็นห่วงเรื่องงานที่ออกมาล่าช้าข้ามปี เช่น ปี 2561 ที่ยังพบว่า มีข้ามปี 2562 หลายโครงการ จึงต้องไปลุ้นรับรู้รายได้ในปี 2562 ต่อไป"

หน้า 31 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3429 ระหว่างวันที่ 23 - 26 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว