เจาะลึก "เมดิคัล ทัวริซึม" แต้มต่อปั๊มรายได้เที่ยวไทย

19 ธ.ค. 2561 | 05:25 น.
การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (เมดิคัล ทัวริซึม) เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของรัฐบาล ในการพัฒนาและส่งเสริมให้ไทยก้าวขึ้นสู่ศูนย์กลางด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของโลกในช่วง 10 ปีนี้ หรือ ภายในปี 2568 ไทยจะก้าวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวได้สำเร็จ จากปัจจุบันที่ไทยก็ขึ้นแท่นเป็นศูนย์กลางการบริการด้านสุขภาพหลักของเอเชีย


12 พื้นที่ศักยภาพรับต่างชาติ
ทำให้ที่ผ่านมา หลังรัฐบาลออกมาตรการทางวีซ่าเพื่อส่งเสริมนโยบายดังกล่าว โดยการขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยเพิ่มมากขึ้นรวม 90 วัน สำหรับกลุ่มประเทศ CLMV และจีน เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางมารักษาพยาบาลในไทย

เพิ่มจากก่อนหน้านี้ ที่ได้ขยายระยะเวลาพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) เป็นเวลา 10 ปี ให้แก่ชาวต่างชาติจาก 14 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมาตรการในการกระตุ้นที่สำคัญ

นอกเหนือจากไทยจะมีจุดเด่นเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ถูกกว่าประเทศคู่แข่ง อย่าง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ มาเลเซีย กว่า 50-70% เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) ถ้าทำในไทยจะอยู่ที่ราว 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ, สิงคโปร์ อยู่ที่ราว 9,450 ดอลลาร์สหรัฐฯ, เกาหลีใต้ ราว 7,500 ดอลลาร์สหรัฐฯ, มาเลเซีย 4,200 ดอลลาร์สหรัฐฯ

เฉพาะโรงพยาบาลเอกชน มีรายได้จากการรักษาพยาบาลชาวต่างชาติราวปีละ 7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 0.01% ของจีดีพี และมีการเติบโตของผู้ป่วยต่างชาติที่ปาเข้าไปกว่า 4 ล้านคนต่อปี โดยกว่า 60% เป็นชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย อีก 40% เป็นต่างชาติที่เดินทางมาใช้บริการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ในไทย ซึ่งไทยมีโรงพยาบาลและคลินิกที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน JCI (Joint Commission International Accreditation) จากองค์กรรับรองมาตรฐานทางการแพทย์ระดับโลก จำนวน 64 แห่ง ซึ่งมีจำนวนมากที่สุดในภูมิภาค AEC และมากเป็นอันดับ 4 ของโลก


MP22-3428-A

ทั้งยังมีอีก 12 พื้นที่ ที่มีศักยภาพพร้อมให้บริการทางการแพทย์และส่งเสริมสุขภาพสำหรับตลาดต่างประเทศ ได้แก่ กรุงเทพฯ เขาใหญ่ พัทยา หัวหิน เกาะช้าง เกาะสมุย เกาะพะงัน ภูเก็ต กระบี่ เชียงใหม่ อุดรธานี และขอนแก่น


สังคมสูงวัยดันธุรกิจบูม
รวมถึงโลกที่กลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ความต้องการดูแลรักษาสุขภาพเพื่อให้อายุยืนยาว จึงเป็นเทรนด์ที่มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยก็ได้เปรียบ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียนี้ เพราะเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่มีโรงพยาบาลเฉพาะทางด้าน Functional & Regenerative Medicine หรือ สมุทัยเวชศาสตร์การแพทย์ ซึ่งเป็นนวัตกรรมทางการเเพทย์แห่งศตวรรษ เน้นการรักษาสุขภาพเชิงป้องกัน แบบเทรนด์การรักษาสุขภาพที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก นั่นก็คือ โรงพยาบาล BBH (Better Being Hospital) และโรงพยาบาลสหวิทยาการมะลิ

รวมทั้งไทยยังเป็นศูนย์กลางของการบริการสุขภาพเวชศาสตร์ชะลอวัยในภูมิภาคนี้ โดยมีแพทย์ด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยที่ได้รับการรับรองจากสถาบัน American Academy of Anti-Aging Medicine Certified จำนวน 500 คน มากที่สุดในเอเชีย

นอกจากนี้ เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ (BDMS) ก็ได้เปิดตัว BDMS Wellness Center ศูนย์สุขภาพเวชศาสตร์ชะลอวัย, ระบบประสาทและสมองครบวงจรแห่งแรกของเอเชีย และไทยมีห้องปฏิบัติการแล็บตรวจสุขภาพ Functional and Preventive Medicine ขั้นสูง ด้วยเทคโนโลยีระดับโลกหลายแห่ง เช่น เฟมโต แล็บ เป็นห้องปฏิบัติการตรวจ DNA 1 ใน 4 แห่งของโลก ที่ตรวจความเสี่ยงเซลล์มะเร็งในระดับ 0 ก่อนขั้นที่ 1 ได้ และแล็บระดับโลก คือ เซลล์ฟิกซ์แล็บ ซึ่งเป็นแล็บวินิจฉัยสุขภาพแบบบูรณาการ Functional and Preventive Medicine

บริการเหล่านี้ในไทย จึงทำให้ไทยมีบริการด้านเฮลธ์แอนด์เวลเนสที่ครอบคลุม ไม่ใช่แค่การทำศัลยกรรม หรือ การรักษาอยู่เฉพาะในโรงพยาบาลเท่านั้น เฉกเช่นเดียวกับธุรกิจด้านนี้ที่มีแนวโน้มการขยายตัวต่อเนื่อง

 

[caption id="attachment_362762" align="aligncenter" width="388"]  ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์[/caption]

ชะลอวัยรายได้พุ่ง 2.3 หมื่นล้าน
นางฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ ผู้อำนวยการ ฝ่ายส่งเสริมสินค้าการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ททท. ได้สำรวจสถิติและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ เฉพาะบริการสุขภาพด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงามในไทย จากการสำรวจผู้ประกอบการทั่วประเทศ 220 ราย พบว่า ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่มาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงามของไทยราว 6.6 หมื่นคน คิดเป็นมูลค่าตลาด 2.31 หมื่นล้านบาท และผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ คาดการณ์รายได้ในปี 2561 เพิ่มสูงขึ้น 13.9% หรือประมาณ 2.64 หมื่นล้านบาท

ขณะที่ การใช้จ่ายของกลุ่มนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ที่มาใช้บริการด้านเวชศาสตร์ชะลอวัยและความงามของไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 2.34-7 แสนบาทต่อคน เฉลี่ยรับบริการราว 5 วัน บริการรีสอร์ตและศูนย์สำหรับการบำบัด ผู้ติดแอลกอฮอล์และติดยา มีการใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 2.3-4.4 แสนบาท เฉลี่ยใช้บริการ 28 วัน บริการรักษาผู้มีบุตรยาก มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 2-4 แสนบาท เฉลี่ย 10 วัน และบริการรีสอร์ตสุขภาพ มีการใช้จ่ายเฉลี่ย 3.7 หมื่น - 1.60 แสนบาท เฉลี่ย 3-10 วัน

ขณะเดียวกัน ททท. ยังได้สำรวจพฤติกรรมเชิงลึกของนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์จากทั่วโลกที่เดินทางมาใช้บริการทางการแพทย์ในไทยกว่า 500 คน จากจีน เมียนมา ลาว ตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา รัสเซีย

ส่วนใหญ่มาใช้บริการรักษากลุ่มโรคเฉพาะทางมากที่สุด รองลงมาเป็นการตรวจสุขภาพ ตามมาด้วยบริการด้านการชะลอวัยและศัลยกรรมความงาม ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 80% พึงพอใจและมั่นใจในบริการทางการแพทย์ของไทย และจะกลับมาใช้บริการอีก โดยมีปัจจัยเรื่องคุณภาพของสถานประกอบการทางการแพทย์ที่มาอันดับ 1 ในการตัดสินใจเดินทางมาใช้บริการในไทย

ทั้งหมดล้วนเป็นปัจจัยหนุนที่เกิดขึ้น ซึ่งหากเจาะตลาดให้ถูกก็จะเป็นโอกาสในการเข้าถึงธุรกิจนี้ ที่ยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง

| รายงาน โดย ธนวรรณ วินัยเสถียร

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3428 ระหว่างวันที่ 20 - 22 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว