'อีซีบี' เตรียมความพร้อม! ก่อน "ขึ้นดอกเบี้ย" ครั้งแรกช่วงครึ่งหลังปี 2019

21 ธ.ค. 2561 | 05:49 น.
| บทวิเคราะห์ โดย Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

……………….


Event

ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ในวันที่ 13 ธ.ค. 2018 ได้มีมติประกาศยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (Asset Purchase Program : APP) ตั้งแต่เดือน ม.ค. 2019 ซึ่งเป็นไปตามการประกาศก่อนหน้า ตั้งแต่การประชุมนโยบายการเงินเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. 2018

ทั้งนี้ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ (Main Refinancing Operations Rate) ที่ระดับ 0.00% พร้อมกับคงอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับ ECB (Deposit Facility Rate) ที่ระดับ -0.40% และคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Marginal Lending Facility Rate) ที่ระดับ 0.25% อีกทั้งยังระบุว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงฤดูร้อนของปี 2019 (มิ.ย. - ก.ย.) จนกว่าจะมั่นใจได้ว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่ ECB เห็นว่าเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป


european-central-bank



Analysis
ECB ประกาศขยายการลงทุนต่อในพันธบัตรที่ครบอายุ (Reinvestment) ภายหลังการยุติการเข้าซื้อพันธบัตร (APP) โดยก่อนหน้าการประชุมนโยบายการเงิน ECB ได้ประเมินสภาพคล่องส่วนเกิน (Excess Liquidity) ภายหลังการยุติการเข้าซื้อพันธบัตรในเดือน ธ.ค. 2018 พบว่า หาก ECB ตัดสินใจไม่ลงทุนต่อในพันธบัตรที่ครบอายุ และไม่ปล่อยสินเชื่อระยะยาวแก่ธนาคารพาณิชย์รอบใหม่ (Target Long-Term Refinancing Operations : TLTROs) ที่จะครบกำหนดชำระคืนในปี 2020 และ 2021 ทำให้สภาพคล่องส่วนเกินที่มีอยู่ในปัจจุบันราว 2 ล้านล้านยูโร หมดไปภายในสิ้นปี 2022 การลงทุนต่อในพันธบัตรที่ครบอายุจึงเป็นการรักษาระดับการผ่อนคลายของนโยบายการเงิน และเป็นกันชนสำหรับผลกระทบต่อภาวะตึงตัวทางการเงินในตลาดพันธบัตร โดย ECB จะรักษายอดการถือครองพันธบัตรสุทธิเท่าเดิม ณ วันสิ้นสุดการเข้าซื้อพันธบัตรในเดือน ธ.ค. 2018 ราว 2.6 ล้านล้านยูโร

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน ECB เผชิญกับข้อจำกัดของวงเงินการเข้าซื้อพันธบัตรของประเทศหนึ่งที่ต้องไม่เกิน 33% ของมูลค่าตลาดพันธบัตรทั้งหมด เพื่อไม่ก่อให้เกิดความบิดเบือนต่อตลาดพันธบัตรของประเทศต่าง ๆ ซึ่งพบว่า ปัจจุบัน ECB มีสัดส่วนมูลค่าที่ถือพันธบัตรเยอรมนีและเนเธอร์แลนด์เข้าใกล้ขีดจำกัด จึงเหลือช่องว่างให้เข้าซื้อพันธบัตรอีกเพียงเล็กน้อย (รูปที่ 1) อีไอซีคาดว่า กระบวนการลงทุนต่อจะมีมูลค่าการเข้าซื้อประมาณ 1.75 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน ในปี 2019 ทำให้งบดุลของ ECB ยังคงระดับที่มูลค่าราว 5 ล้านล้านยูโร (รูปที่ 2) ทั้งนี้ กระบวนการลงทุนต่ออาจดำเนินการต่อจนถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรืออาจขยายต่อในกรณีที่มีความจำเป็น


ECBTable



ECB ปรับลดประมาณการตัวเลขทางเศรษฐกิจลง แต่ปัจจัยพื้นฐานของอุปสงค์ภายในยังคงสนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจยูโรโซน
ในการประชุมครั้งนี้ ECB ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2018, 2019, 2020 และ 2021 อยู่ที่ 1.9%, 1.7%, 1.7% และ 1.5% ตามลำดับ ลดลงจากการประมาณการเดิมในเดือน ก.ย. ที่ 2.0%, 1.8% และ 1.7% ในปี 2018, 2019 และ 2020 ตามลำดับ เนื่องจากในระยะยาวมีปัจจัยบวกที่สนับสนุนเศรษฐกิจยูโรโซนลดลง ทั้งจากอุปสงค์ภายนอก (External Demand) ที่มีแนวโน้มสนับสนุนเศรษฐกิจยูโรโซนลดลง ภาวะการเงินที่มีแนวโน้มตึงตัวขึ้น การเติบโตของการจ้างงานขยายตัวช้าลงจากการขาดแคลนแรงงานในบางประเทศ อย่างไรก็ดี ในระยะปานกลาง นโยบายการเงินในภาพรวมยังคงผ่อนคลาย ซึ่งช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจยูโรโซนที่จะเติบโตจากการบริโภคภาคเอกชน และขับเคลื่อนให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนเข้าใกล้เป้าหมาย 2% แม้ว่า ECB ได้ยุติการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มก็ตาม โดย ECB คาดว่าจะสามารถเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้นโยบายการเงินกลับสู่ภาวะปกติ (Normalization) ได้ในช่วงครึ่งหลังปี 2019 ทั้งนี้ ECB ได้ปรับการประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในปี 2018, 2019, 2020 และ 2021 อยู่ที่ 1.8%, 1.6%, 1.7% และ 1.8% ตามลำดับ เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการครั้งก่อนหน้าที่ 1.7% สำหรับปี 2018-2020 ซึ่งปรับการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบโลกมีแนวโน้มลดลง หรือกล่าวได้ว่า ปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในยูโรโซนค่อย ๆ สูงขึ้น มาจากอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดย ECB ประมาณการอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปี 2018 อยู่ที่ 1.0% และเพิ่มเป็น 1.8% ในปี 2021

ผลการแถลงนโยบายการเงินเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ ทำให้เงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม ECB ยังคงแสดงมุมมองที่ระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ภายหลัง นายมาริโอ ดรากี ประธาน ECB แถลงการยุติมาตรการเข้าซื้อพันธบัตร (APP) และคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับเดิมต่อไป รวมถึงรายละเอียดแผนการลงทุนต่อจนกว่าจะมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ค่าเงินยูโรอ่อนค่าลงเล็กน้อย ราว 0.06% อยู่ที่ระดับ 1.1361 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อยูโร จากระดับ 1.1369 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อยูโร ก่อนการแถลงนโยบายการเงิน ในขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลเยอรมนีอายุ 10 ปี ปรับลดลงเล็กน้อย 1.6 bps ลงมาอยู่ที่ 0.267% ทั้งนี้ ตลาดการเงินยูโรโซนตอบสนองไม่รุนแรง เนื่องจากการยุติการเข้าซื้อพันธบัตรเพิ่มเติมของมาตรการ APP เป็นไปตามที่ตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ อย่างไรก็ดี ECB ยังคงระบุว่า จะคงอัตราดอกเบี้ยต่อไปอย่างน้อยจนถึงช่วงกลางปี 2019 สะท้อนว่า ECB ยังคงมีมุมมองที่ระมัดระวังต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย (Dovish Stance)

 

[caption id="attachment_364181" align="aligncenter" width="503"] มาริโอ ดรากี มาริโอ ดรากี[/caption]

Implication
อีไอซี มองว่า ECB อาจปล่อยสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์รอบใหม่ภายหลังสิ้นสุด APP ที่ผ่านมา ECB ได้ปล่อยสินเชื่อระยะยาวดอกเบี้ยต่ำแก่ธนาคารพาณิชย์เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อต่อ (TLTROs) ซึ่งสินเชื่อ TLTROs ที่เหลืออยู่จะครบกำหนดชำระคืนมูลค่า 3.83 แสนล้านยูโร ในเดือน มิ.ย. 2020, มูลค่า 6.2 หมื่นล้านยูโร ในเดือน ก.ย. 2020, มูลค่า 4.4 หมื่นล้านยูโร ในเดือน ธ.ค. 2020 และมูลค่า 2.30 แสนล้านยูโร ในเดือน มี.ค. 2021 ในช่วงระยะเวลาก่อนปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น ECB อาจตัดสินใจปล่อยสินเชื่อ TLTROs รอบใหม่ ซึ่งแรงจูงใจต่อการตัดสินใจดังกล่าว ประกอบไปด้วย

1) ป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนสภาพคล่องฉับพลันภายหลังการครบอายุสินเชื่อ TLTROs

2) ชะลอการลดลงของสภาพคล่องส่วนเกินภายหลังการยุติการเข้าซื้อพันธบัตร

3) ช่วยเหลืออิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่ธนาคารพาณิชย์ใช้ประโยชน์จากสินเชื่อ TLTROs มากที่สุด ซึ่งภายหลัง TLTROs ครบกำหนดชำระคืน อาจเกิดปัญหาขาดแคลนสภาพคล่องสำหรับธนาคารพาณิชย์ในอิตาลี

อย่างไรก็ตาม TLTROs ถูกออกแบบมาเพื่อรักษาการเติบโตของเศรษฐกิจยูโรโซนในภาพรวมมากกว่าการช่วยเหลือเพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง การปล่อยสินเชื่อรอบใหม่จึงต้องมีการแลกเปลี่ยน (Trade-off) ระหว่างการช่วยเหลือสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์อิตาลีที่อาจประสบปัญหา แต่อาจเป็นการกระตุ้นสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ในกลุ่มประเทศยูโรโซนอื่น ๆ อาทิ เยอรมนี เพิ่มเติมเช่นกัน แม้ว่าในการประชุมนโยบายการเงินในเดือน ธ.ค. 2018 ไม่มีกล่าวถึง TLTROs อย่างชัดเจน แต่จากแรงจูงใจข้างต้น อีไอซีมองว่า มีโอกาสที่ ECB ใช้สินเชื่อ TLTROs มาเป็นเครื่องมือในการพยุงเศรษฐกิจและสภาพคล่องในยูโรโซนได้ในช่วงเดือน มี.ค. 2019

จับตาแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ นโยบายกีดกันทางการค้า และความไม่แน่นอนทางการเมือง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ในระยะต่อไป แม้ ECB จะประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนอยู่ในช่วงการขยายตัว แต่อีไอซีมองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้ ECB อาจไม่สามารถเร่งออกมาตรการตึงตัวทางการเงินได้ตามที่คาด ประกอบด้วย

(1) อัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่อาจต่ำกว่าเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของ ECB เนื่องจากแนวโน้มราคาน้ำมันดิบโลกที่อาจปรับตัวลดลงและอาจเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์

(2) นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะประเด็นการขู่เรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มรถยนต์และส่วนประกอบ ซึ่งจะกระทบต่อผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของยุโรปเป็นจำนวนมาก

(3) ความไม่แน่นอนทางการเมืองและแนวโน้มการขาดดุลทางการคลังของอิตาลี ที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอิตาลี

(4) การแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ที่จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนของทั้ง 2 ฝ่าย

นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของ ECB ยังคงมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนได้ สะท้อนจากถ้อยแถลงที่ ECB กล่าวว่า ยังคงดูข้อมูลทางเศรษฐกิจ (Subject to Incoming Data) ประกอบการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ความเสี่ยงในภาพรวมต่อเศรษฐกิจยูโรโซนยังคงสมดุล แต่มีความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น และนโยบายการเงินของ ECB ในระยะข้างหน้ายังคงมีแนวโน้มผ่อนคลาย และ ECB ยังมีความระมัดระวังในการดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว

| บทวิเคราะห์ โดย ชินโชติ เถรปัญญาภรณ์ ([email protected])

Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

EIC Online : www.scbeic.com (18 ธันวาคม 2561)



595959859

แอดฐานฯ