'ทีเส็บ' วางโมเดลโพสต์ทัวร์ หนุนไมซ์ชุมชนเชียงใหม่

20 ธ.ค. 2561 | 04:45 น.
'ทีเส็บ' ชู 4 กลยุทธ์กระตุ้นตลาดไมซ์เชียงใหม่ เปิดโมเดลหนุนเอกชนจัดกิจกรรมหลังการประชุม รับการพัฒนาเมืองสู่การเป็นไมซ์เพื่อชุมชน ชูไฮไลต์วิถีชุมชนบ้านออนใต้ กิจกรรมบวชต้นยางนา หัตถกรรมการทำโคมล้านนา เรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ บ้านดอนเจียง

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เผยว่า ทีเส็บได้กำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาเชียงใหม่สำหรับการเป็นไมซ์ซิตีไว้ 4 ด้าน ได้แก่ 1.ส่งเสริมการประชาสัมพันธ์และการตลาดไมซ์แบบมุ่งเป้าตลาดเอเชีย 2.ยกระดับการบริการ พัฒนาสินค้าท่องเที่ยว สร้างโอกาสในกิจกรรมไมซ์ โดยใช้ทุนทางวัฒนธรรม 3.พัฒนายกระดับบุคลากรที่มีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมไมซ์ในพื้นที่ 4.ยกระดับและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนการจัดกิจกรรมไมซ์

ดังนั้น จากแผนงานดังกล่าว ทีเส็บจะเน้นโปรโมตให้เกิดการสร้างโปรแกรมหลังการประชุม (Post-Tour) ที่เป็นมาตรฐาน ตลอดจนการพัฒนากิจกรรมและการบริการที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ นำเสนอเอกลักษณ์ด้านวิถีชีวิต ประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรม พร้อมส่งเสริมสหกรณ์ชุมชนเป็นสถานที่จัดงานไมซ์ เพื่อขับเคลื่อนให้เป้าหมายการกระจายรายได้ผ่านอุตสาหกรรมไมซ์นั้น บรรลุผลตามนโยบายกระจายรายได้ของรัฐบาล

สำหรับตัวอย่างกิจกรรมเพื่อชุมชนที่สามารถทำได้หลังการประชุมใน จ.เชียงใหม่ อาทิ การสร้างประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ "สัมผัสกับวิถีชุมชนท้องถิ่น ณ ชุมชนบ้านออนใต้" ซึ่งได้รับการพัฒนาให้เป็น "ต้นแบบโครงการหมู่บ้าน CIV" ถือว่าเป็นการนำทุนวัฒนธรรมวิถีชีวิตดั้งเดิมมาผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ โดยการออกแบบสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ตลอดจนบริการต่าง ๆ ในชุมชน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมจะได้เรียนรู้ชมการสาธิตขั้นตอนการสร้างสรรค์ชิ้นงานต่าง ๆ และทดลองลงมือทำด้วยตนเอง อาทิ สวยดอก ผ้ามัดย้อม และการสานพัด เป็นต้น

รวมไปถึง "กิจกรรมบวชต้นยางนา" ซึ่งเป็นประเพณีโบราณของชาวเชียงใหม่ และเวิร์กช็อปการรักษารากต้นยางนา ที่มุ่งหมายให้ทุกคนมามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ดูแลรักษาต้นยางร่วมกัน โดยต้นยางที่ปลูกสองฝั่งถนนสายลำพูน-เชียงใหม่ ช่วง อ.สารภี มีอายุกว่า 136 ปี ปัจจุบัน ต้นยางนาเติบโตสูงใหญ่พร้อมกับการขยายตัวของชุมชน มีการสร้างอาคารบ้านเรือนประชิดเขตทาง ทำให้ต้นยางนาถูกทำลายและที่ล้มตายเองก็มี ซึ่งเหลืออยู่เพียงกว่า 900 ต้นเท่านั้น จึงต้องการอาสาสมัครเพื่อร่วมกันดูแลรักษาต้นยางนาอยู่อย่างต่อเนื่อง


tceb_web

กิจกรรมประดิษฐ์โคมกับ "แม่ครูบัวไหล คณะปัญญา" ปราชญ์ชาวบ้านแห่งชุมชนเมืองสาตรหลวง ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มงานหัตถกรรมการทำโคมล้านนา โดยประดิษฐ์ขึ้นจากวัสดุพื้นบ้าน ไม่ว่าจะเป็น ไม้ไผ่ กระดาษสา หรือ ผ้าดิบ เป็นผู้สอนประดิษฐ์โคมล้านนา และศึกษาการเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ ณ บ้านดอนเจียง โดยปราชญ์ชาวบ้านผู้มีความรู้ เป็นต้น

"เชียงใหม่เป็นจังหวัดที่มีการพัฒนาในระดับสูง ทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ และการลงทุน อีกทั้งจากการจัดอันดับการประชุมของ International Congress and Convention Association (ICCA) ในด้านสถิติการจัดอันดับเมืองที่ไม่ใช่เมืองหลวงที่มีการประชุมมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน พบว่า ในปี 2559 เชียงใหม่มีการจัดประชุมนานาชาติเป็นอันดับที่ 2 โดยมีการประชุม 20 ครั้ง ในปี 2560 มีนักเดินทาง กลุ่มไมซ์ และรายได้จากนักเดินทางกลุ่มไมซ์จากต่างประเทศ 50,881 คน สร้างรายได้ 4,700.38  ล้านบาท และมีนักเดินทางกลุ่มไมซ์ในประเทศไทยเดินทางไปจัดกิจกรรม 2.21 ล้านคน สร้างรายได้ 4,914.53 ล้านบาท" นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3428 ระหว่างวันที่ 20 - 22 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว