ปตท.จี้คลอดเกณฑ์สมาร์ทซิตี ปั้นพื้นที่กว่า 3 พันไร่อีอีซีไอ รับนักลงทุนไทย-เทศ

26 ธ.ค. 2561 | 03:49 น.
ปตท.จี้บีโอไอ คลอดหลักเกณฑ์ การให้สิทธิประโยชน์ลงทุน “สมาร์ท ซิตี” หวังดันพื้นที่อีอีซีไอ จ.ระยอง พื้นที่กว่า 3 พันไร่เป็นเมืองใหม่รองรับการลงทุนด้านนวัตกรรม พร้อมตอกเสาเข็มโครงสร้างพื้นฐาน ม.ค.ปีหน้า โรดโชว์ดึงนักลงทุน ขณะที่ไต้หวัน และเกาหลีแสดงเจตจำนงเข้ามาแล้ว

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ปตท.อยู่ระหว่างรอความชัดเจนในมาตรการส่งเสริมการลงทุนสำหรับการจัดตั้งเมืองอัจฉริยะหรือสมาร์ท ซิตี โดยเฉพาะการกำหนดหลักเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ในประเภทกิจการทั้ง 7 ด้าน ว่าจะนำหลักเกณฑ์ใดมากำหนด เพื่อให้ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

ทั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในกรอบประเภทที่กว้างอยู่ ยังไม่ได้ระบุลักษณะหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนของแต่ประเภทกิจการที่ส่งเสริม ดังนั้น หากมีความชัดเจนในส่วนนี้ ทางปตท.จะขอยื่นรับการส่งเสริมในการจัดตั้งสมาร์ท ซิตีในเขตส่งเสริมนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EECi บริเวณพื้นที่วังจันทร์วัเลย์พื้นที่กว่า 3 พันไร่ เพื่อรองรับการลงทุนด้านงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ
TP11-3429-A

โดยที่ผ่านมาปตท.ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนด้านการพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานในระยะแรกมูลค่าราว 3 พันล้านบาทไปแล้ว ซึ่งยังมีพื้นที่การพัฒนาระยะที่ 2 อีกกว่า 2 พันไร่ ซึ่งจะต้องขอสิทธิประโยชน์ลงทุนในการจัดตั้งเมืองใหม่อัจฉริยะเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด โดยคาดว่าในปี 2562น่าจะเห็นความชัดเจน

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินงานในพื้นที่อีอีซีได้นั้น ขณะนี้ปตท.ได้ทำการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเสร็จแล้ว รวมถึงสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ทำการออกแบบกลุ่มอาคารอีอีซีไอ ระยะที่ 1 บนพื้นที่ 96 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างศูนย์วิจัยและนวัตกรรม ใช้งบประมาณ 1,142 ล้านบาท และจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนมกราคม 2562

นอกจากนี้ ทางภาครัฐต้องการให้กิจกรรม SPACE INNOPOLIS ย้ายมาอยู่ในพื้นที่อีอีซีไอเพียงแห่งเดียว จากปัจจุบันที่ตั้งอยู่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ที่ดำเนินงานโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการดำเนินงานและได้เข้ามาจับจองพื้นที่ขนาด 72 ไร่ เพื่อเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอวกาศ อีกทั้ง ภาครัฐต้องการจัดตั้งเครื่องกำเนิดแสงซินโครตรอนเครื่องที่ 2 ของประเทศ จากปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา โดยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) อยู่ระหว่างการนำเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา เพื่อจะก่อสร้างศูนย์ปฏิบัติการวิจัยเครื่องกำเนิดซินโครตรอนบนพื้นที่ 33 ไร่ ใช้งบลงทุนกว่า 9.3 พันล้านบาท ขณะเดียวกันก็มีความร่วมมือในกลุ่มของปตท.ด้วย

ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกหรือไตรมาส 2 ปีหน้า ปตท.จะดำเนินการโรดโชว์ เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนมาใช้พื้นที่ตั้งโรงงานวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละบริษัท โดยสามารถใช้เครื่องมือวิจัยส่วนกลางร่วมกันได้

แอดฐานฯ

ส่วนบริษัทที่แสดงเจตจำนงที่จะเข้ามาลงทุนอาคารวิจัยนวัตกรรม และศูนย์สาธิตเทคโนโลยีในพื้นที่อีอีซีไอ Innovation Zone ได้แก่ บริษัท BioLASCO จากไต้หวัน บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด อีกทั้ง กลุ่มบริษัทผลิตชิ้นส่วนประกอบการสร้างเครื่องเร่งอนุภาค และระบบลำเลียงแสง จากเกาหลี ที่แสดงความสนใจจะตั้งธุรกิจในพื้นที่ เป็นต้น

หน้า 11 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,429 วันที่ 23 - 26 ธันวาคม พ.ศ. 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว