ส.อ.ท.เตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบเทรดวอร์

19 ธ.ค. 2561 | 07:38 น.
ส.อ.ท. เตรียมพร้อมรับมือผลกระทบ Trade War ย้ำคณะทำงานศึกษารอบด้าน

ตามที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและจีนมีความขัดแย้งทางการค้า โดยการขึ้นภาษีนำเข้าในปริมาณสินค้ามากกว่า 6,000 รายการ ระหว่าง 10-25 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลความมั่นคงภายในประเทศ และการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงการตอบโต้ทางการค้า ทั้งนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ได้กำหนดหารือในเรื่องสงครามการค้าระหว่างการประชุม G20 ณ กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เมื่อวันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม 2561 และเห็นชอบให้ระงับการใช้มาตรการการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าชั่วคราวเป็นระยะเวลา 90 วัน จากเดิมที่กำหนดขึ้นอัตราภาษีในวันที่ 1 มกราคม 2562 เพื่อเจรจาแก้ไขข้อขัดแย้งทางการค้าดังกล่าว อย่างไรก็ตาม การจับกุมตัวนางเมิ่น หวันโจว CFO ของบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยีฯ ในข้อหาละเมิดมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ที่มีต่ออิหร่าน อาจทำให้สถานการณ์สงครามทางการค้ากลับมามีความตึงเครียดมากขึ้นอีกครั้ง

348683 นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ส.อ.ท. ได้เตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากTrade war โดยได้แต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีนที่มีต่อเศรษฐกิจไทย

"วัตถุประสงค์ในการตั้งทีมครั้งนี้เพื่อศึกษารวบรวมข้อมูลผลกระทบจากสงครามการค้าทั้งด้านบวกและด้านลบในเชิงลึก ทั้งทางตรงและทางอ้อม และจัดทำข้อเสนอแนะ แนวทางการเยียวยาไปยังหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง"

นายเกรียงไกร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในเบื้องต้นคณะกรรมการได้ศึกษาในสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากมีการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง อาทิ  สินค้าอาหารทะเลกระป๋อง ซึ่งคณะกรรมการได้สอบถามกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและรับทราบว่าการส่งออกในสินค้าดังกล่าวที่ลดลง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนและความไม่แน่นอนของวัตถุดิบจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ทำให้มีปริมาณไม่เพียงพอในการผลิต รวมถึงการที่สหรัฐอเมริกาดำเนินมาตรการ IUU ซึ่งส่งผลให้ปริมาณการส่งออกลดลงหรือสินค้าโซลาร์เชลส์ที่มีการส่งออกที่ลดลง โดยมีเหตุผลมาจากการยกเลิกโครงการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร GSP

ดังนั้นคณะกรรมการจึงมีหน้าที่สำคัญในการวิเคราะห์สินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากสงครามทางการค้าให้ชัดเจนและสร้างความเข้าใจกับภาครัฐ สมาชิก ส.อ.ท. และสาธารณชน ให้รับทราบข้อมูลและปัจจัยผลกระทบที่แท้จริง เพื่อให้วิเคราะห์สถานการณ์เนื่องจากยังมีหลายปัจจัยที่จะส่งผลให้ประเทศไทยส่งออกได้ลดลง

"เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถประกอบธุรกิจภายใต้สภาวะดังกล่าว เราจึงมีข้อเสนอระยะสั้น คือขอให้ภาครัฐส่งเสริมให้ผู้ประกอบการส่งออกไปทดแทนสินค้่าที่สองประเทศมีข้อพิพาทหรือเน้นการส่งออกไปยังตลาดที่มีศักยภาพอยู่แล้ว อย่างเช่น ตลาดในอาเซียน ที่มีสัดส่วนการส่งออกกว่า25%เมื่อเทียบการตลาดส่งออกทั้งหมด รวมถึงภาครัฐควรจะต้องมีมาตรการเฝ้าระวัง ข้อมูลการนำเข้าส่งออก และการลงทุนภายในประเทศ บังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพิธีการทางศุลกากร เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์สินค้าจากต่างประเทศและสนับสนุนสินค้าจากผู้ประกอบการไทยเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน" โปรโมทแทรกอีบุ๊ก