หมดยุค ... "ผู้หญิงแต่งออก"

22 ธ.ค. 2561 | 07:39 น.
| คอลัมน์ : บิสิเนส แบ็กสเตจ

| โดย ผศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ([email protected])

……………….


ในอดีตมีความเชื่อว่า ลูกผู้หญิงแต่งงานแล้วต้องไปเป็นสมาชิกครอบครัวสามี หรือที่เรียกว่า "แต่งออก"
ทำให้ทายาทหญิงมีโอกาสน้อยที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัว แต่ปัจจุบันพบว่า ครอบครัวนักธุรกิจสมัยใหม่เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทั้งที่เป็นสมาชิกครอบครัวและไม่ใช่สมาชิกครอบครัวเข้ามามีบทบาทเป็นผู้บริหารระดับสูงมากกว่าในธุรกิจทั่วไป

แม้แต่ตัวเลขยังคงน่ากังวลเล็กน้อย มีข้อมูลการวิจัยจาก National University of Singapore (NUS) ที่ระบุว่า สิงคโปร์มีผู้หญิงในคณะกรรมการบริษัทของธุรกิจครอบครัวมากเป็น 2 เท่าของบริษัททั่วไป ซึ่ง Marleen Dieleman รองศาสตราจารย์แห่ง NUS ให้เหตุผลว่า เนื่องจากขุมกำลังคนเก่งในครอบครัวมีจำกัด และแน่นอนว่า ลูกชายและลูกสาวที่ไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องสิทธิต่าง ๆ เหมือนในอดีต ทำให้สมาชิกในครอบครัวผู้หญิงมีโอกาสมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่จะได้เป็นผู้นำในธุรกิจครอบครัว

อย่างไรก็ตาม ก็ยังคงมีข้อสังเกตว่า มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารในธุรกิจครอบครัวเพียง 44% และเกือบทั้งหมดเป็นสมาชิกในครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการนั่นเอง นอกจากนี้ยังเห็นว่า การมีสมาชิกในครอบครัวผู้หญิงเข้ามาเป็นกรรมการบริษัทจะเป็นเสมือนสะพานสร้างโอกาส เพราะหากครอบครัวคุ้นเคยในการทำงานกับทีมที่มีความหลากหลายทั้งชายหญิงแล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่จะจ้างกรรมการผู้หญิงจากภายนอกคนอื่นเข้ามาด้วย


MP35-3429-1

การทำงานกับทีมที่มีความหลากหลาย นอกเหนือจากการให้โอกาสที่เท่าเทียมกันของชายหญิงแล้ว การศึกษาจากหลายสำนักยังพบว่า บริษัทที่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงมีผลกำไรสูงกว่าบริษัทที่ไม่มีผู้หญิงดำรงตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่า จำนวนผู้หญิงโดยรวมมีบทบาทของผู้บริหารน้อย ขณะที่ ธุรกิจครอบครัวในสิงคโปร์ ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่า 60% ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2015 พบว่า 10% ของกรรมการบริษัทเป็นผู้หญิง ซึ่งถือได้ว่ายังอยู่ในอัตราที่ตํ่า แต่ก็ยังสูงกว่าบริษัททั่วไป ที่มีกรรมการผู้หญิงอยู่เพียง 7.9% (ภาพที่ 1) ทั้งนี้ ไม่เพียงตัวเลขของผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารมีน้อยมากเท่านั้น ด้วยวัฒนธรรมเอเชียผู้หญิงในธุรกิจครอบครัวบางครั้งมีอำนาจค่อนข้างน้อย ไม่ว่าพวกเธอจะอยู่ในตำแหน่งใดก็ตาม (ภาพที่ 1)

สำหรับใน "เอเชีย" ด้วยความมุ่งมั่นของธุรกิจครอบครัวที่มักมุ่งจะให้ทายาทชายคนโตสานต่อตำแหน่งของบิดา นั่นหมายความว่า "ลูกสาวถูกกันออกจากการบริหารธุรกิจครอบครัวไปโดยปริยาย" นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญยังระบุว่า การเป็นสมาชิกในครอบครัวอาจทำให้ยากขึ้นเล็กน้อยที่จะได้รับการยอมรับในฐานะผู้นำต่อจากพ่อแม่ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นปัญหาสำหรับทายาทชายและหญิงเหมือนกัน แต่มักจะเป็นเรื่องที่ยากกว่าสำหรับทายาทหญิง

อย่างไรก็ตาม ใน "ประเทศจีน" การเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์ของประเทศกำลังผลักดันให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมมากขึ้น หลังจากนโยบายบุตรคนเดียวถูกยกเลิกไป ผู้หญิงจึงถูกทาบทามให้เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว เพราะไม่มีลูกหรือหลานชายคนใดที่จะมาสืบทอดกิจการ และยามที่เกิดความบาดหมางในครอบครัวในเรื่องธุรกิจ ก็มักเป็นผู้หญิงที่ก้าวเข้ามาระงับข้อพิพาทนั้น เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว พบว่า ใน "ยุโรป" ผู้หญิงอาจได้รับเลือกให้เข้ารับตำแหน่งในธุรกิจครอบครัวมากกว่า โดย Morten Bennedsen ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาธุรกิจครอบครัวแห่ง INSEAD กล่าวว่า ลูกสาวดูเหมือนจะหนีจากธุรกิจครอบครัวได้ยากกว่าลูกชาย

ซึ่งการที่ลูกสาวสามารถสื่อสารกับพ่อแม่ได้ดีกว่า จึงทำให้การถ่ายโอนกิจการเป็นไปอย่างราบรื่นมากกว่า อีกทั้งในปัจจุบัน ผู้หญิงยังมีแนวโน้มที่จะได้รับการศึกษามากกว่าผู้ชาย และมีแนวโน้มที่จะสามารถแข่งขันได้มากกว่า นั่นจึงเป็นเหตุผลทำให้พ่อแม่มีความเต็มใจที่จะพิจารณาเลือกทายาทอย่างเสมอภาคมากขึ้นเมื่อต้องวางแผนสืบทอดกิจการของตน

การก้าวเข้ามารับตำแหน่งผู้นำธุรกิจของทายาทหญิง ทั้งในเอเชียและยุโรป แม้จะมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ อย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัวที่ให้โอกาสผู้หญิงน้อยกว่ามาก ผู้นำหญิงก็ยังคงต้องก้าวข้ามอุปสรรคในเรื่องของค่านิยมเก่า ๆ รวมถึงหน้าที่การเป็นแม่และแม่บ้าน ซึ่งเรื่องเหล่านี้สำหรับครอบครัวมืออาชีพสมัยใหม่จะคุยกันตั้งแต่พัฒนาธรรมนูญครอบครัว เพื่อให้รู้ความคาดหวังของครอบครัวและร่วมกันกำหนดแนวทางที่ชัดเจนและเป็นธรรมแก่สมาชิกทุกคน ไม่ว่าจะ "หญิง" หรือ "ชาย"

หน้า 35 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,428 ระหว่างวันที่ 23-26 ธันวาคม 2561


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว