เปิด "3 กรณีศึกษา" ทรานสฟอร์มองค์กรอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

20 ธ.ค. 2561 | 05:08 น.
201261-1201

| บทความพิเศษ : เปิด "3 กรณีศึกษา" ทรานสฟอร์มองค์กรอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ


| โดย นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

……………….


ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในโลกยุคที่องค์กรส่วนใหญ่เริ่มตื่นตัวกับการปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อให้ตอบโจทย์การแข่งขันและความต้องการของผู้บริโภคนั้น ยังมีองค์กรอีกมากที่ติดขัดและไม่สามารถก้าวข้ามความเป็นอะนาล็อกไปสู่ดิจิทัลได้อย่างราบรื่น โดยปัจจัยที่เป็นปัญหาระดับต้น ๆ คือ การขาดความรู้ ความเชี่ยวชาญ รวมถึงขาดองค์ความรู้ในการทรานสฟอร์มองค์กร

แต่หากมองรอบตัวจะพบว่า มีหลายกรณีศึกษาที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของธุรกิจจากการทำ Digital Transformation อยู่มากมาย และมีชื่อของ "เอบีม คอนซัลติ้ง" ในฐานะบริษัทที่ปรึกษา ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการทรานสฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัลปรากฏอยู่ด้วย ไม่ต่ำกว่า 400 โครงการทั่วโลก ในจุดนี้ นายอิชิโร ฮาระ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาผู้ให้บริการการปรับเปลี่ยนองค์กรธุรกิจ ในเครือบริษัท เอบีม คอนซัลติ้ง จำกัด ประเทศญี่ปุ่น มองว่า องค์ความรู้และประสบการณ์เหล่านั้น สามารถช่วยธุรกิจไทยในการทรานสฟอร์มองค์กรได้เช่นกัน จึงได้ยกกรณีศึกษาที่น่าสนใจจาก 3 ธุรกิจยักษ์ใหญ่ มาเป็นกรณีศึกษาเพื่อองค์กรธุรกิจในประเทศไทย


153F03D7-77A5-4B99-A06C-287F8576C91F

กรณีแรก
เป็นของบริษัทผู้ผลิตยาสระผมยี่ห้อหนึ่งของญี่ปุ่น ที่ต้องการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ กลยุทธ์ของบริษัทนี้เลือกใช้วิธีจับมือกับบริษัทผู้จัดจำหน่ายแก๊ส ซึ่งทำให้ได้รับข้อมูลของผู้ใช้น้ำร้อนในภูมิภาคต่าง ๆ และจากข้อมูลนี้เอง ทำให้บริษัทพบว่า ในบางภูมิภาคมีการใช้น้ำร้อนอย่างมากในช่วงเช้า ซึ่งสะท้อนได้ว่า คนในภูมิภาคนั้น ๆ มีการสระผมตอนเช้า บริษัทผู้ผลิตยาสระผมจึงใช้ข้อมูลดังกล่าวในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาสระผมที่เหมาะกับการสระผมในช่วงเช้า ออกมาเจาะตลาดเฉพาะภูมิภาคนั้นได้อย่างตรงกลุ่ม

กรณีศึกษาที่ 2 เป็นของ บริษัท โคมัตสุ บริษัทผู้ให้บริการเครื่องจักรสำหรับการก่อสร้างคุณภาพสูง ซึ่งในยุคหนึ่ง 'โคมัตสุ' ได้นำเซนเซอร์ต่าง ๆ เข้ามาติดตั้งในเครื่องจักร เพื่อให้บริการลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น แต่นั่นไม่เพียงพอสำหรับยุค Digital Transformation โคมัตสุได้ก้าวไปอีกขั้นด้วยการสร้างแพลตฟอร์มชื่อ LANDLOG เนื่องจากตระหนักว่า สิ่งที่ธุรกิจต้องการไม่ใช่แค่ข้อมูลจากเซนเซอร์ หากแต่เป็นภาพรวมของการก่อสร้างตึก หรือ อาคารต่าง ๆ แพลตฟอร์ม LANDLOG ของโคมัตสุจึงเข้ามาตอบโจทย์นั้นได้อย่างลงตัว ด้วยการดึงบริษัทก่อสร้างทุกรายเข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มดังกล่าว และนำเสนอข้อมูลนี้ต่อบริษัทเจ้าของอาคาร เพื่อให้ สามารถตรวจสอบภาพรวมและความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างต่าง ๆ ได้ในหน้าจอเดียว


A3BC7711-4405-4437-960A-C74C28A10738

กรณีศึกษาสุดท้าย 
ที่ "เอบีม คอนซัลติ้ง" นำเสนอ คือ บริษัทผู้ผลิตเครื่องจักรสำหรับผลิตราเมง ชื่อ 'โอตาเคะ' (OHTAKE) ที่ก่อนหน้านี้โอตาเคะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาเครื่องจักรให้สามารถผลิตราเมงให้ดีที่สุดมาโดยตลอด แต่เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โอตาเคะจึงตระหนักว่า สิ่งที่โอตาเคะต้องเปลี่ยนเช่นกัน คือ เรื่องของมุมมองในการทำธุรกิจ โอตาเคะจึงได้พลิกกลับ 180 องศา จากที่เคยตั้งเป้าหมายว่าจะพัฒนาเครื่องจักรให้ผลิตราเมงให้ดีที่สุด มาเป็นการโฟกัสไปที่ผู้บริโภคแทน ว่า ลูกค้าต้องการราเมงแบบใด

แต่โอตาเคะทราบดีเช่นกันว่า ลำพังโอตาเคะเพียงบริษัทเดียวคงไม่สามารถคิดได้อย่างรอบด้าน บริษัทจึงหันมาจับมือกับพันธมิตร ซึ่งก็คือ "เอบีม คอนซัลติ้ง" ที่มีประสบการณ์และมีองค์ความรู้เข้ามาช่วยหาโซลูชันที่เหมาะสม นั่นจึงนำไปสู่การติดตั้งเซนเซอร์ IoT เพื่อช่วยให้ผู้ผลิตบำรุงรักษาเครื่องและปรับเปลี่ยนชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้ก่อนที่เครื่องจักรจะประสบปัญหา

จะเห็นได้ว่า ความสำเร็จของทั้ง 3 องค์กร จาก 3 กรณีศึกษาที่กล่าวมาข้างต้น คือ สิ่งที่ธุรกิจไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ ไม่ว่าจะเป็น การจับมือกับพันธมิตรเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลใหม่ ๆ การคิดในภาพรวม และสร้างแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ลูกค้า รวมถึงการตระหนักว่า หากขาดความเชี่ยวชาญ การหาพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการทำ Digital Transformation ก็เป็นสิ่งที่สามารถนำพาองค์กรให้ก้าวข้ามผ่านอุปสรรคได้เช่นกัน


4E756DFE-5768-4A70-9F46-80D4A4DD2BB5

ทั้งนี้ นายฮาระยังได้ฝากทิ้งท้ายถึงองค์กรธุรกิจไทยด้วยว่า สิ่งที่ไม่ควรประมาทในโลกยุคดิจิทัลมี 3 ประการ นั่นคือ คู่แข่งของธุรกิจสามารถเกิดขึ้นมาได้จากทุกที่ เห็นได้จากการเกิดขึ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก เสี่ยวมี่ ที่ใช้เวลาไม่ถึงสิบปี จนมีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์ ในขณะที่ บริษัทในอดีตอาจต้องใช้เวลาถึง 20 ปี จึงจะเติบโตและมีมูลค่าดังกล่าว

ประการที่ 2 คือ การตระหนักว่า ดิจิทัลไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป หากแต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน เห็นได้จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอัตราการใช้อินเตอร์เน็ตสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น หากธุรกิจไม่เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่วันนี้ อาจไม่สามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้อีกต่อไป และประการสุดท้าย คือ ธุรกิจต้องมองหาพาร์ทเนอร์ หรือ พันธมิตรจากส่วนต่าง ๆ มากขึ้น เพราะการมีพาร์ทเนอร์จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันและเกิดการไหลเวียนของดาต้า ซึ่งดาต้าเหล่านี้เองจะกลายเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวธุรกิจนั้น ๆ ในที่สุด

สำหรับธุรกิจที่ไม่มั่นใจว่าจะปรับเปลี่ยนองค์กรอย่างไรให้เข้ากับยุคดิจิทัลนั้น นายฮาระให้แง่คิดสำคัญไว้ 4 ข้อ นั่นคือ ต้องพิจารณาจากลูกค้าขององค์กรเป็นสำคัญ และปรับองค์กรให้ตอบโจทย์ลูกค้าของตนเอง เช่น กรณีของอุตสาหกรรมยานยนต์ บริษัทอย่าง โตโยต้า โฟล์กสวาเกน หรือ เจเนอรัล มอเตอร์ ตระหนักดีว่า ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายในการเดินทางมากขึ้น และลำพังการผลิตรถยนต์ให้ดีที่สุดนั้นไม่เพียงพออีกแล้ว บริษัทเหล่านี้จึงเริ่มลงทุนในความสามารถด้านอื่น เช่น จับมือกับบริษัท Ride Sharing หรือ ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

 

[caption id="attachment_363786" align="aligncenter" width="503"] ©geralt ©geralt[/caption]

สองคือ ต้องยอมรับความหลากหลาย และไม่ยึดติดกับบุคลากรของตัวเองแต่เพียงฝ่ายเดียว ยกตัวอย่างเช่น บริษัท จีอี ที่ตระหนักดีว่า บริษัทนั้นอาจไม่มีบุคลากรที่มีพื้นฐานด้านดิจิทัลมากพอ จึงมีการเปิดรับบุคลากรจากบริษัทอื่น ๆ เช่น กูเกิล ซิสโก้ ออราเคิล ฯลฯ เข้ามาร่วมงาน เช่นเดียวกับแพลตฟอร์ม LANDLOG ของโคมัตสุ ที่มีพาร์ทเนอร์มากมายเข้าร่วม ทั้งโดโคโม, SAP และ OPTiM ความหลากหลายเหล่านี้นั่นเองที่เป็นกุญแจสู่การสร้างนวัตกรรมและคุณค่าใหม่ ๆ ในธุรกิจ

สามคือ การปรับกระบวนการด้านการประเมินผลใหม่ เพราะการประเมินผลแบบเดิมอาจไม่เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วในยุคดิจิทัลอีกต่อไป เช่น กรณีของอเมซอนที่ไม่ได้ตัดสินใจจากผลกำไรขาดทุนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ใช้ตัวเลข Free Cash Flow ประกอบด้วย หรือ กรณีของกูเกิลที่นำ OKR (Objective and Key Results) มาปรับใช้แทน KPI และประการสุดท้าย คือ การสร้างแพลตฟอร์มที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องและชิ้นส่วนทั้งหมดเชื่อมโยงถึงคุณค่าเดียวกัน เช่น กรณีของแอปเปิล ซึ่งไม่ได้ทำการผลิตสินค้าชิ้นใดด้วยตัวเองเลย แต่สร้างกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมผู้ผลิตทั้งหมดให้ทำตามคุณค่าที่แอปเปิลออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้ให้ครบถ้วน หรือ พานาโซนิค ที่พร้อมสร้างความสัมพันธ์กับบริษัทที่เกี่ยวข้อง แม้จะเป็นคู่แข่ง เพื่อให้ลูกค้าได้รับประโยชน์สูงสุด ในยุคแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้นั่นเอง


……………….
บทความน่าสนใจ :
ซีอีโอแนะรัฐเร่งเครื่อง ICT จี้สร้างความชัดเจนเลือก กสทช. ใหม่-เก่า ภายใต้ ม.44
LINE ซื้อกิจการ "Sellsuki" รุกธุรกิจโซเชียลคอมเมิร์ซไทย


โปรโมทแทรกอีบุ๊ก