วัสดุก่อสร้างปี62คึกคัก ‘บ้านล้านหลัง’ดันตลาด

22 ธ.ค. 2561 | 00:14 น.
บ้านล้านหลังช่วยผู้มีรายได้น้อย หนุนตลาดวัสดุก่อสร้างพุ่ง ชูความหลากหลายของสินค้าภายใต้แบรนด์ ‘ตราเพชร’ รับโอกาสทางการตลาด

จากนโยบายภาครัฐที่ต้องการสนับสนุนผู้ที่มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ผ่านธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) โดยการปล่อยสินเชื่อพัฒนาโครงการให้แก่ผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อก่อสร้างบ้าน และปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ที่มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยในราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท จะสนับสนุนภาพรวมตลาดวัสดุก่อสร้างในปี 2562 ให้มีความคึกคักมากขึ้น

เห็นได้จาก ค่าย บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ขายโครงการอยู่รวยคอนโด บนถนนนวมินทร์ ซอย 135 ไปแล้ว 1,200 หน่วย จาก จำนวน 2,461 หน่วย แม้จะซื้อซากตึกร้างพัฒนาต่อยอด แต่การตกแต่ง ยังต้องใช้วัสดุก่อสร้าง และสุขภัณฑ์จำนวนมาก

ขณะการเคหะแห่งชาติ มีแผนพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยต่อเนื่องในปีหน้า และล่าสุด ได้นำโครงการ 10,000 หน่วย เข้าโครงการบ้านล้านหลังเช่นกัน

[caption id="attachment_362908" align="aligncenter" width="503"] สาธิต สุดบรรทัด สาธิต สุดบรรทัด[/caption]

 

ด้านมุมมองของนายสาธิต สุดบรรทัด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ผลิตภัณฑ์ตราเพชร หรือ DRT ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบบหลังคาไม้สังเคราะห์แผ่นบอร์ด ยิปซัม อิฐมวลเบาและบริการหลังการขาย ภายใต้แบรนด์ “ตราเพชร”  ตอกยํ้าว่า มองตลาดวัสดุก่อสร้างปี 2562 ในเชิงบวก จากสัญญาณความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้าง ที่มีแนวโน้มที่ดี ทั้งจากปัจจัยการขับเคลื่อนนโยบายภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการบ้านล้านหลัง ที่จะกระตุ้นตลาดที่อยู่อาศัยและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น โดยเรามีแผนเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องจักรภายในโรงงานและการบริหารคลังสินค้าเพื่อรองรับโอกาสทางการตลาด ซึ่งจะส่งผลดีต่อเป้าหมายการเติบโตไม่ตํ่ากว่า 5%

เนื่องจากนโยบายดังกล่าวจะเป็นตัวเร่งผลักดันการปลูกสร้างบ้าน และกระตุ้นความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย ส่งผลดีต่อความต้องการใช้สินค้าวัสดุก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลิตภัณฑ์ “ตราเพชร” จะนำจุดแข็งด้านความหลากหลายของสินค้า ตั้งแต่ระบบหลังคา ผนังและพื้น สามารถนำไปใช้ก่อสร้างบ้านได้ทั้งหลัง พร้อมสื่อสารการตลาดภายใต้แนว คิด “สวยครบเซต ตราเพชรทั้งหลัง” เพื่อตอกยํ้าให้ผู้บริโภคได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ บริษัทจะเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการผลิตและบริหารคลังสินค้าเพื่อรองรับโอกาสทางการตลาด

ส่วนแนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาส 4/61 บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถผลักดันการเติบโตได้ตามแผนงาน จากขีดความสามารถการแข่งขันที่ดี ทั้งการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ การบริหาร Product Mix หรือสัดส่วนการขายสินค้าเพื่อเพิ่มอัตรากำไรขั้นต้นและการรักษาอัตราการเดินเครื่องจักรเฉลี่ยทั้งปีอยู่ในระดับ 85-90% ส่งผลดีต่อการเติบโตในปีนี้ที่จะเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ทั้งนี้ บริษัท ประเมินว่าช่องทางการจัดจำหน่ายร้านค้าผู้แทนจำหน่ายรายย่อย ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำสัดส่วนยอดขายสูงสุดของ DRT จะกลับมาเติบโตได้ดีจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้น หลังจากราคาสินค้าเกษตรบางรายการเริ่มปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับผู้ประกอบการร้านค้า ผู้แทนจำหน่ายรายย่อยมีการปรับโฉมให้มีความทันสมัยเพื่อดึงดูดผู้บริโภคเข้ามาเลือกซื้อสินค้าให้มากขึ้น

หน้า 29-30 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับ 3,428 วันที่ 20-22 ธันวาคม 2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว