ที่ส้มหล่นเฮ! คลังยอมถอย "ภาษีลาภลอย"

18 ธ.ค. 2561 | 11:03 น.
181261-1755

คลังสั่งถอยร่างภาษีลาภลอย หลังความเห็นไม่ตรงกฤษฎีกา เบนเข็มผลักดันกฎหมายที่เป็นโครงสร้างแทน เดินหน้าออกกฎคุมลีสซิ่ง 'เงินติดล้อ' ต่อ ด้านผู้ประกอบการเสียใจ หวังสร้างการแข่งขันเป็นธรรมในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ภาษีลาภลอย" หรือ Windfall Tax เป็นภาษีที่เก็บจากผู้ได้รับผลประโยชน์จากการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2561 ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา

ครม. ไฟเขียว! 'ภาษีลาภลอย' ห้องชุดเกิน 50 ล้าน โซนใกล้โครงการรถไฟฟ้า จ่ายภาษี 5%

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า สศค. จะไม่ผลักดันต่อ เพราะมีความเห็นไม่ตรงกันกับสำนักงานกฤษฎีกา จึงไม่อยากเสียเวลา เพราะเป็นคณะทำงานชุดเดียวกัน แต่จะหันมาผลักดันกฎหมายที่ชัดเจนกว่าอะไรที่เป็นโครงสร้าง เพื่ออานิสงส์ระยะยาว เพื่อให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ อย่าง ร่าง พ.ร.บ.การกำกับดูแลผู้ให้บริการทางการเงิน ซึ่งจะเป็นการตั้งหน่วยงานกำกับขึ้นมาดูแล ธุรกิจประเภทสินเชื่อห้องเช่า สินเชื่อมอเตอร์ไซค์ 'เงินติดล้อ' ซึ่งยังไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล


th3

สาเหตุส่วนหนึ่งที่จะไม่ผลักดันต่อ เนื่องจากหากมูลค่าที่ดินที่สูงขึ้นก็ต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอยู่ดี ซึ่งมีผลบังคับไปแล้ว ขณะ Windfall Tax เป็นอีกขั้นหนึ่ง และเชื่อว่าเก็บไม่ได้มากนัก ขณะที่ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเก็บได้และดีกว่าภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือน

"ที่ผ่านมา คนพูดสับสนในเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะไปมองแต่เรื่องรายได้ แต่วัตถุประสงค์หลัก คือ ลดการใช้ดุลพินิจ เพราะภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนมีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่มาก เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน แล้วก็เก็บได้น้อย แต่กฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะไม่มีการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ทุกอย่างเป๊ะ ใครมาประเมินก็ต้องประเมินเท่านี้ ไม่มีสิทธิ์ประเมินให้ต่ำกว่าได้เลย เพราะราคาที่ดินมาจากคอมพิวเตอร์ เป็นตัวเลขที่กรมธนารักษ์ทำส่งให้ ประเมินราคาตามตารางเมตรไปเลย"

นอกจากนั้น ภายใต้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างยังมีการประกาศไว้ที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้รู้ว่า ใครบ้างที่ต้องเสียภาษีและเสียในอัตราไหน หากคนที่บ้านติดกัน ขนาดต่างกัน แต่เสียน้อยกว่า ก็จะมีการอุทธรณ์ การตรวจสอบ จะเกิดความโปร่งใส แม้อัตราภาษีจะลดลง แต่ฐานใหญ่ขึ้น เป็นเรื่องดึงคนเข้ามาระบบ ส่วนในอนาคต หากรัฐบาลกล้าตัดสินใจเพิ่มอัตราภาษีก็สามารถทำได้ เพราะหลักภาษีที่ดิน คือ คนเสียให้เยอะ ฐานให้กว้าง และเสียให้ต่ำ

 

[caption id="attachment_363128" align="aligncenter" width="434"] เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

ด้าน นางสาวเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เดิมทีเห็นด้วยกับการที่รัฐต้องการผลักดันภาษีลาภลอยให้เกิดขึ้น เนื่องจากจะเป็นธรรมต่อการแข่งขันในตลาดอสังหาริมทรัพย์ เพราะระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ เช่น โครงการระบบไฟฟ้า ต่างก่อสร้างด้วยเงินภาษีของประชาชนทั้งประเทศ แต่คนที่ได้รับประโยชน์จากการใช้ที่ดินโดยรอบ กลับเป็นคนเพียงไม่กี่คนที่ครอบครองที่ดินอยู่เดิมแล้ว ทั้งยังจะสามารถสร้างกำไรจากการพัฒนาโครงการได้เป็นจำนวนมาก จากศักยภาพของที่ดินที่สูงมหาศาล

"หากไม่มีภาษีลาภลอย สถานการณ์ของตลาดอสังหาฯ คงไม่แตกต่างจากปัจจุบัน ที่ใครเผอิญมีที่ดินใกล้แนวรถไฟฟ้าที่จะสร้างก็จะโชคดี ทำโครงการขายได้กำไรมากกว่าที่ควรจะได้ เพราะตั้งราคาขายสูงได้ แต่ด้วยหลักการของภาษี ก็เข้าใจได้ว่า คงเกิดขึ้นยากในแง่ของการปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ในฐานะคนธรรมดา หรือ ฐานะผู้พัฒนา จะแฟร์ต่อตลาดถ้ามีภาษีดังกล่าว" นางสาวเกษรา กล่าว


……………….
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,427 วันที่ 16 - 19 ธ.ค. 2561 หน้า 01-02

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
อนุมัติ "ภาษีลาภลอย"
คลังเล็งจัดเก็บภาษีลาภลอย ริมทางด่วน-รถไฟฟ้า


เพิ่มเพื่อน
595959859