'แท็กซี่' แบกภาระหนี้นอกระบบ อ่วมกว่า 46% ของแหล่งเงิน

19 ธ.ค. 2561 | 06:45 น.
ม.หอการค้าไทย เผยผลสำรวจผู้ประกอบอาชีพ "ขับรถแท็กซี่" จาก 1.21 พันกลุ่มตัวอย่าง พบมีปัญหาหนี้นอกระบบถึง 46.10% เหตุเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน ระบุ อยากมีรถเป็นของตัวเอง โดยได้รับบริการสินเชื่อในระบบดอกเบี้ยต่ำ เชื่อช่วยลดต้นทุน เพิ่มรายได้ และช่วยให้งานบริการดีขึ้น ด้าน ธพว. ชี้! จำเป็นต้องได้รับการยกระดับ พร้อมเก็บข้อมูลนำไปพัฒนามาตรการหนุนตรงเป้า

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัยและผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลการสำรวจ "การประเมินศักยภาพธุรกิจท้องถิ่นของประเทศไทย" กรณีศึกษาธุรกิจบริการแท็กซี่ ว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ 1,211 ตัวอย่าง แบ่งเป็น แท็กซี่ส่วนบุคคล (เขียว-เหลือง) 38.18% และเช่าขับ (แท็กซี่นิติบุคคล) 61.82% พบว่า กลุ่มที่บอกว่ามีหนี้สิน 52.64% นั้น แหล่งที่มาของหนี้สินส่วนใหญ่ถึง 46.10% เป็นหนี้นอกระบบอย่างเดียว ส่วน 35.57% เป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบ ขณะที่ เป็นหนี้ในระบบอย่างเดียว มีเพียง 18.33% เท่านั้น กลุ่มตัวอย่างเผยด้วยว่า มีภาระต้องผ่อนชำระเฉลี่ย 4,456.67 บาทต่อเดือน และเมื่อเปรียบเทียบภาระหนี้สินปัจจุบันเทียบกับปีที่ผ่านมา กลุ่มที่ระบุว่า มีภาระหนี้เพิ่มขึ้น บอกสาเหตุ เช่น ค่าครองชีพปรับตัวสูงขึ้น ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนบุตรหลาน มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ มีรายได้ลดลง นำเงินไปเสริมสภาพคล่องในกิจการ และลงทุนซื้อรถแท็กซี่ เป็นต้น

ส่วนการผ่อนชำระในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กลุ่มตัวอย่าง 52.11% ไม่เคยผิดนัดชำระหนี้เลย ส่วน 47.89% บอกว่า เคยผิดนัดชำระหนี้ เพราะสาเหตุรายได้ไม่เพียงพอ ลืมไปชำระ จำเป็นต้องนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น และหมุนเงินไม่ทัน ตามลำดับ เมื่อถามถึงวัตถุประสงค์ในการจะกู้เงินในอนาคต ได้แก่ ชำระหนี้เก่า ใช้จ่ายทั่วไป ลงทุนประกอบอาชีพ จ่ายบัตรเดรดิต จ่ายค่าการศึกษาบุตรหลาน นำไปเสริมสภาพคล่องธุรกิจ และซื้อรถแท็กซี่ ที่สำคัญกลุ่มตัวอย่าง 100% บอกว่า ต้องการกู้เงินในระบบ วงเงินที่ต้องการกู้เฉลี่ย 245,832.08 บาท แต่ความสามารถในการกู้เงินในระบบได้นั้นกลับมีเพียง 34.13% เท่านั้น ส่วน 65.87% ไม่สามารถกู้ในระบบได้ เนื่องจากเหตุผลไม่มีประวัติการเคลื่อนไหวทางการเงิน ไม่มีหลักประกัน รายได้น้อย ไม่มีประวัติการชำระหนี้ โครงการไม่เป็นที่สนใจของธนาคารพาณิชย์ ไม่ได้รับการอนุมัติจากธนาคาร และไม่รู้จะติดต่อธนาคารอย่างไร ตามลำดับ


thumbnail_3

สำหรับสถานการณ์การประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่นั้น ส่วนใหญ่ 59.70% ไม่ได้เป็นเจ้าของรถแท็กซี่เอง ส่วน 40.30% ที่เป็นเจ้าของรถแท็กซี่เอง จำนวน 68.56% มีภาระต้องผ่อนชำระรถ เฉลี่ยเดือนละ 17,976.43 บาทต่อเดือน ขณะที่ มีต้นทุนในการประกอบอาชีพเมื่อรวมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ แล้ว ประมาณ 41,582.31-47,156.14 บาทต่อเดือน ซึ่งจากต้นทุนการประกอบอาชีพที่สูงดังกล่าว กลุ่มตัวอย่างถึง 72.83% จึงบอกว่า อัตราค่าโดยสารมิเตอร์ที่เริ่มต้น 35 บาท ไม่เหมาะสม โดยอัตราที่เห็นว่าเหมาะสม เฉลี่ยอยู่ที่ 48.35 บาท

ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างถึง 70.45% บอกว่า ต้องการมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง โดยให้เหตุผลว่า สะดวกต่อการใช้งาน คุ้มกว่าการเช่ารถ ไม่ต้องจ่ายค่าเช่า จัดสรรเวลาทำงานได้ เป็นต้น โดยเงินทุนที่ต้องการนำไปลงทุนซื้อรถแท็กซี่ เฉลี่ยที่ 416,726.68 บาท เมื่อถามว่า หากภาครัฐมีการจัดทำโครงการให้สินเชื่อเพื่อซื้อรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง กลุ่มตัวอย่าง 56.91% ระบุว่า สนใจเข้าร่วม เพราะอัตราการผ่อนชำระไม่สูง ดอกเบี้ยไม่แพง จะได้มีรถเป็นของตัวเอง และไม่ต้องเครียดในการหาค่าเช่ารถ ขณะที่ 16.24% บอกว่า ไม่แน่ใจ ส่วน 26.85% ระบุว่า ไม่เข้าร่วม เพราะไม่อยากเป็นหนี้เพิ่ม คิดว่าขั้นตอนยุ่งยาก คิดว่าขอไปก็ไม่ได้อยู่ดี ไม่รู้ข่าวสาร และคิดว่าไม่น่าจะมีโครงการลักษณะนี้จริง นอกจากนั้น เมื่อถามเสริมว่า หากธนาคารของรัฐมีโครงการให้ผ่อนค่ารถแท็กซี่เป็นรายวันเท่ากับค่าเช่ารถแท็กซี่ในปัจจุบัน กลุ่มตัวอย่าง 53.78% สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยสามารถผ่อนได้ตั้งแต่ต่ำสุด 593.18 บาทต่อวัน ถึงสูงสุด 894.53 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ยที่ 623.57 บาทต่อวัน

"กลุ่มตัวอย่างบอกด้วยว่า หากมีรถแท็กซี่เป็นของตัวเอง เชื่อว่าจะช่วยแก้ปัญหาลดภาระหนี้สินได้ในระดับมาก 79.12% ช่วยลดต้นทุนค่าเช่ารถแท็กซี่ได้ในระดับมาก 76.82% และช่วยเพิ่มรายได้ในระดับมาก 66.35% รวมถึงเมื่อมีรถเป็นของตัวเองยังช่วยแก้ปัญหาด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น ไม่ต้องรีบส่งรถ สภาพรถจะได้รับดูแลดีขึ้น เพราะเป็นรถตัวเอง ผู้โดยสารไม่ถูกส่งลงก่อนถึงที่หมาย ไม่ปฏิเสธรับผู้โดยสาร ไม่ต้องขับรถเร็วเพื่อเร่งทำเวลา เป็นต้น"


thumbnail_6

ผศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อไปอีกว่า สิ่งที่กลุ่มตัวอย่างต้องการได้รับการช่วยเหลือจากภาครัฐ ได้แก่ 1.เพิ่มอัตราค่าโดยสารเริ่มต้น 2.ช่วยเหลือเรื่องภาระหนี้สิน 3.ปรับหรือลดราคาค่าแก๊ส 4.ดูแลระดับราคาค่าเช่าให้เหมาะสม 5.กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะด้านการบริโภคและประชาชนผู้มีรายได้น้อย และ 6.ปรับหรือลดอัตราภาษีให้เหมาะสม ส่วนข้อเสนอและสิ่งที่ต้องการได้รับจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME Development Bank ได้แก่ 1.ช่วยเหลือในการกู้เงินหรือขอสินเชื่อ 2.ลดขั้นตอน/เงื่อนไขในการกู้เงิน 3.ไม่ต้องมีคนหรือหลักทรัพย์มาค้ำประกัน 4.ลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และ 5.การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อให้หลากหลายและเข้าถึงความต้องการของธุรกิจหรืออาชีพ

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน จากข้อมูลของกลุ่มสถิติการขนส่ง กองแผนงาน กรมการขนส่งทางบก คาดมีผู้ขับรถแท็กซี่จากจำนวนใบอนุญาตขับรถแท็กซี่ทั่วประเทศ 122,356 ราย แบ่งเป็น ในกรุงเทพฯ 57.54% และส่วนภูมิภาค 42.46% โดยปัญหาของผู้ใช้บริการแท็กซี่จากการรวบรวมเอกสารต่าง ๆ ได้แก่ 1.การปฏิเสธผู้โดยสาร 2.ความประมาทในการขับขี่ 3.ใช้เส้นทางอ้อมและไม่กดมิเตอร์ 4.พฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของพนักงานขับรถแท็กซี่ 5.แท็กซี่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ และ 6.ความไม่ซื่อสัตย์ของผู้ขับแท็กซี่

ด้านปัญหาที่ผู้ขับรถแท็กซี่ประสบอยู่นั้น ได้แก่ 1.จำนวนชั่วโมงการขับรถขั้นต่ำต่อวันถึง 12 ชั่วโมง เพื่อจะมีรายได้อย่างน้อย  400 บาทต่อวัน 2.การจะประกอบอาชีพขับแท็กซี่ที่ถูกต้องตามกฎหมายไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรถต้องจดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกและคนขับต้องมีใบขับขี่สาธารณะ ตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และมีสุขภาพแข็งแรง 3.ผู้ใช้บริการมองภาพลักษณ์แท็กซี่ไทยติดลบ 4.ระบบตัดแต้มคนขับ (Demerit Point System) 5.การเข้าถึงโทรศัพท์แบบสมาร์ทโฟนทำให้ถูกแบ่งลูกค้า และ 6.มีรายจ่ายค่าอินเตอร์เน็ต

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจยังบอกอีกว่า 51.44% รถที่ใช้ขับอยู่ยังไม่ใกล้หมดอายุ 5 ปีขึ้นไป ส่วน 48.56% รถที่ใช้ ใกล้หมดอายุใช้งาน 5 ปีแล้ว โดยผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ถึง 76.69% ทำอาชีพนี้มาตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จนถึงมากกว่า 20 ปี ส่วนที่ทำมาไม่เกิน 5 ปี อยู่ที่ 23.31% นอกจากนั้น ส่วนใหญ่ยังทำงานหนัก ต้องขับรถหารายได้เฉลี่ยถึง 25 วันต่อเดือน โดยทำทั้งช่วงเช้า ช่วงเย็น และช่วงกลางคืน และที่สำคัญ ยึดการขับรถแท็กซี่เป็นอาชีพหลักถึง 87.98% ส่วนที่ทำเป็นอาชีพเสริมเพียง 12.02%

"กลุ่มตัวอย่าง เผยรายได้ก่อนหักรายจ่ายจากการประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ส่วนใหญ่ 27.27% อยู่ที่ 1,601-1,800 บาทต่อวัน ขณะที่ รายได้ก่อนหักรายจ่าย เฉลี่ยอยู่ที่ 1,702.50 บาทต่อวัน โดยมีรายได้มากกว่ารายจ่าย 39.24% มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย 22.19% และมีรายได้เท่ารายจ่าย 38.57% ด้านสถานภาพของผู้ขับแท็กซี่ 58.02% มีการออมเป็นรายเดือน โดยเฉลี่ยเงินออมที่ 796.97 บาทต่อเดือน ซึ่งส่วนใหญ่ 45.53% ออมได้ต่ำกว่า 500 บาท และ 41.98% ไม่มีการออมเป็นรายเดือน ขณะที่ 47.36% บอกว่า ปัจจุบันไม่มีหนี้สิน แต่ที่น่าสนใจ คือ 47.02% ที่ระบุว่า ไม่มีหนี้ ด้วยเหตุผลไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อหรือการกู้ยืมได้"


thumbnail_5

ด้าน นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธพว. กล่าวว่า จากจำนวนผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ประมาณ 1.2 แสนราย ยังเกี่ยวข้องไปถึงบุคคลอื่น ๆ อีกจำนวนมาก ทั้งผู้โดยสารที่ใช้บริการไม่ต่ำกว่า 3-5 ล้านคนต่อวัน รวมถึง นักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเที่ยวประเทศไทยมากกว่า 30 ล้านคนต่อปี ดังนั้น บริการของแท็กซี่จึงมีความสำคัญ และควรยกระดับมาตรฐานด้านบริการ คุณภาพรถ และความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่น รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีแก่ผู้ใช้บริการและการท่องเที่ยวไทย

นอกจากนั้น ผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มอาชีพอิสระ ควรต้องได้รับการดูแล เนื่องจากคนกลุ่มนี้ ต้องทำงานหนัก แต่ไม่มีสวัสดิการรองรับ และส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสถานการณ์ที่ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาต้องพึ่งการใช้เงินกู้นอกระบบ เพราะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนในระบบได้ ทำให้มีภาระในการประกอบอาชีพสูง ไม่ว่าจะเป็น ต้องจ่ายค่าเช่ารถ หรือ ต้องผ่อนรถในอัตราดอกเบี้ยสูง เพราะเป็นเงินกู้นอกระบบ ดังนั้น ผู้ประกอบอาชีพขับแท็กซี่ส่วนใหญ่จึงมีความต้องการจะมีรถเป็นของตัวเอง โดยเจาะจงต้องเป็นเงินกู้จากสถาบันการเงินในระบบ คิดอัตราดอกเบี้ยต่ำ เพราะมั่นใจว่าจะช่วยลดภาระหนี้สินและเพิ่มรายได้ในการประกอบอาชีพ รวมถึงยังส่งผลดีไปถึงด้านงานบริการผู้โดยสารจะมีคุณภาพดีขึ้นด้วย

"ธพว. จะนำผลสำรวจและข้อเสนอแนะต่าง ๆ จากกลุ่มตัวอย่าง ไปพัฒนามาตรการช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงขั้นตอนการให้บริการ เพื่อตอบความต้องการผู้ประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่ รวมถึงกลุ่มอาชีพอิสระอื่น ๆ ได้อย่างดีที่สุดต่อไป"

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก