ขนส่งฯ เร่งจัดฟีดเดอร์ ป้อน "ไฮสปีดเทรนกรุงเทพฯ-โคราช"

19 ธ.ค. 2561 | 11:11 น.
ขนส่งฯ เร่งจัดรถโดยสารฟีดเดอร์เชื่อม 2 สถานีหลักรถไฟความเร็วสูง คาดรถไฟไฮสปีดกรุงเทพฯ-โคราช ผู้โดยสารน้อย เหตุมีทั้งทางคู่-มอเตอร์เวย์ ด้าน ท้องถิ่นโคราช ชี้! 'ปากช่อง' แหล่งระบายนักท่องเที่ยว - กินรวบ 3 จังหวัด "สระบุรี-นครราชสีมา-ชัยภูมิ"

นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดี กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงและรถไฟทางคู่หลากหลายสายที่รัฐบาลกำลังพัฒนานั้น ประชาชนจะได้ประโยชน์ด้านการเดินทางที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะระบบฟีดเดอร์เชื่อมต่อทุกโหมดการเดินทางของระบบขนส่งสาธารณะ เหมือนประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่น ลงจากรถไฟแล้วต้องมีรถสาธารณะอื่น ๆ ที่ต้องมารองรับต่อเข้าใจกลางเมือง เช่นเดียวกับสถานีรถไฟทางคู่ ขบ. มีอำนาจเข้าไปจัดความเหมาะสมรถโดยสารประจำทางที่มีเส้นทางผ่านอยู่แล้ว เพื่อนำมาวิ่งรองรับ

ในส่วนสถานีรถไฟความเร็วสูง เป็นสถานีขนาดใหญ่ ในการเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ นั้น ต้องหารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เพื่อขอจุดจอดที่รถโดยสาร รถโดยสารท้องถิ่น เช่น รถสองแถว เข้าไปรองรับได้ตามนโยบายของกระทรวงคมนาคม โดยต้องดูความเหมาะสมด้านพื้นที่ เส้นทาง และขนาดรถโดยสาร ดังนั้น ประชาชนจึงมั่นใจได้เลยว่า การเดินทางในอนาคตระบบขนส่งสาธารณะจะเข้าถึงทุกหนแห่ง

ด้าน นายจรูญ จงไกรจักร หัวหน้ากลุ่มวิชาการขนส่ง สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ขณะนี้ขนส่งจังหวัดนครราชสีมาได้เตรียมความพร้อมจัดเตรียมเส้นทางเดินรถที่จะเชื่อมต่อสถานีรถไฟความเร็วสูง ที่จะเปิดให้บริการในปี 2565-2566 ประกอบด้วย 1.สถานีนครราชสีมา ได้เตรียมรถโดยสารหมวด 1 เชื่อมต่อการเดินทางไว้แล้ว 1 เส้นทาง ที่อยู่ระหว่างกำหนดรายละเอียด ส่วนรถหมวด 2-3 ที่เข้าใช้สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 2 ขณะนี้กำลังรอแผนขยายถนนมุขมนตรี บริเวณแยกสีมาธานี ที่เป็นทางเชื่อมต่อเข้าไปสถานีนครราชสีมา เพราะปัจจุบันถนนค่อนข้างแคบ รถบัสขนาดใหญ่เข้าไม่ได้

สำหรับสถานีปากช่อง เตรียมกำหนดรถหมวด 1 ไว้ 2 เส้นทางที่เชื่อมสถานีดังกล่าว อยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียด ทั้งนี้ จากการคำนวณจำนวนผู้โดยสารจากสถานีปากช่องรัศมี 100 กม. รอบสถานี พบว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ อ.วังม่วง สระบุรี, อ.วังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา และ ต.หนองบัวโคก อ.จัตุรัส จ.ชัยภูมิ จะเชื่อมต่อการเดินทางได้ทั้งหมด ทำให้สถานีปากช่องจะมีผู้โดยสารจากทั้ง 3 จังหวัด ที่เข้าใช้สถานีปากช่องได้

นายจรูญ กล่าวต่อว่า โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา เมื่อนำรถสาธารณะมาเป็นฟีดเดอร์รองรับแล้ว คาดว่าปริมาณผู้โดยสารไม่น่าจะมีจำนวนมาก เนื่องจาก จ.นครราชสีมา มีรถโดยสารให้บริการตลอด 24 ชม. ขณะเดียวกันรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงมีจำนวนไม่กี่เที่ยววิ่งต่อวัน ประกอบกับถ้ามีการเปิดใช้ทางหลวงระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ช่วงบางปะอิน-นครราชีมา ซึ่งทำให้ประชาชนมีทางเลือกเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล และประหยัดเวลาในการเดินทางช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ที่ใช้เวลาเพียง 1.5 ชม. จากเดิมใช้เวลา 3 ชม.

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก