"รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน" เมกะโปรเจ็กต์ 2 แสนล้าน ยังมีลุ้นผู้ชนะประมูล!

21 ธ.ค. 2561 | 10:57 น.
| รายงานพิเศษ : "รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน" เมกะโปรเจ็กต์ 2 แสนล้าน ยังมีลุ้นผู้ชนะประมูล!

……………….


... เมกะโปรเจ็กต์ระดับ 2 แสนล้านบาทของรัฐบาลโครงการนี้ แม้ว่ากิจการร่วมค้ากลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร จะเสนอราคาตํ่ากว่ากิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ก็ตาม แต่ดูเหมือนว่า การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ยังไม่มั่นใจสถานการณ์ข้างหน้า ว่า หากไฟเขียวให้กลุ่มซีพีหลุดเข้าไปดำเนินการง่าย ๆ หากเกิดเหตุฉุกเฉิน (ที่อาจเกิดขึ้นได้) แล้วเป็นสาเหตุให้โครงการไม่สำเร็จ จะต้องกลับไปเริ่มต้นใหม่ จะเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์


➣ ลุ้นเจรจา 'ซีพี' สัปดาห์นี้

ดังนั้น จึงเป็นที่มาของการตรวจสอบอย่างเข้มข้น พร้อมกำหนดเงื่อนไขที่ต้องประชุมหารือของคณะกรรมการคัดเลือกนานถึง 9 ชั่วโมง เมื่อช่วงวันศุกร์ที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งนายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน ร.ฟ.ท. ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. แจ้งว่า การประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท ภายหลังจากคณะกรรมการคัดเลือกได้พิจารณาผลการเปิดซองที่ 3 ด้านราคาของโครงการ โดยพิจารณาตัวเลขสำคัญ คือ 1.การเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด โดยห้ามเกิน 1.2 แสนล้านบาท 2.การเสนอผลตอบแทนตลอดโครงการให้รัฐบาลมากที่สุด ซึ่งขณะนี้ยังสรุปไม่ได้ แต่เบื้องต้นพบว่า เอกชนทั้ง 2 กลุ่ม คือ กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภค ภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร และกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) คาดว่าจะผ่านคุณสมบัติซองที่ 3 ทั้ง 2 ราย แต่ทว่าฝ่ายซีพีได้เสนอตัวเลขการเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลน้อยที่สุด

 

[caption id="attachment_363255" align="aligncenter" width="503"] นายวรวุฒิ มาลา นายวรวุฒิ มาลา[/caption]

โดยช่วงคํ่าของวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกได้เชิญกลุ่มซีพีที่เสนอราคาตํ่าสุดเข้ามาสอบถามรายละเอียด เนื่องจากยังมีบางคำถามในบางประเด็นที่คณะกรรมการยังไม่ชัดเจน โดยฝ่ายซีพีขอกลับไปหารือกับพันธมิตรจากจีน แล้วจะกลับมาให้คำตอบภายในสัปดาห์นี้ ซึ่งกรณีนี้ นายวรวุฒิ มาลา ให้ข้อมูลกับสื่อมวลชนว่า หากการเจรจาซีพียังไม่ชัดเจน ยื้ดเยื้อ ก็จะต้องดึงกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์เข้าหารือได้ทันที


➣ เหตุใดถึงต้องผ่านทั้ง 2 ราย

หลังจากนี้จะมีการเชิญทั้ง 2 เจ้า เข้ายื่นซองที่ 4 ด้านเทคนิค เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการคัดเลือก โดยจะเชิญเอกชนที่เสนอตัวเลขซองที่ 3 ดีกว่า นั่นคือ กิจการร่วมค้าซีพี เข้าเจรจาเงื่อนไขก่อน หากเจรจาจบจะคัดเลือกทันที แต่ถ้าหากเจรจากับรายแรกไม่จบ จะเชิญผู้ได้คะแนนตํ่ากว่าอีกรายเข้าเจรจาเงื่อนไขโครงการ

สำหรับสาเหตุที่ ร.ฟ.ท. ยังไม่ตัดสินผลแพ้ชนะกันที่ซอง 3 นั้น เพราะกลัวว่า หากคัดทิ้งเอกชนเพื่อเจรจาเพียงรายเดียว หากมีข้อผิดพลาดเจรจาไม่จบ เป็นผลทำให้ยืดเยื้อ อาจต้องพับโครงการเพื่อร่างทีโออาร์และเปิดประมูลใหม่ ทำให้เสียเวลามาก ดังนั้น การมีเอกชนอีกเจ้าเป็นคู่เจรจาแข่งขันจะทำให้การเจรจาเป็นไปได้ง่ายขึ้น ดังนั้น กรณีนี้ชัดเจนแล้วว่า สาเหตุที่ ร.ฟ.ท. ไม่คัดออก คือ หวั่นล้มดีลนั่นเอง ดังนั้น บีทีเอสจึงได้ลุ้น หากมีปาฏิหาริย์

เป็นที่ทราบกันดีว่า ฝ่ายซีพีจับกลุ่มกันได้มากราย แถมพันธมิตรจากจีนยังมีประสบการณ์ความเร็วสูงชัดเจนกว่า แต่บีทีเอสมีประสบการณ์แค่รถไฟในเมืองเท่านั้น ดังนั้น คงต้องจับตาโครงการนี้กันต่อไปว่า แม้เริ่มต้นก็ยังยืดเยื้อ ผลการพิจารณานานราว 9 ชั่วโมง แล้วจะเกิดปัญหาฟ้องร้องกันขึ้นให้ล่าช้าอีกหรือไม่

เมกะโปรเจ็กต์นี้ผิดแปลกกับการพิจารณาโครงการอื่น ๆ ที่เพียงแค่พิจารณาซองราคาก็ตัดสินผู้แพ้-ชนะได้ทันที แถมยังนำทั้ง 2 กลุ่ม เข้าไปพิจารณาซองที่ 4 ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยเห็นการกระทำแบบนี้มาก่อน การกระทำแบบนี้ขัดกับทีโออาร์หรือไม่ โครงการนี้จะมีเกมพลิกล็อกเกิดขึ้นได้หรือไม่ เพื่อเปิดทางให้บีทีเอสได้เข้ามารับดำเนินโครงการ หากกลุ่มซีพีผิดพลาดเกิดขึ้น แต่กรณีนี้คงเป็นไปได้ยาก เพราะต่างก็รู้ดีว่า ซีพีทุ่มทุนสู้เต็มประตู

 

[caption id="attachment_363060" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

ส่วนกรณีความผิดพลาดที่เกิดขึ้นนั้น บีทีเอสคงเตรียมตัวมาดีกว่าคราวที่แข่งประมูลตั๋วร่วมอี-ทิกเกต ที่คราวนั้นพลาดแบบไม่น่าให้อภัย ทั้ง ๆ ที่เป็นผู้พัฒนาระบบเอง แต่ก็พลาดด้านเอกสารจนได้ ส่วนในครั้งนี้ เบื้องต้น นายวรวุฒิ กล่าวว่า ยังไม่พบข้อสงสัยของกลุ่มบีทีเอส แม้จะเสนอราคาสูงกว่ากลุ่มซีพีและไม่เกินราคาที่กำหนด แต่คงต้องไปดูว่า มีข้อเสนอให้รัฐบาลในซองที่ 4 ได้ดีกว่ากลุ่มซีพีมากน้อยแค่ไหน

ประการสำคัญ ความผิดปกติเบื้องต้นที่ยืดเยื้อเจรจานานถึง 9 ชั่วโมง จะจบลงด้วยดีในสัปดาห์นี้ได้หรือไม่ แม้ในกลุ่มคณะกรรมการคัดเลือกจะมีหลายหน่วยงานเข้าร่วม โดยเฉพาะคณะกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันเข้าไปร่วมด้วยนั้น จะพบความผิดปกติในครั้งนี้หรือไม่ และกล้าออกมาทักท้วงผ่านสื่อมวลชนหรือถูกปิดปากเงียบด้วยทุนใหญ่หรือไม่ คงต้องรอการพิสูจน์ อีกทั้งเหตุใด นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีต ส.ส. ฝีปากกล้า ผู้ชอบทักท้วงและตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล จึงเงียบสนิทผิดปกติ

ทั้งนี้ กิจการร่วมค้ากลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM), บมจ.ช.การช่าง, บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และ China Railway Construction Corporation Limited หรือ CRCC (จากสาธารณรัฐประชาชนจีน) ส่วนกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน)

หน้า 12 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,428 วันที่  20 - 22 ธันวาคม พ.ศ. 2561


เพิ่มเพื่อน
595959859