ข้าพระบาท ทาสประชาชน : กทม.อย่าเอาสมบัติแผ่นดิน เอื้อประโยชน์เอกชน

20 ธ.ค. 2561 | 11:27 น.
กทม.-03 S__6799381 วันนี้ขอพูดเรื่องการบ้านสักวันครับ เพราะเรื่องนี้อาจเป็นโรคระบาด โดยกรุงเทพมหานคร(กทม.) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นผู้แพร่เชื้อและเป็นพาหนะนำโรค ไปสู่หน่วยปกครองท้องถิ่นอื่นๆ ที่มีหน้าที่ดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการสมบัติสาธารณะ ใช้อำนาจหน้าที่เปิดทางให้เอกชน เอาสมบัติแผ่นดินมาเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจของตน โดยที่ประชาชนเจ้าของสมบัติสาธารณะร่วมกัน ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ด้วยความชํ้าใจ

ปัญหาที่ขอพูดถึง อันอาจเป็นโรคระบาดกลืนกินสมบัติสาธารณะ ที่เกิดขึ้นใน กทม. ก็คือกรณีที่กรุงเทพมหานคร อนุญาตให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน)  ก่อสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง ซึ่งเป็นคลองสาธารณะ เป็นทางนํ้า ทางระบายนํ้าและทางเดินเรือ ที่ประชาชนใช้สัญจรไปมา โดยบริษัทเอกชนมีวัตถุประสงค์ชัดแจ้งว่า เพื่อเชื่อมที่ดินในโครงการอาคารชุดของบริษัท จำนวนหลายโครงการที่ตั้งอยู่ 2 ฟากฝั่งคลองพระโขนง ให้สามารถมีถนนเชื่อมโยงโครงการข้ามคลองเข้าหากัน เพิ่มมูลค่าที่ดิน และเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าที่มาซื้ออาคารชุดของบริษัท
S__6799383 ดังปรากฏตามภาพถ่าย  สะพานดังกล่าวจึงเป็นสะพานที่สร้างขึ้นโดยเอกชน เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจของเอกชนเท่านั้น กรุงเทพ มหานครได้ประโยชน์อะไรจากสะพานนี้บ้างครับ ผู้ว่าฯกทม. ส่วนประชาชนผู้สัญจรไปมาโดยทั่วไป หากประสงค์จะใช้ถนนและข้ามสะพานดังกล่าว เพื่อสัญจรไปมาระหว่างซอยสุขุมวิท 77 หรือซอย อ่อนนุช ไปสู่ซอยพระโขนง หรือเพื่อขึ้นทางด่วน บริษัทเอกชนก็ตั้งด่านผ่านเข้าออกและเก็บเงินจากทุกคนทุกคัน ที่จะผ่านถนนและสะพานข้ามคลอง โดยเก็บจากรถยนต์คันละ 20 บาท จักรยานยนต์คันละ 10 บาท สร้างรายได้แก่บริษัทวันละหลายหมื่นหรือแสนบาทต่อวัน

ไม่เพียงเท่านั้นครับ สะพานแห่งนี้ยังตั้งชื่อสะพานเสียสวยหรูเลยว่า “สะพานแสนสำราญ” แสดงความเป็นเจ้าของว่าเป็นของบริษัทชัดเจน วันดีคืนดีบริษัทจะจัดงาน ปิดสะพานปิดถนน ทำกิจกรรมใดๆ ของโครงการ ก็ได้ตามสะดวกสบาย แสดงให้เห็นชัดเจนว่า สะพานแห่งนี้มิใช่สร้างเพื่อยกให้เป็นสาธารณะ หรือยกให้ กทม.เพื่อประโยชน์สาธารณะแต่อย่างใด
S__6799385

[caption id="attachment_363867" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

แม้แต่ผู้อยู่อาศัยและซื้อโครงการอาคารชุด บริษัทเอกชนแห่งนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านทาง ต้องเสียเงินเช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป อันเป็นการแสดงออกถึงความเห็นแก่ได้ โดยอาศัยประโยชน์จากสมบัติสาธารณะ ซึ่งไม่ทราบว่า กทม.อนุญาตให้เอกชนรายนี้ทำเช่นนี้ได้อย่างไร และถ้าเอกชนรายอื่นๆ ทำเช่นนี้บ้าง สมบัติสาธารณะของประชาชนจะเป็นอย่างไร แม่นํ้า ลำคลองสาธารณะทั้งหลายใน กทม.และทั่วประเทศ มิเต็มไปด้วยสะพานที่เอกชนสร้างและเก็บกินผลประโยชน์กันไปทั้งบ้านทั้งเมืองหรือ

ปัญหาทางกฎหมายและระเบียบปฏิบัติของฝ่ายบริหารท้องถิ่น และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีอย่างไร เป็นปัญหาที่น่าข้องใจ สงสัยอย่างยิ่งว่า กรณีนี้ กทม.ได้ดำเนินการโดยชอบหรือไม่ บริษัทเอกชนดังกล่าว ได้ปฏิบัติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เป็นคำถามที่ผู้ว่าฯ กทม. ควรจะต้องมีคำตอบแก่ประชาชน ทำไมจึงปล่อยให้เอกชน สร้างสะพานข้ามคลองสาธารณะเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ และเก็บกินผลประโยชน์เช่นนี้ได้
S__6799387 พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 บัญญัติไว้ในมาตรา 89 ให้อำนาจหน้าที่แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการดำเนินกิจการต่างๆ เช่น การรักษาความสะอาด การป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดให้มีการรักษาและบำรุงทางบกและทางนํ้าก็จริง หากมีกฎหมายอื่นกำหนดอำนาจหน้าที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐในหน่วยงานอื่นได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้เป็นการเฉพาะหรือกำหนดหลักเกณฑ์ ขั้นตอน หรือวิธีการในการดำเนินการไว้ด้วยแล้ว การใช้อำนาจของ กทม.จะต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องนั้นอย่างเคร่งครัดด้วย

การสร้างสะพานข้ามคลองพระโขนง ต้องคำนึงถึงพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านนํ้าไทย พ.ศ.2456 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านนํ้าไทย (ฉบับที่14) พ.ศ.2535 ซึ่งกำหนดขั้นตอนสำคัญไว้ในมาตรา 117 วรรคหนึ่ง โดยห้ามมิให้ผู้ใดปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงลํ้าเข้าไปเหนือนํ้า ในนํ้าและใต้นํ้าของแม่นํ้าลำคลองอันเป็นทางสัญจรของประชาชนหรือที่ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากเจ้าท่า
S__6823978 นอกจากนี้ตามระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยการขออนุญาตก่อสร้างสะพานข้ามคลอง พ.ศ. 2549 หมวด 3 ว่าด้วยการอนุญาต เงื่อนไขการอนุญาตและการก่อสร้างสะพาน ข้อ 11 จะเปิดช่องให้ขออนุญาตก่อสร้างได้ แต่ในข้อ 12 การอนุญาตให้ก่อสร้างสะพานข้ามคลองต้องไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร กฎหมายว่าด้วยการผังเมือง กฎหมายหรือระเบียบอื่นที่เกี่ยวข้อง และที่สำคัญคือข้อ 14 ได้กำหนดไว้ว่า “ผู้ขออนุญาตต้องยินยอมยกสะพานที่ก่อสร้างให้เป็นสาธารณประโยชน์ และมีหน้าที่ดูแลและบำรุงรักษา สะพานดังกล่าวให้มีความมั่นคงแข็งแรง และสามารถใช้งานได้โดยสะดวกด้วย”
S__6823977
เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงเรื่องสะพานข้ามคลองพระโขนง ที่ กทม.อนุญาตให้ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ก่อสร้างข้ามคลองสาธารณะที่ถือเป็นทางสัญจรทางนํ้าของประชาชนหรือทางนํ้าที่เป็นสาธารณ-สมบัติของแผ่นดิน ที่ใช้เพื่อสาธารณประโยชน์หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามมาตรา 1304(2) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยมิได้ยกให้เป็นสมบัติสาธารณประโยชน์ บริษัทเอกชนดังกล่าวยังคงเป็นเจ้าของสะพานเหมือนทรัพย์สินส่วนตน ติดป้ายตั้งชื่อสะพานแสดงออกต่อประชาชนทั่วไปว่าตนเป็นเจ้าของและเรียกเก็บเงินจากประชาชนผู้สัญจรไปมาผ่านเส้นทางดังกล่าวเช่นนี้

จึงมีคำถามดังๆ ถึงบริษัทดังกล่าวว่ามีอำนาจกระทำได้โดยชอบหรือไม่ การอนุญาตของ กทม. ถือเป็นการใช้อำนาจและปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เรื่องนี้ประชาชนข้องใจสงสัยอย่างยิ่ง อยากให้ผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงและตอบคำถามประชาชนด้วย หรือจะรอให้ประชาชนต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเสียก่อน

เรื่องนี้ กทม.กับบริษัทเอกชนดังกล่าว ควรรีบแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้ กรณีเช่นนี้มีโทษทางอาญา อาจถึงจำคุกได้นะครับ

| คอลัมน์ : ข้าพระบาททาสประชาชน
| โดย : ประพันธุ์ คูณมี
| หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3428 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-22 ธ.ค.2561
595959859