ซีอีโอแนะรัฐ! เร่งเครื่อง ICT จี้! สร้างความชัดเจนเลือก กสทช.ใหม่-เก่า ภายใต้ ม.44

20 ธ.ค. 2561 | 03:04 น.
ผ่าวิสัยทัศน์บิ๊กกลุ่มสื่อสารปี 2562 "ยูไอเอช" เผย 8 ข้อความท้าทายของการทำธุรกิจในกิจการ ไอซีที & ดิจิตอล เทคโนโลยี ขณะที่ "ดีแทค" เน้นขยายฐานลูกค้าองค์กร ส่วน 5G ต้องมีอีโคซิสเต็ม ยังอุบประมูลคลื่น 700 ด้าน "แคท" รุกดิจิตอล-ไอโอที และสมาร์ทโซลูชัน

นายวิชัย เบญจรงคกุล ประธานบริหาร บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด หรือ ยูไอเอช ผู้ให้บริการโครงข่ายดิจิตอลและดิจิตอลโซลูชัน เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ"
ว่า ในปี 2562 ความท้าทายของการทำธุรกิจในกิจการ ICT & Digital Technology มีด้วยกัน 8 ข้อ คือ 1.ความชัดเจนในทิศทางและนโยบายของรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง, 2.เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่, 3.ความสามารถของรัฐมนตรีที่ดูแลกิจการด้านไอซีทีและดิจิตอล เทคโนโลยี, 4.ความชัดเจนในองค์กรและเป้าหมายการทำงานของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. จะเลือกใหม่หรือยังเป็นคณะเก่าภายใต้ ม.44 เดิม, 5.ปัญหาเศรษฐกิจโดยรวมที่ส่งผลให้การขยายตัวหรือหดตัวของตลาด ต้องรอถึงครึ่งปีหลังจึงจะสามารถได้ภาพที่ชัดเจน ทำให้เวลาทำงานที่จะขยายหรือชะลออาจมีเวลาทำงานได้น้อยลง

ส่วนข้อที่ 6 โอกาสทางธุรกิจมีการเติบโตจากการตื่นตัวในการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันโดยใช้เทคโนโลยีดิจิตอลมีมากขึ้น ในขณะที่ มีผู้ประกอบการรายใหม่มากขึ้นและมีการแข่งขันสูง, 7.ความรู้ความเข้าใจใช้เทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการขยายตัวด้านบริการใหม่ยังขาดแคลนคนที่มีความรู้ความสามารถมาทำงาน กำลังคนในตลาดที่มีคุณภาพยังขาดแคลน จึงมีปัญหาแรงงานด้านนี้อยู่ และข้อสุดท้าย คือ การขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลดิจิตอลยังล่าช้า การเปลี่ยนแปลงของภาครัฐยังน้อย ถ้า
ทำจริงโอกาสการขยายตัวของอุตสาหกรรมจะมีมากขึ้น

ส่วนทางด้าน นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เปิดเผยว่า สำหรับแผนธุรกิจในปี 2562 นั้น จะเน้นขยายฐานกลุ่มลูกค้าองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เพราะดีแทคยังมีฐานลูกค้ากลุ่มดังกล่าวไม่มาก ดังนั้น ดีแทคจะหาโซลูชันที่เหมาะกับลูกค้ากลุ่มเอสเอ็มอี ด้วยการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ พร้อมกับนำเสนอเทคโนโลยี 5G ให้กับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วย ทั้งนี้ ในปีหน้าดีแทคจะนำนวัตกรรมที่จะมาช่วยอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าเพื่อสร้างความแตกต่างในการนำเสนอสินค้าและบริการ โดยจะมุ่งเน้นในเรื่องของคุณภาพเน็ตเวิร์กของการให้บริการ รวมถึงการใช้บิ๊กดาต้าในการทำตลาดอี-คอมเมิร์ซ นอกจากนี้ ดีแทคยังมีแผนที่จะใช้งานคลื่นความถี่ย่าน 2300 MHz ในการทำไวร์เลส ฟิกซ์บรอดแบนด์ ร่วมกับทีโอที ในช่วงต้นปี 2562 ซึ่งเป้าหมายหลักในปีหน้า คือ สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าดีแทคอีกครั้ง แต่ไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะต้องกลับมาเป็นที่ 2 ซึ่งขณะนี้จะเห็นการเติบโตจากลูกค้าที่ย้ายจากพรีเพดมาเป็นโพสต์เพด อีกทั้งอัตราการเติบโตของการใช้ดาต้านั้นก็เพิ่มขึ้นอยู่ที่กว่า 60% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา


20-3428.indd

อย่างไรก็ตาม ในการทดสอบ 5 G นั้น ดีแทคมองว่า อยากทดสอบในกรณีศึกษาจริง ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อจัดแสดงโชว์เทคโนโลยีใหม่เท่านั้น โดยดีแทคต้องใช้เวลาในการหาพาร์ตเนอร์เพื่อร่วมทดสอบ และมองว่า หากไม่ได้ทดสอบในช่วงเวลานี้ก็ไม่ถือว่าล่าช้าเกินไป เพราะ 5G ไม่ใช่ว่ามาแล้วสามารถใช้งานได้เลย แต่จำเป็นต้องสร้างอีโคซิสเต็มให้เกิดขึ้นก่อน ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ ดีแทคก็ได้มีการติดตั้งอุปกรณ์การรับส่งสัญญาณด้วย Massive MIMO 64x64 ในพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่จะช่วยเพิ่มความเร็วอินเตอร์เน็ตในการรับส่งข้อมูลได้ 4-16 เท่า นอกจากนี้ ดีแทคจะเน้นที่การปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าทั้งการขาย การให้บริการที่โปร่งใส ตรงไปตรงมา เพื่อให้ลูกค้ามีความผูกพันกับแบรนด์ ซึ่งไม่เคยเห็นจากโอเปอเรเตอร์รายอื่น ดังนั้น ดีแทคจะดึงจุดนี้มาสร้างความแตกต่าง

ขณะที่ การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 เมะเฮิรตซ์ ที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะจัดขึ้นในปี 2562 นั้น ทางดีแทคเองยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเข้าร่วมการประมูลหรือไม่ ต้องรอดูเงื่อนไขในการประมูลก่อน อีกทั้งยังมีข้อเสนอแนะที่อยากให้ทางสำนักงาน กสทช. จัดทำโรดแมปการประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้าให้มีความชัดเจน เพื่อที่ภาคเอกชนจะได้สามารถวางแผนทางธุรกิจในระยะยาวได้

ส่วนทางด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เปิดเผยว่า สำหรับผลประกอบการของ CAT ในช่วง 11 เดือนที่ผ่านมานั้น บริษัทมีกำไรสุทธิ 13,675 ล้านบาท โดยมีรายได้ 58,713 ล้านบาท และค่าใช้จ่าย 45,038 ล้านบาท ขณะที่ ในปี 2562 นั้น ได้มีการกำหนดทิศทางของธุรกิจใหม่ โดยจะมุ่งเน้นไปในด้านดิจิตอล 3 กลุ่มด้วยกัน คือ สมาร์ทโซลูชัน-ไอโอที, บิ๊กดาต้า และความปลอดภัยระบบไอที ขณะที่ ธุรกิจด้านโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ต คาดว่าจะยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 2% ให้เติบโตได้ตามภาวะตลาดรวมของอุตสาหกรรม โดยในปีหน้าตั้งเป้ารายได้ไว้ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นรายได้จากโมบาย 55% หรือราว 2.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ อัตราส่วนของลูกค้าในปัจจุบันเป็นลูกค้าทั่วไปอยู่ที่ 75% และลูกค้าองค์กร 25% ซึ่งปีหน้าจะมีการชะลอการลงทุนและใช้สินทรัพย์ที่มีอยู่ก่อน

"ในเรื่องของ 5G นั้นถ้า ราคาคลื่นความถี่ยังเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของทาง กสทช. เราเองก็เข้าไม่ได้ 5G ควรเป็นอะไรที่ใช้ร่วมกัน ทั้งแคทและทีโอทีควรเป็นการแชริ่ง" พ.อ.สรรพชัย กล่าว

 

[caption id="attachment_362480" align="aligncenter" width="335"]  เพิ่มเพื่อน [/caption]

นอกจากนี้ ในปีที่ผ่านมานั้น แคทได้เร่งขับเคลื่อนธุรกิจด้านไอโอทีและสมาร์ทโซลูชัน อย่างบริการ "LoRa IoT by CAT" ซึ่งขณะนี้เปิดให้บริการแล้วใน 26 จังหวัด โดยคาดว่า ภายใน 5 ปี ภาพรวมตลาดไอโอทีจะโตถึง 3-5 เท่าของจำนวนโมบาย หรือกว่า 300 ล้านอุปกรณ์ ซึ่งในไทยคาดว่าจะมีผู้ใช้งานด้านไอโอทีในส่วนของภาครัฐถึง 80% พร้อมขยายโครงข่ายไฟเบอร์ออพติกและโครงข่ายไร้สาย 3G, 4G และ LoRaWAN โดยคาดว่าจะติดตั้งครบทุกจังหวัดทั่วประเทศในไตรมาส 2 ปี 2562 รวมถึงการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารภูเก็ต สมาร์ทซิตี และโครงการดิจิทัล พาร์คไทยแลนด์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่ได้ผ่านขั้นตอนจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชน (Public Hearing) และการรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน (Market Sounding) แล้วและเตรียมเปิดจำหน่ายเอกสาร TOR และกำหนดคัดเลือกเอกชนร่วมทุนได้ในต้นปีหน้า พร้อมเตรียมเปิด "CAT Big Data" แพลตฟอร์มในการจัดเก็บข้อมูลดิบจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อจัดระเบียบ วิเคราะห์ และนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์

อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าในการควบรวมกิจการระหว่าง CAT กับ TOT นั้น อยู่ระหว่างการหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางการควบรวมที่จะสามารถลดความซํ้าซ้อนในการลงทุน

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ | ฉบับ 3,428 ระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม 2561

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว